บทบาทของหุ่นยนต์ในปัจจุบันไม่ใช่แค่เพียงเครื่องจักรในโรงงาน หรือตัวละครอัจฉริยะในหนังอีกต่อไป แต่กลับเข้ามาใกล้ตัวและอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างใกล้ชิด ตัวอย่างที่หลายบ้านเริ่มใช้หุ่นยนต์ดูดฝุ่น การใช้หุ่นยนต์มาเป็นพริตตี้ที่สามารถโต้ตอบได้เสมือนจริง รวมไปถึงการที่มีหุ่นยนต์ได้รับสัญชาติตัวแรกของโลก ทำให้เทรนด์การเติบโตของหุ่นยนต์ยังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับการใช้งานรูปแบบใหม่ ในอนาคต
เมื่อพูดถึงการสร้างสรรค์และพัฒนาหุ่นยนต์ หลายคนอาจจะยังคิดภาพไม่ออกว่าแล้วใครที่เป็นคนผลิตเครื่องจักรเหล่านี้ วิศวกรไฟฟ้า เครื่องกล หรืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสาขาวิชาเหล่านี้อาจจะยังดูไม่ชัดเจนในการประกอบอาชีพด้านหุ่นยนต์ ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มเปิดหลักสูตรด้านการทำหุ่นยนต์โดยเฉพาะเพื่อผลิตบุคลากรป้อนเข้าสู่ตลาดการทำงานด้านนี้โดยตรง
เทรนด์พัฒนาหุ่นยนต์เติบโต ไทยยังมีโอกาสในตลาดด้านบริการ
โดยปกติเราจะคุ้นเคยกับหุ่นยนต์ (Robot) ที่เป็นเครื่องจักรใช้งานแทนมนุษย์ ถูกออกแบบให้มีการใช้งานได้หลากหลายหน้าที่ ใช้เคลื่อนย้ายวัสดุอุปกรณ์ ส่วนประกอบต่างๆ เครื่องมือหรืออุปกรณ์พิเศษ ตลอดจนการเคลื่อนที่ได้ สำหรับใช้ในงานหลากหลายประเภทอย่าง หุ่นยนต์ดูดฝุ่น หรือหุ่นยนต์พริตตี้
สำหรับวิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) คือศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ ทั้งส่วนการออกแบบ การผลิตและการประยุกต์ใช้งาน โดยวิทยาการหุ่นยนต์ต้องใช้ความรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์ การออกแบบเครื่องจักรกล การออกแบบระบบควบคุม การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อรองรับความต้องการใช้งานโดยจะมีตั้งแต่ระดับพื้นฐานการใช้งานทั่วไป จนถึงการสร้างการเรียนรู้ให้หุ่นยนต์ ด้วยการใช้งานเทคโนโลยี AI
ในอดีต วิทยาการหุ่นยนต์มีส่วนช่วยวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรม อย่างภายในโรงงานที่มีการใช้แรงงานซ้ำๆ หยิบของมาวางในพื้นที่ที่กำหนด รีดนมวัว หยิบจับของร้อน ก็มีหุ่นยนต์เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่เหล่านี้แทนมนุษย์ที่มีเงื่อนไขในการทำงานหลายรูปแบบ ซึ่งตลาดของอุตสาหกรรมก็เริ่มที่จะอยู่ตัวเพราะได้มีการใช้งานอย่างทั่วถึงแล้ว
สำหรับตอนนี้ แนวโน้มของการพัฒนาจะมุ่งไปด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น อย่างการสำรวจใต้น้ำที่ไม่ต้องให้คนลงไปเสี่ยงชีวิตอีกต่อไป ด้านการบริการอย่างร้านอาหาร หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่มีความแม่นยำ ซึ่งวิวัฒนาการเหล่านี้ก็จะช่วยอำนวยความสะดวก และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น
รศ.ดร.สยาม เจริญเสียง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่าช่วงที่ผ่านมาบริษัทใหญ่อย่างกูเกิลก็มีการลงทุนในบริษัทด้านหุ่นยนต์เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ ซึ่งแนวโน้มของหุ่นยนต์ด้านการให้บริการจะถูกผลิตและใช้งานเพิ่มขึ้น และมีโอกาสที่ตลาดจะมีมูลค่าถึง 20,000 ล้านดอลล่าร์ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
ด้วยนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ส่งผลให้เกิดความต้องการด้านหุ่นยนต์มากขึ้นในทุกวงการ อาทิ การแพทย์ อุตสาหกรรมบันเทิง งานด้านการบริการ ทำให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ถูกบรรจุเข้าใน ‘10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย: กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต’ ของภาครัฐบาล ซึ่งความต้องการเหล่านี้ทำให้ภาครัฐและเอกชนเข้ามาให้ความสนใจนำไปใช้ พร้อมเดินหน้าสนับสนุนวงการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการบริการกันอย่างคึกคัก รวมถึงมีความต้องการบุคลากรจำนวนมาก ทำให้ต้องมีพื้นที่ผลิตกำลังคนด้านวิทยาการหุ่นยนต์ อย่างสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามมาช่วยสร้างผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้
หุ่นยนต์ผู้ช่วยส่วนตัว ให้ชีวิตง่ายยิ่งขึ้น
พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนปัจจุบันไม่ได้อยู่เป็นครอบครัวใหญ่ ออกทำงานแต่เช้ากลับถึงบ้านก็ดึก ใช้เวลาอยู่กับบ้านค่อนข้างน้อย ในขณะที่ในบ้านก็มีผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่เพียงลำพัง และมีพฤติกรรมที่หลายแบบทั้งไม่ชอบให้คนมาดูแล ไม่ชอบเข้าสังคม แล้วเราจะดูแลผู้สูงอายุเหล่านี้ได้อย่างไร
จากการสำรวจพบว่าผู้สูงอายุมีการรับยา 4-5 ชนิดต่อคน ที่มาพร้อมปัจจัยหลายอย่าง บางโรคต้องกินต่อเนื่อง ยาบางตัวต้องกินหลังอาหาร หรือต้องหักก่อนกิน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น และผู้สูงอายุส่วนใหญ่ชอบคิดว่าตัวเองแข็งแรง ไม่กินยา ไปจนถึงบอกหมอว่ากินยาตลอด แต่การรักษาไม่ดีขึ้น ทำให้หมอต้องจ่ายยาที่แรงขึ้นอีกเพื่อทำการรักษา
ทั้งนี้ แม้ว่าเทรนด์ดิจิทัลอย่างหุ่นยนต์กำลังนิยม แต่หากเข้าไปบอกผู้สูงอายุว่าจะให้หุ่นยนต์มาช่วยดูแลเรื่องการกินยา ส่วนใหญ่ก็ยังคงกลัวกับการใช้งานสิ่งเหล่านี้ ทั้งภาพจำของหุ่นยนต์ ที่มีเหล็กเต็มไปหมด กับกล่องยาที่ดูจะไม่ค่อยถูกกันสักเท่าไหร่ ทำให้ยังคงเป็นเรื่องยาก ที่จะใช้หุ่นยนต์มาเป็นผู้ช่วยในการดูแล
3 นักศึกษาจากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พูนสิริ ใจลังการ์ เมธิณี แสงประดิษฐ์ และนิธิกร คำมูล จึงได้คิดค้นและออกแบบ Memobot หุ่นยนต์มีรูปลักษณ์เป็นมิตร เพื่อมาอยู่เป็นเพื่อนกับผู้สูงอายุ โดยมีลักษณะพิเศษคือเป็นเครื่องจ่ายยาตามเวลา ที่มีเสียงแจ้งเตือนไม่ให้ผู้สูงอายุลืมกินยาด้วย
และหากมีการพัฒนาต่อยอดหุ่นยนต์ที่มีความชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น ก็จะสามารถช่วยแจ้งเตือนพฤติกรรมการกินยา ไปยังหมอ และญาติ รวมถึงเก็บข้อมูลไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
เมื่ออุปกรณ์ต่างๆ เริ่มมีขนาดที่เล็กลง และราคาเข้าถึงได้ ในอนาคตคงไม่แปลกหากเราจะมีหุ่นยนต์ผู้ช่วยกันคนละตัว เพื่อยกระดับชีวิตให้ง่ายดายยิ่งขึ้น