
รถอัจฉริยะของกูเกิล จะมีมนุษย์นั่งไปด้วยเพื่อเข้ามาควบคุมรถแทนในสถานการณ์ที่รถอัจฉริยะยังทำเองไม่ได้
ในบทความที่แล้วผมได้นำเสนอประเด็นเรื่องรูปแบบการจราจร และการใช้รถอัจฉริยะร่วมกับระบบขนส่งมวลชนไปแล้ว บทความนี้ ผมจะนำเสนอเรื่องของรถอัจฉริยะต่อในอีกมุมหนึ่ง นั่นคือ การเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ผู้ขับขี่มักจะไม่ค่อยคิดถึง แต่ก็เป็นเรื่องปกติในการใช้รถใช้ถนน คำถามสำคัญก็คือ รถอัจฉริยะที่ควบคุมโดยคอมพิวเตอร์นั้น จะทำให้ไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เลยหรือไม่ ถ้าทำได้นั่นหมายถึงโลกสมบูรณ์ แต่ถ้าทำไม่ได้จะมีวิธีการตัดสินความผิดของคอมพิวเตอร์ได้อย่างไร
การทดลองขับที่สมบูรณ์แบบ
รถอัจฉริยะที่มีการทดสอบการขับขี่โดยคอมพิวเตอร์มาอย่างต่อเนื่องและเป็นที่รู้จักดีที่สุดก็คือ Google Car ที่พัฒนาโดยกูเกิล (ปัจจุบันกูเกิลแยกบริษัทที่ทำรถอัจฉริยะออกมาเป็นอีกบริษัทโดยใช้ชื่อ Waymo) จนถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2015 นั้นทางกูเกิลได้ทดสอบรถขับขี่เองนี้มาเป็นเวลา 6 ปี มีระยะทางทดสอบการควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์รวมหนึ่งล้านไมล์ (กูเกิลมีรถทดสอบประมาณ 20 คันนะครับ ไม่ใช่ว่าคันเดียววิ่งหนึ่งล้านไมล์) จากการทดลอง 6 ปีนี้ เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับรถอัจฉริยะทั้งหมด 11 ครั้ง แต่ที่สำคัญคือ อุบัติเหตุทั้งหมดไม่ได้เกิดจากรถอัจฉริยะเลย แต่เป็นความผิดพลาดของมนุษย์ในรถคันอื่น1 นั่นคือ มีคนอื่นขับมาชนท้ายรถอัจฉริยะ 8 ครั้ง ชนข้าง 2 ครั้ง และมีรถที่มนุษย์ขับฝ่าไฟแดงมาชนรถอัจฉริยะอีก 1 ครั้ง จากสถิตินี้จะเห็นว่ารถอัจฉริยะทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบโดยไม่เคยเป็นผู้กระทำผิดเลยในอุบัติเหตุทั้งหมดที่เกิดขึ้น
ความผิดครั้งแรก
ถ้ารถอัจฉริยะทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ทำไมกูเกิล ถึงยังไม่นำออกขายและใช้งานล่ะ นั่นก็เป็นเพราะการทดลองนั้นทำในสภาพแวดล้อมที่คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอับดับแรกครับ นั่นคือ การทดลองจะทำในสภาพอากาศที่ท้องฟ้าแจ่มใสเท่านั้น และรถอัจฉริยะจะขับเคลื่อนด้วยความเร็วไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงด้วย (รถของกูเกิล เคยโดนตำรวจเรียกปรับเพราะขับขี่ถ้าเกินไปจนขัดขวางการจราจร)2 ซึ่งไม่ใช่สภาพจริงในการใช้รถแน่นอน นอกจากนี้ รถอัจฉริยะของกูเกิล จะมีมนุษย์นั่งไปด้วยเพื่อเข้ามาควบคุมรถแทนในสถานการณ์ที่รถอัจฉริยะยังทำเองไม่ได้ หรือมนุษย์เกิดความไม่มั่นใจตอนนั้น เช่น การโดนตำรวจเรียก เมื่อเจอสิ่งที่ระบบไม่มีข้อมูล อย่างไฟจราจรชั่วคราว หรือข้อมูลจากเซ็นเซอร์สองตัวขึ้นไปไม่สอดคล้องกัน เป็นต้น
