ยุคทองของสตาร์ทอัพไทยในสังคมผู้สูงวัย

Aging2.0 Bangkok Chapter

เครือข่ายนวัตกรรมระดับโลก Aging2.0 มีเป้าหมายในการเร่งการพัฒนานวัตกรรมเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของกลุ่มผู้สูงวัยทั่วโลก และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ขยายกิจกรรมโดยทีมงานอาสาสมัครในประเทศไทย ผ่านกิจกรรม Aging2.0 Bangkok Chapter เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อผู้สูงวัย ในประเทศไทย

พร้อมทั้งจัดจัดโครงการหาสตาร์ทอัพไทย Aging2.0 Global Startup Search เพื่อเป็นตัวแทนประกวดชิงเงินทุนบนเวทีโลก ในงาน Aging2.0 OPTIMIZE Conference ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในการเตรียมความพร้อมของไทยและในอีกหลายประเทศทั่วโลกที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้

โดยล่าสุดทีมงานอาสาสมัคร Aging2.0 Bangkok Chapter ได้จัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ “The Golden ERA Health Startups in Thailand’s Aging Society” หรือ ยุคทองของสตาร์ทอัพไทยในสังคมผู้สูงวัย Aging2.0 Bangkok Chapter เพื่อพูดคุยและแบ่งปันประสบการณ์ รวมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจสตาร์ทอัพเพื่อกลุ่มผู้สูงวัยอีกด้วย

Helth Tech นวัตกรรมสำคัญ แต่ยังมีน้อยในไทย

เรืองโรจน์ พูนผล ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ร่วมบริหารกองทุน 500 TukTuks

เรืองโรจน์ พูนผล ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ร่วมบริหารกองทุน 500 TukTuks กล่าวว่า กองทุนมองหา Startups เพื่อลงทุนในหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น E-commerce, Fin-Tech, Property Tech, Education รวมถึง Health Tech แต่ปรากฏว่ามี Startups จาก Health Tech มาขอเงินลงทุนจากกองทุนน้อยที่สุด ทั้ง ๆ ที่ตลาดนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตได้ค่อนข้างดีมาก และมีคนยอมจ่ายเงินเพื่อสุขภาพของตนเองและของคนที่เป็นที่รัก ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ และคนในครอบครัว

“การลงทุนในสตาร์ทอัพกลุ่มการศึกษา และ Healthcare เป็นความชื่นชอบส่วนตัวของผม มาร่วมเสวนาวันนี้ เพื่อมาหาสตาร์ทอัพด้าน Healthcare เพราะเชื่อว่าเป็นธุรกิจที่จะเปลี่ยนชีวิตคนเป็น 10 ล้านคน เราลงทุนใน Health at Home ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพไทยให้บริการส่งเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยไปดูแลคนป่วยที่บ้าน แต่เราก็ยังมองหาสตาร์ทอัพด้านนี้อยู่ พร้อมเตรียมเงินลงทุนไว้ 100 ล้านบาท เพื่อลงทุนในรอบ Seed ด้าน Health Tech” เรืองโรจน์กล่าว

เรื่องโรจน์ ย้ำว่า ความสำเร็จของ Health Tech Startup จะต้องมีส่วนผสมของ Health ซึ่งคือคุณหมอ และ Tech หรือคนที่มีความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในธุรกิจ ทั้งนี้ หลักการในการเลือกลงทุนในธุรกิจประเภทนี้ จะต้องเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงน้อยเกี่ยวกับกฎหมายหรือข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีผู้ก่อตั้งที่มีความรู้และให้เวลากับธุรกิจเต็มเวลา มีข้อจำกัดน้อยในการทดลอง (Low barrier for trials) มี strategic partner หรือ strategic investor และมีการระดมทุนอย่างเพียงพอ พร้อมเน้นว่าการทำสตาร์ทอัพด้าน Heathcare ต้องทำทัน หรืออย่างช้าภายในปี 2561

ปัญหาสุขภาพเป็นเรื่องใหญ่ สตาร์ทอัพช่วยลดช่องว่างได้

ปัจจุบันประชากรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งปัญหาทางด้านสุขภาพ รวมทั้งหลักการทางสาธารณสุข โดยในประเทศที่พัฒนาแล้ว จำนวนเตียงต่อ 10,000 คน จะอยู่ที่ 90 เตียง ขณะที่ประเทศไทยยังมีเพียง 2 เตียงเท่านั้น รวมไปถึงจำนวนหมอที่สามารถดูแลคนไข้ได้ทั่วถึงตัวเลขอยู่ที่ 1 คน ต่อคนไข้ 1,000 คน ประเทศไทยมีเพียง 0.4 ซึ่งหากมองภาพอนาคตที่จำนวนคนไข้จะยิ่งพุ่งสูงขึ้น ประเทศไทยอาจต้องอยู่ในจุดย่ำแย่ แต่ในทางกลับกันก็เป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนหรือสตาร์ทอัพ ที่ต้องการเข้ามาทำตลาด Healthcare เช่นกัน

นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ Co-Founder รักดี

นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ Co-Founder รักดี ซึ่งเป็นผู้ให้บริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโครงการ healthcare เปิดเผยถึงโอกาสของธุรกิจด้านสุขภาพในประเทศไทยว่า มีโอกาสในการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ 5 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสังคมผู้สูงอายุ, ธุรกิจด้าน Healthcare logistics ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่การขนส่งสินค้า แต่รวมถึงการขนส่งทั้ง soft file และ hard file โดยควรผลักดันให้มี National Healthcare Information, ธุรกิจด้าน Digital healthcare, ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Healthcare เช่น การท่องเที่ยว อาหาร การเกษตร รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, และธุรกิจเกี่ยวกับ Wellness & Preventive measure ซี่งรวมถึง Wellness tourism, Beauty & Anti-Aging, สปา เป็นต้น

พญ.พิรญาณ์ ธำรงธีรกุล Co-Founder ChiiWii LIVE

พญ.พิรญาณ์ ธำรงธีรกุล Co-Founder ChiiWii LIVE ช่องทางใหม่ในการปรึกษาปัญหาสุขภาพกับแพทย์แบบเรียลไทม์ ผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน กล่าวถึงที่มาของบริการที่เริ่มจากการทำ https://www.facebook.com/chiiwiidoctor/ ในรูปแบบของ Social Enterprise เป็นการให้บริการถามตอบฟรีจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ทั้งนี้ จะมีแอดมินเป็นผู้คัดกรองกรณีเป็นอาการที่ร้ายแรง เพื่อแนะนำให้ไปพบแพทย์ กรองคำถามว่าควรถามแพทย์ด้านใด และอีเมล์แจ้งผู้ที่ขอคำปรึกษา นอกจากนี้ ยังมีการเขียนบทความจากแพทย์ และสร้างคอมมูนิตี้ของผู้ป่วยที่เป็นโรคคล้าย ๆ กัน ให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์

 

“หลังจากทำเว็บไซต์ เราพบว่าการให้คำปรึกษาจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้ หากได้มีการพูดคุยซักถามเพิ่มเติมแบบ two-way communication เป็นที่มาของ Chiiwii LIVE application ที่ทำให้คนไข้สามารถทำการนัดหมายเพื่อปรึกษากับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญได้อย่างสะดวกสบายบนสมาร์ตโฟน แบบเรียลไทม์ โดยจะเน้นให้คำปรึกษาในเรื่องที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพสำหรับผู้หญิง ทั้งในด้านความสวยความงาม การดูแลผิวพรรณ โรคผิวหนัง ปัญหาเรื่องเพศ ที่ผู้หญิงมักจะอายไม่กล้าถาม หรือในด้านการวางแผนครอบครัว รวมไปถึงการเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์ การดูแลตัวเองระหว่างการตั้งครรภ์ และการเลี้ยงลูกสำหรับคุณแม่มือใหม่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เหมาะกับการปรึกษาออนไลน์เบื้องต้น โดยเราหวังว่า Chiiwii LIVE application นี้จะช่วยทำให้การเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพที่ถูกต้องเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” พญ.พิรญาณ์ กล่าว

รสลิน นีรนาทโกมล Ambassador ของ Aging 2.0  กล่าวปิดท้ายการเสวนาถึงแผนในการค้นหาตัวแทนจากประเทศไทยขึ้นประกวดชิงเงินทุนบนเวทีโลก ในงาน Aging2.0 OPTIMIZE Conference ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ว่าจะเริ่มเปิดรับสมัคร Startup ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 1 มีนาคม 2561

นอกจากนี้กิจกรรมโดยทีมงานอาสาสมัคร Aging2.0 Bangkok Chapter ในประเทศไทยจะมีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อผู้สูงวัยในประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นประจำทุก ๆ ไตรมาส พร้อมเฟ้นหาสตาร์ทอัพไทยไปแสดงศักยภาพบนเวทีระดับโลกอย่าง Aging2.0 Global Startup Search นับเป็นการสนับสนุนให้ Ecosystem ด้าน Healthcare ที่ดีพร้อมสำหรับผู้สูงวัยในประเทศ ซึ่งไทยกำลังเข้าสู่ยุคสูงวัยแบบสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts