มาทำความรู้จักกับทีมที่สอง ในโครงการบัวหลวงเพื่อ KidBright ที่นำบอร์ดระบบสมองกลฝังตัวผ่านบอร์ด และระบบเซ็นเซอร์ ให้นักเรียนชั้นมัธยมต้น และประถม ได้ศึกษาวิธีการเขียนโค้ดโปรแกรมที่เข้าใจได้ง่าย นำไอเดียที่มีมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคม
จากที่ได้นำเสนอผลงานจากทีมชนะเลิศไป ถึงคราวมารู้จักกับสิ่งประดิษฐ์กันอีกหนึ่งทีมที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยนักเรียนทีมนี้มาจากโรงเรียนชิตใจชื่น ชั้นมัธยมต้นปีที 2 ได้แก่ เด็กหญิง จิตราพร จิตกุล เด็กหญิง ชนิดา เกิดลาภ และเด็กหญิง ธนภรณ์ พัสดุ เผยแนวคิดช่วยเหลือคนในหมู่บ้านสำหรับการปลูกเห็ดนางฟ้าในโรงเรือน
Q: ผลงานของเรามีชื่อว่าอะไร
A: ระบบควบคุมการพ่นหมอกในโรงเรือนเพาะเห็ดด้วย KidBright เป็นการวัดค่าความชื้น
Q: มีแนวคิดอะไร ในการการสร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมา
A: ในช่วงฤดูร้อน จังหวัดปราจีนค่อนข้างจะร้อน แถวหมู่บ้านของเราปลูกเห็ดขายกันอยู่แล้ว โรงเรียนเราก็ปลูกขาย และเป็นอาหารกลางวันด้วย เห็นปัญหาที่ว่าพออากาศร้อนความชื้นก็จะต่ำ ไม่สม่ำเสมอ และคนปลูกก็ไม่สามารถดูแลเห็ดได้ตลอดเวลา จึงคิดค้นเครื่องนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยโรงเพาะเห็ด
Q: ระบบควบคุม มีขั้นตอนการทำงานอย่างไร
A: นำเซ็นเซอร์วัดความชื้นใส่เข้าไปในโรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้า เพื่อทำการตรวจจับค่าความชื้น และส่งมาที่บอร์ด KidBright ซึ่งทำหน้าที่รับข้อมูล จากนั้นสั่งการมาที่อุปกรณ์ต่างๆ เช่น หากความชื้นไม่เพียงพอก็สั่งการแบบอัตโนมัติมาที่ปั๊มน้ำ เพื่อทำหน้าที่เปิด-ปิดน้ำ หากค่าความชื้นไม่ถึง 80% จะมีการสั่งการให้พ่นน้ำไปยังโรงเรือนเพาะเห็ดเพิ่มขึ้น
Q: ข้อดีของระบบควบคุมที่เลือกใช้ลักษณะการพ่นหมอก
A: ปกติแล้วเห็ดจะออกดอกภายใน 3 วัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย แต่ถ้าร้อนอาจจะต้องใช้เวลามากกว่านั้น ทำให้เก็บผลผลิตได้ช้า รายได้ก็จะน้อยตามไปด้วย ระบบพ่นหมอกก็จะช่วยให้เห็ดอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ออกผลผลิตคงที่สม่ำเสมอ
Q:แบ่งหน้าที่การทำงานอย่างไร
A: เราสามคนก็ช่วยกันทำทั้งหมด การออกแบบจำลองโรงเพาะเห็ดก็ช่วยกัน ส่วนที่เหลือก็แบ่งกันทำ ทั้งเขียนโปรแกรม และการต่อสายไฟ จนกลายมาเป็นผลงานระบบความคุมการพ่นหมอกอย่างที่เห็น โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการคิดและประดิษฐ์ขึ้นมาค่ะ
Q: ได้อะไรจากโครงการ KidBright
A: จากที่เราไม่มีความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมเลย แสดงให้เห็นว่าบอร์ด KidBright ใช้งานง่าย เหมาะสำหรับเยาวชนให้ลองคิดค้น โดยทางโครงการมีการอบรม ติดตามความก้าวหน้าของผลงาน และประกาศผลประมาณสองเดือน
Q: คิดว่าจะนำไปต่อยอดด้านไหนได
A: สามารถนำไปต่อยอดเป็นเรือนเพาะเห็ดจริงๆ ได้ รวมถึงสร้างระบบที่โรงเรียนด้วย เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับทางโรงเรียน และสามารถพัฒนาสู่ระบบเกษตรที่หลากหลายที่ต้องมีการรดน้ำต้นไม้ โดยอาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามชนิดของต้นไม้ นอกจากนั้นแล้วยังประยุกต์ใช้กับการเลี้ยงสัตว์ ทั้งการเลี้ยงสุกร การเลี้ยงโคนมได้อีกด้วย
Q: รู้สึกอย่างไรกับรางวัลที่ได้รับ
ดีใจมากค่ะ ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ปกติเราจะเข้าแข่งขันกิจกรรมกันด้านอื่นที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ พอมารวมทีมกันเข้าโครงการ ได้สร้างเทคโนโลยีตัวนี้ขึ้นมาก็คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อโรงเรียน และคนในหมู่บ้านด้วย
Q: ฝากอะไรถึงเพื่อนๆ ที่มีไอเดียแต่ยังไม่กล้าที่จะลงมือท
อยากฝากถึงเยาวชนไทยรุ่นใหม่ๆ ว่า เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ ไม่ยากอย่างที่คิด หากเรามีความใส่ใจ และสนใจเรียนรู้จริงๆ ก็จะสามารถทำให้สำเร็จได้ค่ะ
เป็นอย่างไรบ้างกับผลงานทีมที่สอง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เชื่อว่าจะนำไปใช้ได้จริงอย่างแน่นอน ทำให้เกษตรที่ปลูกเห็ดนางฟ้าไม่ต้องกังวลเรื่องอุณหภูมิในโรงเพาะอีกต่อไป ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เรายังมีอีกทีมให้ได้สัมผัสกัน กับ KidBright ตอนที่ 3
บทสัมภาษณ์ผลงานอีก 2 ทีม