สิ่งที่สตาร์ทอัพต้องรู้ ก่อนจะจับมือองค์กรยักษ์ สรุปแนวคิดสำคัญของ The logic of Yoda จากความสำเร็จของ Amadeus Next

การเปลี่ยนแปลงจากการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ “Digital Disruption” นำมาสู่คำถามว่า องค์กรขนาดใหญ่จะปรับตัวกับกระแสเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างไร หนึ่งในคำตอบคือ การเข้าไปสนับสนุนสตาร์ทอัพ ซึ่งมีทั้งการลงทุนเองโดยตรง และการลงทุนในกองทุนที่สนับสนุนสตาร์ทอัพอีกที

ซึ่งในการผนึกกำลังของทั้งสองฝ่าย ต้องอาศัยจุดเด่น ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ความเชี่ยวชาญในภาคธุรกิจ เงินทุน และฐานลูกค้าขององค์กรใหญ่ กับความเป็นอิสระในการค้นหาโซลูชั่นที่จะมาแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรมนั้นของสตาร์ทอัพ เป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่เข้ามาจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

แต่ก่อนที่จะไปถึงเป้าหมายอันเป็นความสำเร็จ “ทั้งสองจะมีการทำงานร่วมกันได้อย่างไร” นี่คือสิ่งที่องค์กรใหญ่และสตาร์ทอัพต้องเรียนรู้

ทุ่มสุดตัว ออกจากพื้นที่ปลอดภัย และผลัดกันเป็นครูและศิษย์

โดย Bart Bellers, Managing Director : Atum Consulting  (Belgium) ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Amadeus Next ผู้ให้บริการเทคโนโลยีแก่สตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยว ได้เผยถึงข้อคิดและแรงบันดาลใจที่ได้รับจากการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพทั่วโลก ภายใต้หัวข้อ The Logic of Yoda หรือตรรกะของโยดา ซึ่งเขามองว่า การร่วมมือของสตาร์ทอัพและองค์กรขนาดใหญ่จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝั่งทุ่มแบบสุดตัวเท่านั้น

Bart เปิดประเด็นเรื่อง ด้วยประโยคคำถามจากโยดา ตัวละครในภาพยนตร์เรื่องสตาร์วอร์ส ที่ว่า “Do it or do not there is no try?” ซึ่งหมายถึง ไม่มีคำว่าพยายาม มีเพียงแต่การตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำ โดยเขามองว่า ภายใต้ความร่วมมือที่เกิดขึ้น สตาร์ทอัพและองค์กรขนาดใหญ่จะต้องทุ่มสุดตัว และต่างต้องออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง เพื่อเรียนรู้การทำงานร่วมกัน และที่สำคัญทั้งสองฝ่ายจะต้องผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่เป็นครูและศิษย์ เพราะต้องยอมรับว่า องค์กรใหญ่เองก็ไม่ได้รู้ทุกอย่าง ขณะที่สตาร์ทอัพมักจะยึดติดกับความคิดตน ไม่ฟังความเห็นผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นในความสัมพันธ์ของการเป็นหุ้นส่วน ทั้งสองจึงต้องนำสิ่งที่ตนเองเชี่ยวชาญมาแลกเปลี่ยนกันเพื่อให้เกิดนวัตกรรม

“องค์กรขนาดใหญ่ต้องเลิกมองว่าการเข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์กับสตาร์ทอัพ จะทำให้คุณได้ประโยชน์อะไร หรือจะสร้างมูลค่าและกำไรได้อย่างไร เพราะนั่นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ สตาร์ทอัพไม่สามารถทำกำไรได้ภายในระยะเวลาอันสั้น  การร่วมมือกันจะเป็นไปอย่างดียิ่งขึ้น ขณะที่สตาร์ทอัพต้องฟังผู้เชี่ยวชาญ หลายครั้งที่เหล่าสตาร์ทอัพต้องเสียเวลาไปผิดทาง เพราะไม่ฟังคำแนะนำ ดังนั้นสิ่งสำคัญของความร่วมมือ คือ คุณมีความรู้อะไร และคุณเข้าใจความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่” Bart กล่าว