อีกประเด็นคือ กูเกิล ยึดหลักช้าแต่ชัวร์ นั่นคือเมื่อรถอัจฉริยะเจอสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนนั้น รถจะชะลอความเร็วจนแทบหยุดเพื่อประมวลผลและทำการตัดสินใจ มีเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความระมัดระวังของรถกูเกิลนี้คือ รถกูเกิล มาถึงสี่แยกก่อนนักขับจักรยานจึงมีสิทธิ์ที่จะได้ไปก่อน ซึ่งทั้งรถและนักขับจักรยานก็รู้นะครับ นักจักรยานก็หยุดให้รถกูเกิลไปก่อน แต่ใช้วิธีหยุดที่เรียกว่า Track Stand ซึ่งเป็นการหยุดโดยไม่เอาขาลงพื้น (นั่นคือหยุดในท่าขับขี่และใช้วิธีรักษาสมดุลร่างกายไม่ให้จักรยานล้ม ท่านผู้อ่านลองหาวิดีโอใน YouTube ดูได้ครับ) ปรากฏว่า รถอัจฉริยะเกิดความงุนงงต้องหยุดคิดสักพัก พอรถจะไปต่อทางนักจักรยานก็เผอิญขยับจักรยานนิดหนึ่งพอดีเพื่อรักษาสมดุล ทำให้รถหยุดชะงักอีก เป็นอย่างนี้อยู่ประมาณ 2 นาที3
มนุษย์ผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างเราทราบกันดีว่า การขับรถนั้นบางครั้งก็ต้องมีความกล้านิดหนึ่งในจังหวะที่คลุมเครือว่าใครจะไปใครจะหยุด ซึ่งประเด็นนี้ผมกล่าวถึงในบทความที่แล้วว่า เป็นเพราะมนุษย์เราไม่สามารถสื่อสารกับผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นได้อย่างชัดเจน คอมพิวเตอร์สามารถสื่อสารกันเองได้ก็จะลดความไม่แน่นอนตรงนี้ลง ดังนั้นจังหวะไม่แน่ใจนั้นจะเกิดระหว่างมนุษย์กับมนุษย์หรือมนุษย์กับคอมพิวเตอร์เท่านั้น ถ้าต้องการให้การใช้รถใช้ถนนมีความปลอดภัยสูงสุดก็ต้องจำกัดการใช้ถนนให้รถอัจฉริยะเท่านั้น แต่เนื่องจากการจำกัดให้รถอัจฉริยะใช้ถนนเท่านั้นคงเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบาก ดังนั้นรถอัจฉริยะในตอนแรกก็คงยังต้องใช้ถนนร่วมกับมนุษย์ไปก่อน แต่ถ้ารถอัจฉริยะยึดถือความปลอดภัยสูงสุดก็อาจเกิดสถานการณ์ที่รถหยุดชะงักตามตัวอย่างข้างบนบ่อยๆ เช่นกัน ทางกูเกิล จึงตัดสินใจเพิ่มความห้าวหาญ (Aggressiveness) ให้รถอัจฉริยะเพื่อแก้ปัญหานี้
ผลของการเพิ่มความห้าวหาญให้รถอัจฉริยะก็คือ
อุบัติเหตุครั้งแรกที่รถอัจฉริยะมีส่วนในความผิด อุบัติเหตุนี้เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2016 เหตุการณ์คือ รถกูเกิลอยู่เลนในสุดกำลังหยุดรอสัญญาณไฟ แต่ในเลนนั้นมีสิ่งกีดขวางข้างหน้า (ซึ่งเป็นถุงทราย) พอไฟเขียวรถกูเกิลก็เบี่ยงออกซ้ายเพื่อหลบถุงทราย แต่ไปชนกับรถเมล์ที่มาจากข้างหลัง รถกูเกิลเห็นรถเมล์จากเซ็นเซอร์นะครับ แต่ระบบคาดว่ารถเมล์จะให้ทางจึงออกตัวมา4
แสดงให้เห็นว่า ระบบของกูเกิล ก็วิเคราะห์สถานการณ์ผิดได้ และที่สำคัญคือ เมื่อตั้งค่าให้รถอัจฉริยะกล้าเสี่ยงกล้าทำมากขึ้นก็ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้
ประกันอุบัติเหตุกับรถอัจฉริยะ
โดยปกติแล้ว เมื่อเกิดอุบัติเหตุระหว่างรถที่ใช้คนขับก็จะมีกระบวนการหาสาเหตุและตัดสินว่าผู้ใดผิดหรืออาจเป็นความผิดร่วมก็ได้ เมื่อได้ผู้ผิดแล้วก็จะมีการจ่ายเงินทดแทนทั้งในส่วนของความเสียหายและความยุ่งยากอื่นให้กับผู้ไม่ผิด ประกันอุบัติภัยรถยนต์ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้ใช้รถใช้ถนนใช้เพื่อช่วยจ่ายในกรณีที่ตนเป็นฝ่ายผิด แต่สำหรับรถอัจฉริยะที่ไม่มีคนขับกระบวนการนี้จะเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง
ในส่วนการหาสาเหตุนั้น น่าจะทำได้ง่ายยิ่งขึ้นสำหรับรถอัจฉริยะครับ เพราะมีการบันทึกข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์ต่างๆ ไว้ครบถ้วน รวมไปถึงการคิดตัดสินใจของระบบอัตโนมัติด้วยว่าคิดอะไรทำอะไรไปบ้าง เป็นข้อมูลที่แท้จริงไม่ปรับเปลี่ยนตามความไม่แน่นอนของมนุษย์ เช่น เมื่อเดือนธันวาคมปี 2016 นักแสดงชาวเกาหลีใต้ได้ฟ้องเทสลาผู้ผลิตรถอัจฉริยะ (แต่ยังต้องมีคนขับ) อีกเจ้าหนึ่งว่า รถเทสลา เร่งตัวเองกะทันหัน โดยคนขับไม่ได้ตั้งใจและเข้าชนบ้านของนักแสดงคนนั้น ทางเทสลา ได้รับข้อมูลจากเซ็นเซอร์และระบบการควบคุมรถและพบว่า มีการเหยียบคันเร่งจนมิดถึง 100%5 อีกกรณีก็คือ อุบัติเหตุที่รถเทสลาภายใต้การควบคุมอัตโนมัติระดับ 2 (โปรดอ่านบทความเก่าเรื่อง ”ระบบอัตโนมัติสำหรับช่วยในขับขี่รถยนต์” ว่าระดับ 2 หมายถึงอะไร) พุ่งชนรถเทรลเลอร์ ทางเทสลาก็สามารถเก็บข้อมูลอย่างละเอียดจนรู้ถึงสาเหตุความผิดพลาด
สำหรับเรื่องการหาผู้ผิดและจ่ายเงินชดเชยนั้น เนื่องจากรถอัจฉริยะขับขี่อัตโนมัติโดยระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้นผู้ที่ผิดก็ควรเป็นระบบคอมพิวเตอร์ แต่คำถามคือ ใครจะเป็นคนจ่ายค่าชดเชย จะมีประกันภัยอุบัติเหตุหรือไม่ ในเมื่อมนุษย์ไม่ได้เป็นผู้ขับขี่รถอีกแล้ว เรื่องนี้มีความเป็นไปได้หลายทางครับ เช่น
ตามที่กล่าวไปว่าการตั้งค่าระบบให้กล้าเสี่ยงมากขึ้นจะทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นอาจเป็นได้ว่า ระบบรถอัตโนมัติจะให้ผู้ใช้ตั้งค่าความเสี่ยงในการขับขี่ของรถแต่ละคันได้เอง รถที่กล้าเสี่ยงก็อาจจะมีความคล่องตัวเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุรถที่ห้าวหาญกว่าก็จะเป็นฝ่ายผิด ผู้ใช้รถถึงแม้จะไม่ได้ขับเองแต่ก็สามารถซื้อประกันความเสี่ยงที่ตนเองเลือกตั้งให้รถยนต์ได้ โดยบริษัทประกันจะสามารถเรียกดูข้อมูลความห้าวหาญนี้จากรถยนต์ของเราได้เพื่อคำนวณเบี้ยประกัน
อีกวิธีคือ ผู้ผลิตรถยนต์ทำประกันกลุ่มรถยนต์ทั้งหมดแทนที่จะให้ผู้ใช้รถแยกทำประกันแต่ละคัน เนื่องจากรถทุกคันจากผู้ผลิตนี้จะมีพฤติกรรมที่เหมือนๆ กันอยู่แล้ว (โดยไม่ให้ผู้ใช้ตั้งค่าความเสี่ยงเอง) ดังนั้นผู้ใช้รถจึงไม่เป็นประเด็นที่จะต้องนำมาพิจารณาเมื่อคำนวณเบี้ยประกัน ค่าใช้จ่ายประกันภัยนี้ก็คงเป็นส่วนหนึ่งของราคารถและเป็นอีกประเด็นที่ผู้ซื้อรถต้องพิจารณา
ผู้ผลิตรถยนต์เป็นผู้จ่ายค่าเสียหายให้ทั้งหมดที่รถของตนเองเป็นผู้ผิดเมื่อเกิดอุบัติเหตุ คือผู้ผลิตเป็นผู้รับประกันเองและอาจเป็นส่วนหนึ่งของการประกันสินค้าตามปกติด้วย นี่เป็นวิธีที่เทสลากำลังนำมาใช้ในปัจจุบัน นั่นคือไม่ว่าชิ้นส่วนไหนจะเสียหายหรือรถจะวิ่งไปชนอะไร ทางเทสลาก็ประกันให้ทั้งหมด6
สรุป
รถอัจฉริยะที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์นั้น สามารถลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลงไปได้ แต่คงไม่สามารถกำจัดอุบัติเหตุทางรถยนต์ไปได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้รถใช้ถนนร่วมกับรถที่มีคนขับอยู่ เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วการค้นหาสาเหตุนั้นจะทำได้อย่างง่ายดาย เพราะมีการเก็บข้อมูลจากเซ็นเซอร์และการตัดสินใจของรถไว้อยู่แล้ว ส่วนการจ่ายค่าชดเชยนั้นอาจกลายเป็นการประกันสินค้าตามปกติแทนก็ได้
โดยเฉพาะถ้าผู้ผลิตรถยนต์เชื่อมั่นในความสามารถตัดสินใจของรถของตนเอง และอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่ต่ำลง ในอนาคตอาจไม่มีการขายประกันรถยนต์อีกต่อไปเมื่อรถทุกคันกลายเป็นรถอัจฉริยะ
บรรณานุกรม |
1. Chris Urmson, “The View from the Front Seat of the Google Self-Driving Car”, Backchannel, May 11, 2015. Retrieved from https://backchannel.com |
2. Alexander Smith and Shelby Hansen, “Google Self-Driving Car Gets Pulled Over – For Going Too Slowly”, NBCNews, November 13, 2015. Retrieved from www.nbcnews.com |
3. Matt McFarland, “How fixed-gear bikes can confuse Google’s self-driving cars”, The Washington Post, August 26, 2015, Retrieved from www.washingtonpost.com |
4. Mark Bergen, “Google’s Self-Driving Car Hit Another Vehicle for the First Time”, Recode, February 29, 2016. Retrieved from www.recode.net |
5. “Tesla owner files lawsuit in California claiming sudden acceleration”, Reuters, Dec 30, 2016. Retrieved from www.reuters.com |
6. Fred Lambert, “Tesla enters car insurance business as self-driving cars prepare to disrupt the industry”, electrek, August 30, 2016. Retrieved from https://electrek.co |
Contributor
ดร.เสฎฐวิทย์ เกิดผล
จบการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเซาท์เธิร์นแคลิฟอร์เนียในปี 2548 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกเหนือจากการสอนแล้ว ยังได้ร่วมมือกับภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจสร้างและออกแบบระบบสารสนเทศ จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการใช้งานโปรแกรมรหัสเปิด (Open Source Software) โดยเน้นที่โปรแกรมระบบสำหรับบริษัทและธุรกิจเป็นหลัก
Twitter: twitter.com/Sethavidh
Website: Sethavidh@gmail.com