รถอัจฉริยะกับสังคมในอนาคต

future-smart-car

แท็กซี่ไร้คนขับ ที่มารับ-ส่งผู้โดยสารตามคำร้องขอผ่านแอพพลิเคชั่น

รถอัจฉริยะหรือรถขับขี่อัตโนมัติ (Self-Driving Car) เป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจและผลักดันจากหลายฝ่าย ทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี การมาถึงของรถอัจฉริยะนั้นอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ไม่เพียงแค่ความสะดวกสบายในการใช้รถใช้ถนนของผู้ขับขี่เท่านั้น แต่อาจมีผลกระทบถึงนโยบายสาธารณะด้านการขนส่งมวลชนและการวางผังเมืองด้วย นอกจากนี้การมีรถอัจฉริยะที่ผู้ขับขี่ไม่ต้องขับเองนั้นอาจทำให้แนวคิดเรื่องการครอบครองรถเปลี่ยนไปด้วย

ลักษณะการใช้รถใช้ถนนที่จะเปลี่ยนไป
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการขับขี่ยานพาหนะคือ การสื่อสารความตั้งใจของผู้ขับให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น เช่น การเปลี่ยนเลนหรือการให้หรือไม่ให้ทาง แต่การสื่อสารนี้ก็ยังมีความคลุมเครือและขาดประสิทธิภาพถึงแม้ผู้ขับขี่จะปฏิบัติตามกฎการจราจรและคำนึงถึงผู้ใช้รถคนอื่นอย่างเต็มความสามารถแล้วก็ตาม ตัวอย่างง่ายๆ ที่ทำให้เห็นภาพก็เช่นขณะที่รถติดสัญญาณจราจรอยู่นั้น เมื่อสัญญาณเปลี่ยนเป็นสีเขียวแล้ว รถทุกคันก็ไม่สามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ทันที ต้องรอให้รถคันข้างหน้าออกตัวก่อนคันหลัง ถึงจะขับตามกันไปได้

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อมีการชะลอความเร็วที่จุดหนึ่งบนถนน ไม่ว่าจะด้วยเพราะมีรถเข้ามาแทรกหรือเข้าทางโค้ง จะพบว่าการชะลอรถนี้จะกระจายไปยังรถที่ตามมาด้านหลังเป็นลูกคลื่น รถคันหลังจะชะลอมากกว่ารถคันหน้าไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าเหตุที่ทำให้รถชะลอในตอนแรกนั้นจะหมดไปแล้วก็ตาม เมื่อรถคันหลังมาถึงจุดเกิดเหตุตอนแรกก็จะไม่พบสาเหตุใดเลยที่จะต้องชะลอ

เหตุการณ์ทั้งสองตัวอย่างนั้นเกิดขึ้นเพราะมนุษย์ ผู้ขับขี่รถยนต์นั้นไม่สามารถสื่อสารกันได้อย่างชัดเจนว่าจะต้องชะลอลงด้วยความเร็วเท่าใด หรือจะขับเคลื่อนด้วยความเร็วเท่าใด แต่ถ้าเป็นรถอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนเองได้นั้นปัญหานี้จะหมดไป เพราะรถแต่ละคันจะใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับที่แม่นยำและรู้ระยะที่แน่ชัดระหว่างรถ นอกจากนี้ รถในอนาคตอาจจะสามารถติดต่อสื่อสารกันเองได้ผ่านเครือข่ายไร้สายแบบเฉพาะกิจ (Ad-hoc Wireless Network) ที่เชื่อมต่อรถที่อยู่ใกล้ๆ กันเข้าด้วยกันได้ ทำให้ไม่มีความคลุมเครือในการสื่อสารระหว่างรถ เช่นในตัวอย่างการชะลอรถที่กล่าวมานั้น เมื่อรถอัจฉริยะคันแรกชะลอตัวเองลง รถคันที่ตามมาจะทราบอย่างชัดเจนว่ารถคันแรกชะลอความเร็วลงเท่าไร เหลือระยะห่างระหว่างรถเท่าไรและจะมีเวลากี่วินาทีก่อนที่จะชน รถคันที่สองจะสามารถชะลอความเร็วลงให้เท่ากับรถคันแรกได้โดยไม่ช้ากว่าคันแรก ทำให้รถทุกคันที่ตามมาไม่ลดความเร็วลงมากเกินความจำเป็น และเมื่ออุปสรรคผ่านพ้นไปแล้ว รถคันต่อๆ ไปที่ตามมาก็ไม่จำเป็นต้องชะลออีก เนื่องจากรถที่ไปถึงจุดเกิดเหตุสามารถส่งข้อมูลกลับมาแจ้งรถคันที่ตามมาได้ หรือในตัวอย่างสัญญาณไฟจราจรนั้น รถทุกคันก็สามารถออกตัวได้พร้อมกันอย่างมั่นใจว่าจะไม่ชนกับคันข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการใช้ถนนนั้นเพิ่มสูงขึ้นมาก ลดเวลาที่ใช้ในการรีรอดูกันให้น้อยลง