แต่บางครั้งความต้องการกลับไม่ชัดเจนเสมอไป ดังเช่นสิ่งที่บริษัทข้ามชาติได้เรียนรู้จากกรณีของ Nokia , Blackberry และ Kodak คือ นวัตกรรมมีผลกระทบต่ออนาคตของธุรกิจอย่างมาก และปัญหาสำคัญ คือ บริษัทใหญ่เหล่านี้ไม่รู้ว่าปัญหานี้กำลังจะมา

เพราะองค์กรใหญ่ใช้เงินหลายพันล้าน ไปกับการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงขยายตลาดเพื่อลูกค้าของตนเอง ซึ่งเป็นการปฏิบัติตาม Business Model ที่มีอยู่ ไม่ได้เป็นการทำเพื่อ Business Model รูปแบบใหม่ ทำให้การสร้างนวัตกรรมใหม่เป็นไปได้ยาก แต่สตาร์ทอัพทำได้ เพราะมีความเป็นอิสระมากกว่า ดังนั้นเทคโนโลยีของสตาร์ทอัพจึงไม่ใช่เป้าหมายขององค์กร แต่เป็นเพียงเครื่องมือหรือปัจจัยที่จะนำไปสู่เป้าหมายเท่านั้น

ลืมสิ่งที่เคยเรียนรู้มา เพื่อเปิดรับมุมมองและทัศนคติใหม่

ในการทำงานร่วมกัน องค์กรใหญ่จะต้องเข้าใจว่าสตาร์ทอัพมีวิธีการทำงานอย่างไร และในฐานะที่ตนเองเป็นองค์กรขนาดใหญ่จะทำอะไรได้บ้าง ขณะที่สตาร์ทอัพเองก็ไม่จำเป็นต้องทำตามกฎของบริษัทก็ได้ เพราะบางครั้งการละเมิดกฎเกณฑ์ก็นำไปสู่การประสบความสำเร็จได้

นอกจากนี้ สิ่งที่จะต้องเรียนรู้อีกข้อหนึ่ง คือ ขนาดของบริษัทไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด สตาร์ทอัพไม่จำเป็นต้องวิ่งหาบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุด เพราะปัจจัยด้านขนาดของบริษัทเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสำเร็จเท่านั้น แต่สตาร์ทอัพจะต้องเข้าใจไทม์ไลน์การทำงานขององค์กรด้วย เพื่อนำไปสู่การปรับการทำงานร่วมกัน  ขณะเดียวกันจะต้องคอยติดตามและประสานงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการพูดคุยด้านกรอบการทำงานที่ชัดเจน มีการตกลงร่วมกัน เพื่อให้เข้าใจถึงทิศทางธุรกิจขององค์กร

เลือกคนที่ถามหาคุณค่าในสิ่งที่ทำ และอย่ายอมแพ้ เพราะยิ่งล้มเร็วยิ่งลุกเร็ว

Bart แนะนำต่อว่า องค์กรที่ดี “จะไม่มีการมานั่งถามเลยว่า ตอนนี้คุณทำธุรกิจไปถึงไหนแล้ว แต่จะถามว่า คุณมีคุณค่าอะไรที่จะมานำมาเพิ่มมูลค่าให้กับความร่วมมือของเรา และเขาจะเป็นผู้ปรับเปลี่ยนกฎให้กับคุณ” เพราะบางครั้งองค์กรมองการลงทุนกับสตาร์ทอัพ เป็นเพียงการทดลอง พวกเขาไม่เชื่อว่าจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้จริงๆ ดังนั้น สตาร์ทอัพจะต้องแสดงให้ทุกคนเห็น ในสิ่งที่ตนศรัทธาและเชื่อมั่นว่าสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

“เชื่อว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นและศรัทธา เพราะในท้ายที่สุด คุณอาจจะเจอประโยชน์ หรือคุณค่าสำคัญที่ทำให้สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำ คือ การยอมรับความล้มเหลว เรียนรู้จากมัน และเริ่มต้นทำใหม่ และที่สำคัญ คุณควรจะดีใจที่ล้มเหลวตั้งแต่เนิ่นๆ นั่นเพราะว่า ยิ่งล้มเหลวเร็วเท่าไหร่คุณจะยิ่งประสบความสำเร็จมากเท่านั้น”  Bart กล่าวทิ้งท้าย

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts