การผลิตคอนเทนต์แนวใหม่ในปัจจุบันกำลังจับจ้องไปที่เทรนด์ VR (Virtual Reality) มากขึ้น ที่สามารถปิดช่องว่างระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารได้ เป็นการเล่าเรื่องในรูปแบบใหม่ เปิดประสบการณ์ไร้ขอบเขตของผู้ชมสามารถเข้าใจง่าย พูดได้เต็มปากว่า VR คือ Future of Content อนาคตของการเล่าเรื่อง ที่เติบโตอย่างสูงและรวดเร็วในตลาดโลก
สำหรับประเทศไทย เราจะเห็น VR เริ่มต้นในฝั่งของการเล่นเกมเสียส่วนใหญ่ จากการเปิดตัวสินค้ากลุ่ม E-Spot มีการทำตลาดให้มีสตอรี่มากขึ้น โดยการรวมเข้ากับเทคโนโลยี VR เช่น บริษัท HP ปล่อย OMEN X By HP VR PC Pack เป็นการย่อ PC ให้เล็กลงรวบเข้ากับ VR พกพาได้สะดวกเพียงสะพายหลัง ที่ไม่ใช่แค่การใส่แว่นหมุนซ้ายขวา แต่ขยับได้ทุกส่วนของร่างกาย
แต่ในปีหน้าจะเห็นถึงการขยายในส่วนของ VR ไปสู่เชิงพาณิชย์ เพราะฮาร์ดแวร์มีราคาถูกลง จึงสามารถลงทุนในการใช้ได้ง่ายมากขึ้น ในภาคธุรกิจสามารถนำมาใช้ได้ในการสร้างยอดธุรกิจ โดยเฉพาะการทำการตลาด ที่เริ่มให้เห็นกันแล้วในอสังหาริมทรัพย์ ลูกค้าสามารถเห็นห้องตัวอย่างในบ้านหรือคอนโดได้รอบ 360 องศา และเสมือนจริง
ไม่เพียงเท่านี้ VR กำลังขยายไปสู่ธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลกลางญี่ปุ่นมีการสนับสนุนให้เมืองท่องเที่ยวต่างๆ เริ่มลงทุนในเรื่องนี้ ช่วยสร้างความแตกต่างจากการท่องเที่ยวแบบเดิมได้อย่างชัดเจน ผ่านภาพนิ่ง หรือเคลื่อนไหวที่ซ้อนเข้ามาตามสถานที่ต่างๆ ถึงขั้นตั้งเป้าขยายนักท่องเที่ยวต่างชาติให้แตะ 40 ล้านคนในปี 2563 หรือช่วงเดียวกับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก โดยปี 2559 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 24 ล้านคน

ล่าสุด ในงานแถลงข่าว ปริ๊นซ์ โฮเต็ล เปิดโรงแรมแห่งใหม่ในนาโกย่า เมืองใหญ่อันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น ที่รวมวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไว้ ภายใต้ชื่อ “นาโกย่า ปริ๊นซ์ โฮเต็ล สกาย ทาวเวอร์” โดยมีห้องพักกว่า 170 ห้อง มีจุดชมวิวพาโนราม่าศูงเหนือพื้นดิน 140 เมตร รวมถึงอาหารต้นตำหรับญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ยังเผยแผนกิจกรรมสัมผัสหิมะผ่านสโนว์รีสอร์ทในเครือทั้ง 9 แห่ง ด้วยการขับรถเคลื่อนหิมะ และนินจาโดโจ ซึ่งภายในงานเปิดให้ผู้เข้าร่วมได้สัมผัสภาพผ่าน VR หลังจากที่ได้ทดลองสวมแว่น เหมือนหลุดเข้าไปในสถานที่จริง เข้าถึงความรู้สึกในช่วงขณะเล่น มีภาพและเสียงประกอบดึงดูดให้อยากไปเที่ยว รวมถึงมีคู่มือนำเที่ยวหากต้องการข้อมูลสถานที่เพิ่มเติมก็สามารถแสกน QR Code หรือข้อมูลด้านอื่นๆ ได้
แสดงให้เห็นถึง VR เป็นหนึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดสำคัญในธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่น เป็นการโปรโมทกิจกรรมทำให้คนสนใจอยากมาเที่ยวมากขึ้น
นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทย ที่จะมองในเรื่องของการลงทุน VR เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ที่จะไม่ใช่แค่นำมาใช้ในเรื่องของการตลาดเพียงอย่างเดียว แต่กระตุ้นเพื่อประสบการท่องเที่ยวแนวใหม่ ใช้นำเที่ยวแก่นักท่องเที่ยว พร้อมสนุกด้วยการตอบปัญหาเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ด้วย