หากพูดถึงแหล่งรวมบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ไว้ด้วยกัน และบริษัทไอทีนับร้อยแห่ง คงหนีไม่พ้นซิลิคอนวัลเลย์ ที่หลายคนต่างใฝ่ฝันอยากเข้าไปทำงาน หรือสตาร์ทอัพก็อยากเข้าไปสร้างธุรกิจและเป็นส่วนหนึ่งในนั้น โดยเป็นพื้นที่ซึ่งมีบริษัทที่ประกอบธุรกิจประเภทไฮเทคโนโลยี อยู่อย่างหนาแน่นนับตั้งแต่ทางตอนเหนือของซานตาคลาราวัลเลย์ และเขตพื้นที่ชุมชนซึ่งอยู่ติดกันในพื้นที่ทางตอนใต้ของแหลมซานฟรานซิสโกและอ่าวอีสต์เบย์ ที่อยู่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่นี่เปรียบเสมือนเป็นขุมทรัพย์ แหล่งรวมทุนสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนทำธุรกิจทั้งที่เป็นไอที ที่นี่ถือเป็นต้นน้ำของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น google yahoo hotmail เป็นต้น แต่ละปีจะเกิดดีลทางธุรกิจในตัวเลขที่เรียกได้ว่าว่ามหาศาล ขณะเดียวกัน ก็มีหลายดีลที่คว้าน้ำเหลวจากที่นี่ด้วยเช่นกัน
แล้วแบบนี้ สตาร์ทอัพไทยจะสามารถเข้าไปอยู่และเป็นส่วนหนึ่งในซิลิคอนวัลเลย์ได้อย่างไร เรามี 2 คนไทยที่สามารถเข้าไปทำงาน รวมถึงเปิดบริษัทในซิลิคอนวัลเลย์ได้สำเร็จ ผ่านการพูดคุย ในหัวข้อ “Thais in Silicon Valley” ภายในงาน Startup Thailand 2017 มาเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ร่วมทำงานกับษริษัทเทคยักษ์ใหญ่ให้ฟังกัน โดยคนแรก Pak Pongpaet CEO Managing Partner of Impekable ให้บริการเกี่ยวกับดิจิทัลเอเจนซี่ ในสหรัฐอเมริกา และ Micheal Athiwat Wongwaisayawan จากบริษัท ThoughtWorks ทำซอฟแวร์ให้กับบริษัททั่วโลก
จุดเริ่มต้นของการเข้าไปอยู่ในซิลิคอนวัลเลย์
Pak เล่าให้ฟังว่า ไปเรียนต่อปริญญาตรีที่ชิคาโก้ เป็นช่วงจังหวะที่บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น หลังจากจบวิศวกรโดยเริ่มแรกทำงานในบริษัทใหญ่ๆ อยู่ประมาณ 15 ปี จึงตัดสินใจออกมาร่วมทำสตาร์ทอัพกับเพื่อนแต่ก็ล้มเหลว จึงหันกลับมาทำในสิ่งที่ตนเองถนัดเปิดบริษัทเองในซิลิคอนวัลเลย์ ขณะนี้มีพนักงานประมาณ 40 คน
ส่วน Micheal เองก็เริ่มจากการไปเรียนที่อเมริกาเช่นกัน เริ่มทำงานที่แอฟริกาได้สัก 2 ปี และย้ายมาทำงานที่แคลิฟอร์เนียอีก 2 ปี จากนั้นก็เข้าสู่บริษัทเทคในซิลิคอนวัลเลย์
ทั้งนี้ ยังพูดถึงบริษัทเทคในเมืองไทยที่เปลี่ยนแปลงไปมาก เรียกได้ว่าศักยภาพเทียบเท่ากับต่างประเทศ เมื่อก่อนแต่ละปีไม่ค่อยมีการตื่นตัวในของเรื่องเทคสตาร์ทอัพเท่าไหร่ แต่ในช่วงสองปีที่ผ่านมากลับได้รับความสนใจมากขึ้น มีงานจัดแสดงเยอะขึ้น และได้รับความสนใจจากต่างชาติเพิ่มขึ้นด้วย
หากสนใจอยากเข้าไปทำงานในซิลิคอนวัลเลย์ด้องทำอย่างไร
Micheal บอกว่า สตาร์ทอัพไทยที่อยู่อเมริกาส่วนใหญ่เขาก็เรียนที่ไทย แค่มีเป้าหมายว่าอยากจะทำงานต่างประเทศ อาจจะเริ่มจากงานประกวด หากชนะก็ถือว่าเป็นโอกาสได้ไปทำงานต่างประเทศ และค่อยๆ ขยับมาทำสตาร์ทอัพ ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับตัวเราจะทำอะไร ตั้งเป้าไว้แค่ไหน
สำหรับ Pek ได้แนะวิธี 1. เริ่มจากการไปเรียนต่อ แล้วเข้าไปทำงานในบริษัทใหญ่ๆ และ 2. เริ่มทำสตาร์ทอัพในประเทศตนเองก่อน และค่อยขยายตลาดไปสู่ซิลิคอนวัลเลย์ แต่อุปสรรคคือ อาจจะไกลเกินไป จำเป็นต้องเปิดออฟฟิศที่นั่น ทำให้ใกล้ตัว VC มากขึ้น เพราะเขาต้องการช่วยเหลือสตาร์ทอัพมากกว่าการให้เงินลงทุนเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ ยังพูดถึงวิธีการทำงานโดยที่ซิลิคอนวัลเลย์บริษัทเทคส่วนใหญ่จะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากที่อื่น ทั้งสองได้ให้ความคิดเห็นที่ตรงกันว่า ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีควบคู่ไปกับพนักงาน เพื่อการทำงานที่สะดวก รวดเร็ว โดยเฉพาะวิศวกรจะรับความดูแลเป็นพิเศษ ถึงอย่างนั้นพนักงานในส่วนอื่นได้รับความดูแลไม่ต่างกัน เช่น มีขนม อาหาร เครื่องดื่ม คอยบริการตลอด
หรือกิจวัตรประจำวัน เช่น บริการตัดผม บริการซักผ้า รวมถึงพาสุนัขของพนักงานไปเดินเล่นก็มีบริการให้ ซึ่งจะมีพนักงานเข็นรถอำนวยความสะดวกภายในบริษัท โดยบริษัทเหล่านี้เขามองว่า เพื่อให้พนักงานได้ทำงานอย่างเต็มศักยภาพที่มี
“ส่วนใหญ่แล้วเขาให้ความสำคัญกับ tech นำ business รวมถึง CEO จะนั่งทำงานร่วมกับพนักงาน สามารถพูดคุยปรึกษากันได้ตลอด อัพเดทข้อมูลให้พนักงานได้ทราบ พร้อมถามความต้องการของพนักงาน เป็นการเอาใจใส่บุคลากร ทำให้รู้สึกว่าเราไม่ใช่แค่มาทำงานเอาแค่เงินเดือน แต่ให้ความรู้สึกว่าเป็นบริษัทของตนเอง” Pek กล่าว
ถึงกระนั้น แม้ว่าจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับเหล่าพนักงานก็ตาม แต่ก็มีการแข่งขันที่สูงมาก คนเปลี่ยนที่ทำงานบ่อย และค่าตอบแทนในเรื่องของเงินเดือนก็สูงมากเช่นกัน
สตาร์ทอัพไทยมีโอกาสก้าวเข้าไปเติบโตได้มากน้อยแค่ไหน
Micheal อธิบายให้ฟังว่า ก็มีสตาร์ทอัพไทยสามารถเข้าไปในเติบโตในซิลิคอนวัลเลย์ให้เห็นแล้วเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าการวางเป้าหมายทางธุรกิจ ไม่เกี่ยวว่าจะมาจากที่ไหน ประเทศอะไร หากไอเดียสามารถแก้ปัญหาได้จริง และสร้างรายได้ได้จริง ก็จะมี VC สนใจ และเติบโตได้แน่นอน
ส่วน Pek เสริมว่า ที่ซิลิคอนวัลเลย์ไม่มีการปิดกั้น ขอแค่มีความสามารถพอ คนส่วนมากในที่นั้นไม่ใช่แค่คนอเมริกาเท่านั้น แต่มาจากทั่วทุกมุมโลก คนอินเดีย คนจีน มีมากกว่าด้วยซ้ำ
5 สิ่งที่สตาร์ทอัพไทยควรทำก่อนไป “Silicon Valley”
- ต้องสร้างโมเดลธุรกิจที่สามารถแข่งขันได้ และรู้เป้าหมายตนเอง
- ต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย และศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในพื้นที่เป็นอย่างไร
- รับคนในพื้นที่เข้ามาทำงานในษริษัท เพื่อเข้าใจตลาดมากขึ้น
- สร้างวัฒนธรรมภายในองค์กร เพื่อให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- อาจจะร่วมทุนกับ VC ในประเทศก่อน แล้วใช้โอกาสนี้ขยายไป หรือมีบริษัทเทคแนะนำ
สุดท้ายนี้ ทั้งสองได้กล่าวสรุปเป็นแนวทางให้กับสตาร์ทอัพไทย ที่อยากจะขยายธุรกิจไปเป็นส่วนหนึ่งในซิลิคอนวัลเลย์ คงต้องตั้งรับการแข่งขันให้ได้ แม้ว่าเงินลงทุนที่นั้นจะเยอะมาก แต่ก็ค่าครองชีพสูงตามไปด้วย และต้องมีเงินในการทำธุรกิจจำนวนมาก เพราะที่นั้นหากใครเก่งและโดดเด่นกว่าก็ได้ไป และสิ่งสำคัญ คือ บริการต้องตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภค และมีลูกค้าใช้งานจริง ซึ่งจะรอดหรือไม่นั้นก็ต้องลองดูถึงจะรู้