กระทรวงดิจิทัล สร้าง Identity Platform ยืนยันตัวตนผู้ประกอบการใหม่ในการทำธุรกิจ

งาน BIIA 2017 Biennial Conference นำโดย ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

การประชุม Biennial BIIA (Business Information Industry Association) Conference 2017 ภายใต้แนวคิด “Embracing Digitization” งานสำหรับผู้ปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมข้อมูลทางธุรกิจและเครดิต ตลอดจนผู้กำหนดนโยบายและผู้ร่างกฎหมาย ซึ่งแสวงหาข้อมูลและองค์ความรู้เชิงลึกเพื่อรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต ที่ข้อมูลข่าวสารมีการเคลื่อนไหวและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

Business Information Industry Association (BIIA) เป็นองค์กรที่รวบรวมผู้ให้บริการข้อมูลทางธุรกิจที่หลากหลายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจในการบริหารการเติบโต และลดความเสี่ยงในการดำเนินงาน ซึ่งนอกเหนือจากการเป็นเจ้าภาพจัดงานเพื่อสมาชิกในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องแล้ว BIIA ยังจัดงานประชุมหลักขององค์กรทุก 2 ปี เพื่อรวบรวมบรรดาผู้นำอุตสาหกรรมจากทั่วโลกมาร่วมพูดคุยถึงการพัฒนาวิทยาการล่าสุด รวมถึงการสร้างสรรค์โซลูชั่นและแนวคิดใหม่

ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกล่าวปฐกถากับในงาน พร้อมเผยว่า ทางกระทรวงกำลังพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง สำหรับใช้ในการยืนยันตัวตนเพื่อทำธุรกิจ หรือ Digital Identity Platform (ดิจิทัล ไอเดนทิตี้ แพลตฟอร์ม) โดยเป็นระบบยืนยันตัวตนสำหรับบุคคลที่จะเริ่มทำธุรกิจ เพื่อการรับรองตัวตนและลงทะเบียนสร้างความเชื่อถือในการทำธุรกิจ ทั้งมีการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อให้การทำธุรกรรมสามารถเบ็ดเสร็จได้ในจุดเดียว

ทั้งนี้ จะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของหน่วยงานของไทย ทำให้สามารถเชื่อมกับระบบของต่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการเขียนโปรแกรม โดยเน้นให้ระบบมีความปลอดภัยสูงสุด สามารถเชื่อมโยงกับระบบของหน่วยงานสำคัญๆ ในการยืนยันตัวตน อาทิ ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ฐานข้อมูลของสถาบันการเงิน และฐานข้อมูลเครดิต

ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ระบบนี้จะลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นในการยืนยันความมีตัวตน และความน่าเชื่อถือ ทำให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่สามารถทำธุรกรรมหรือติดต่อกับคู่ค้าจากต่างประเทศได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบและพัฒนาระบบที่คาดว่าจะออกแบบได้สมบูรณ์ภายในปลายปีนี้ เพื่อทำการนำร่องทดลองใช้งานเป็นเวลา 6 เดือนก่อนจะให้บริการจริงในช่วงกลางปี 2561

ระบบดังกล่าวได้มีข้อตกลงร่วมกันในการตั้งคณะกรรมการร่วม ประกอบด้วยตัวแทนจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , คณะกรรมการกำกกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ,ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ,สมาคมธนาคารไทย ,สำนักทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

นอกจากนี้ สาระสำคัญภายในงาน BIIA 2017 Biennial Conference แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว สามารถสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ และรู้ว่าใครจะเป็นผู้ใช้สิ่งเหล่านี้ ใช้อย่างไร และเพราะเหตุใด ด้วยความสามารถในการเก็บรวบรวม การประเมิน และการวัดผลข้อมูล ทำให้หลายบริษัทสามารถลดความเสี่ยงและเพิ่มผลกำไรในธุรกิจ

แนวโน้มการใช้งานข้อมูลยิ่งทวีความเข้มข้น โดยเฉพาะในภาคการเงินซึ่งมีผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ทอัพรุ่นใหม่หลายรายพยายามพัฒนาโซลูชั่นรูปแบบใหม่ เพื่อรองรับผู้บริโภคที่มีความต้องการเฉพาะด้านในตลาดทุกระดับ ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้บริโภคกลุ่มนี้เคยถูกละเลยความสำคัญไป

ดังนั้น การทำความเข้าใจต่อแนวโน้มใหม่ ๆ นับว่าเป็นการเห็นถึงการเปลี่ยนแปลง พร้อมวางแนวทางในอนาคตได้อย่างถูกจุด

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts