การพัฒนาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ในปัจจุบันนั้น นอกจากจะเริ่มพัฒนาเข้าสู่โลกแห่งผู้ใช้งานทั่วไปมากขึ้นแล้ว ในทางการแพทย์ก็เริ่มมีความก้าวหน้าใหม่ๆ ออกมาให้เห็นเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การสร้างหุ่นยนต์ขนาดจิ๋วรุ่นล่าสุดที่มีขนาดเล็กมาก จนสามารถแทรกตัวลงไปทำงานในอวัยวะของมนุษย์ได้สำเร็จแล้ว
Origami คือชื่อของหุ่นยนต์ที่ได้รับการพัฒนาโดยนักวิจัยของสถาบัน University of Sheffield ร่วมมือกับสถาบัน Tokyo Institute of Technology โดยมีแนวคิดเบื้องต้นเป็นการสร้างหุ่นยนต์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างตัวเอง ด้วยการพับและคลี่ชิ้นส่วนให้มีขนาดที่เหมาะสมจะทำงานภายในร่างกายของมนุษย์ได้ โดยเจ้า Origami นี้ยังสามารถเคลื่อนที่บนพื้นผิวต่างๆ และสามารถว่ายน้ำได้อีกด้วย
สำหรับวัสดุที่ใช้ในการสร้างหุ่นยนต์ตัวนี้นั้น จะเป็นส่วนผสมระหว่างวัตถุดิบชีวภาพที่มาจากชิ้นส่วนของสัตว์อย่างลำไส้ของหมูและ Biolefin ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยผู้ป่วยจะต้องทำการกลืนหุ่นที่ถูกพับและบรรจุอยู่ในแคปซูลน้ำแข็งลงไปเพื่อคืนรูปให้ทำงาน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำให้การคงอยู่ของหุ่นยนต์นั้นไม่ทำอันตรายต่อร่างกายของมนุษย์
ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้เปิดเผยอีกด้วยว่า ตอนนี้หุ่นยนต์ Origami นั้นสามารถดำเนินการปิดบาดแผลในกระเพาะอาหารที่มีขนาดไม่ใหญ่มากได้สำเร็จแล้ว ซึ่งก้าวถัดไปก็คือ การปรับปรุงให้ตัวหุ่นสามารถใช้งานเพื่อเคลื่อนย้ายวัตถุบางอย่างที่ติดอยู่ในร่างกายให้ได้ รวมถึงพัฒนาให้ Origami สามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยแหล่งพลังงานของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาการกระตุ้นผ่านสนามแม่เหล็กจากภายนอกให้ได้