การเลี้ยวหรือเปลี่ยนเลนก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้ขับขี่อาจเข้าใจผิดได้ว่ารถอีกคันนั้นให้ทางหรือไม่ หรือมีเวลามากพอที่จะเลี้ยวพ้นหรือไม่ เนื่องจากมนุษย์อาจกะระยะและความเร็วของรถคันอื่นผิดพลาด หรือเกิดความสับสนในพฤติกรรมของรถคันอื่น รถอัจฉริยะที่มีเซ็นเซอร์และส่งข้อความแลกเปลี่ยนกับรถคันอื่นได้ก็จะลดความไม่ชัดเจนนี้ลงได้ นอกจากนั้นการหยุดรอสัญญาณไฟอาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไปก็ได้ถ้ารถอัจฉริยะติดต่อสื่อสารกันเอง และตัดสินใจร่วมกันถึงจังหวะเวลาในการเลี้ยว โดยสามารถแทรกการเลี้ยวไปตามช่องว่างระหว่างรถทางตรง หรือตามจังหวะที่ไม่มีรถทางตรงได้โดยไม่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจะส่งผลให้รถแต่ละคันใช้เวลาที่ทางแยกลดลง ใช้เบรกน้อยลง ลดมลภาวะที่จะสะสมตรงบริเวณทางแยกด้วย

future-smart-car

รูปแบบของการขับขี่รถอัจฉริยะระบบคอนวอย (Convoy) หรือพลาทูน
(Platoon)

อีกรูปแบบหนึ่งของการขับขี่รถอัจฉริยะก็คือ ระบบคอนวอย (Convoy) หรือพลาทูน (Platoon) ซึ่งเป็นการจัดการวิ่งของรถอัจฉริยะเป็นแถวยาว โดยรถทุกคันขับด้วยความเร็วและทิศทางตามที่รถคันหน้าสุดกำหนด จะเปลี่ยนเลนหรือเปลี่ยนความเร็วก็ทำพร้อมกัน รถที่พ่วงกันด้วยระบบอัจฉริยะนี้ก็เหมือนรถไฟนั่นเอง และมีความเหมาะสมต่อการเดินทางระยะไกล ระบบนี้อาจมาถึงเร็วกว่าที่คิด เพราะรถนั้นไม่จำเป็นต้องขับอัตโนมัติได้ด้วยตัวเองก็ได้ เพียงแค่รับคำสั่งการขับขี่จากรถคันหน้าได้ก็พอ โดยรถคันหน้าสุดอาจไม่ใช่รถอัจฉริยะ แต่ใช้ผู้ขับขี่ที่ชำนาญเส้นทางและมีความสามารถในการขับขี่ที่ปลอดภัยเท่านั้น ปัจจุบันระบบนี้มีการทดสอบใช้งานจริงแล้ว โดยกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตรถบรรทุกในยุโรปได้ทดลองระบบนี้กับรถบรรทุกประมาณสิบกว่าคัน จัดเป็น 6 พลาทูน เดินทางจากประเทศต่างๆ เช่น เยอรมัน สวีเดน เพื่อไปยังเมืองรอตเทอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทางผู้ผลิตคาดว่าเทคโนโลยีนี้จะพร้อมใช้งานในปี 2020 แต่อาจจะใช้เวลามากกว่านั้นในการร่างกฎหมายข้อกำหนดต่างๆ ให้เอื้อมากกว่าปัจจุบัน

digital-age-magazine-220-april

ฉบับที่ 220 เดือนเมษายน

จับตลาดในยุคโมบายล์เฟิร์ส

 

ผลกระทบต่อผังเมืองและการครอบครองรถยนต์
จากตัวอย่างที่กล่าวมาแล้วนั้นจะเห็นว่า รถอัจฉริยะจะทำงานได้ดีที่สุดเมื่อรถคันอื่นก็เป็นรถอัจฉริยะเช่นกัน เช่น การข้ามทางแยกที่ไม่มีสัญญาณจราจรนั้นเหมาะสมกับระบบที่รถทุกคันเป็นรถอัจฉริยะ เพราะมนุษย์คงจะขับขี่แทรกรถของตนระหว่างรถอัจฉริยะคันอื่นลำบาก บางระบบ เช่น คอนวอยนั้นอาจยืดหยุ่นให้มีรถธรรมดาปะปนในท้องถนนด้วยได้ แต่ประสิทธิภาพในการใช้ถนนก็ย่อมที่จะลดลง ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่เมืองในอนาคตจะกำหนดโซนให้รถทุกคันที่ขับเข้ามาในโซนนั้นต้องเป็นรถอัจฉริยะเท่านั้น โดยอาจจะเริ่มจากตัวเมืองชั้นในที่การจราจรติดขัดที่สุดก่อน แล้วค่อยขยายวงออกไปเรื่อยๆ หรือเริ่มจากบริเวณที่จำกัด เช่น ภายในมหาวิทยาลัยหรือสนามบิน หรือกำหนดเวลาวิ่งก็ได้ ปัจจุบันบริษัท นิวออโตโนมี ได้เริ่มทำการทดสอบแท็กซี่อัตโนมัติในเขตเมืองชั้นในของสิงคโปร์แล้ว (แต่ยังมีมนุษย์คอยสอดส่องดูแลอยู่)

รถขับขี่อัตโนมัติได้โดยไม่มีคนขับก็สามารถขับขี่ได้เอง ถึงแม้จะไม่มีใครอยู่ในรถเลยได้เช่นกัน นั่นหมายความว่าผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถเรียกบริการรับ-ส่งผ่านสมาร์ทโฟน หรือระบบคอมพิวเตอร์อื่นๆ เพื่อให้รถอัจฉริยะมารับและไปส่งได้โดยไม่ต้องใช้รถของตัวเอง

บริการแรกๆ ที่จะใช้รถอัจฉริยะก็คือ แท็กซี่ไร้คนขับ ที่มารับ-ส่งผู้โดยสารตามคำร้องขอผ่านแอพพลิเคชั่นนั่นเอง และถ้าเมืองทำการจำกัดและขยายบริเวณให้รถอัจฉริยะเท่านั้นที่วิ่งได้ไปเรื่อยๆ ก็จะส่งผลต่อการซื้อและเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น

ความนิยมในการครอบครองรถส่วนตัวจะจำกัดอยู่แค่กลุ่มคนผู้ชื่นชอบการขับรถจริงๆ เท่านั้น ผู้ที่ต้องเดินทางก็จะเรียกใช้บริการรถอัจฉริยะกัน ส่งผลให้รถอัจฉริยะกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบขนส่งมวลชนของเมืองนั้น

ส่งท้าย
ท่านผู้อ่านลองจินตนาการเมืองในอนาคตที่รถอัจฉริยะเป็นส่วนหนึ่งของระบบขนส่งมวลชนนะครับ คืนก่อนที่ท่านจะออกไปทำงานก็เข้าแอพพลิเคชั่นระบุตำแหน่งบ้านและเวลาออกจากบ้านของท่าน ระบบขนส่งมวลชนอัจฉริยะจะจัดรถอัตโนมัติมารับท่านที่หน้าบ้านตามเวลาที่กำหนด และนำท่านออกจากซอยเพื่อไปขึ้นรถไฟฟ้า ระหว่างทางก็แวะรับคนอื่นที่ระบุเวลาออกจากบ้านใกล้เคียงกัน เป็นการทำคาร์พูลไปในตัว ซอยของท่านกำหนดเวลาไว้ว่าระหว่าง 5 นาฬิกาถึง 9 นาฬิกา จะให้รถอัจฉริยะวิ่งได้เท่านั้นทำให้การเดินทางไหลลื่น

เมื่อถึงหรือเกือบจะถึงสถานีรถไฟฟ้า รถอัจฉริยะทุกคันในพลาทูนเดียวกันจะเปิดประตูบังคับให้ท่านลงจากรถตรงนั้นเลย (ไม่ลงตรงนี้ก็ไม่ได้ลงจนกว่ารถจะวนไปรับคนอื่น) ทำให้การถ่ายเทคนลงที่สถานีทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องค่อยๆ จอดให้คนลงทีละคัน เมื่อท่านใช้รถไฟฟ้าเดินทางไปถึงสถานีปลายทาง ก็จะมีรถอัจฉริยะรอท่านและคนอื่นๆ ที่มาถึงสถานีในเวลาเดียวกันและไปทำงานที่ใกล้ๆ กันเช่นกัน ตอนเย็นท่านจะไปสังสรรค์กับเพื่อนๆ ที่ร้านอาหารนอกเมืองที่ซึ่งไม่มีรถไฟฟ้าผ่าน กลุ่มของท่านก็สามารถระบุจำนวนคนและสถานที่เพื่อเรียกรถอัจฉริยะมารับได้ผ่านแอพพลิเคชั่น กลุ่มรถของท่านรวมตัวกับรถอัจฉริยะคันอื่นเป็นคอนวอยโดนใช้เลนพิเศษออกนอกเมืองอย่างรวดเร็ว สุดท้ายท่านสังสรรค์เสร็จไม่ว่าจะมึนเมาแค่ไหนก็สามารถเรียกรถอัจฉริยะให้พากลับบ้านได้อย่างปลอดภัย

Contributor

sethavidh

ดร.เสฎฐวิทย์ เกิดผล

จบการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเซาท์เธิร์นแคลิฟอร์เนียในปี 2548 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกเหนือจากการสอนแล้ว ยังได้ร่วมมือกับภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจสร้างและออกแบบระบบสารสนเทศ จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการใช้งานโปรแกรมรหัสเปิด (Open Source Software) โดยเน้นที่โปรแกรมระบบสำหรับบริษัทและธุรกิจเป็นหลัก

Twitter: twitter.com/Sethavidh

Website: Sethavidh@gmail.com

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

future car
รถอัจฉริยะกับอุบัติเหตุ

รถอัจฉริยะของกูเกิล จะมีมนุษย์นั่งไปด้วยเพื่อเข้ามาควบคุมรถแทนในสถานการณ์ที่รถอัจฉริยะยังทำเองไม่ได้ ในบทความที่แล้วผมได้นำเสนอประเด็นเรื่องรูปแบบการจราจร และการใช้รถอัจฉริยะร่วมกับระบบขนส่งมวลชนไปแล้ว บทความนี้ ผมจะนำเสนอเรื่องของรถอัจฉริยะต่อในอีกมุมหนึ่ง นั่นคือ...

  • Mobile-2.0
  • CHATBOT
    ภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะเป็นภาษาสากลในอนาคต

    ว่าด้วยเรื่องของภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เมื่อกฎขึ้นมาในวงสนทนาเมื่อไร มักจะถูกคนทั่วไปมองหน้าเอาว่า นี่มันคือพวกเนิร์ด (Nerd) หรือกี๊ก (Geek) บ้าคอมฯ และพูดอะไรเข้าใจอยากแบบมนุษย์ต่างดาวแน่นอน ไม่ต้องแปลกใจครับ หลายคนมักเข้าใจว่าภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นเป็นภาษาที่คนทั่วไปไม่น่าจะเข้าใจได้ง่าย...

  • อินเทอร์เน็ต ตั้งต้นที่เฟซบุ๊ก

    การมาถึงของ Facebook Live ยิ่งทำให้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น พวกเราคงรู้จักเฟซบุ๊กกันดีว่าเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กไซต์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดและมีสมาชิกทั่วโลกมากกว่า 1.5 พันล้านคน...