ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมารัฐบาลพยายามที่จะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเดิม ไปสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 ในยุคที่นำนวัตกรรมใหม่ๆ และการส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ แต่สิ่งที่ถูกตั้งคำถาม คือ ประเทศไทยมีความพร้อมเรื่องทรัพยากรบุคคลและแรงงาน ที่จะสนับสนุนการพัฒนาตามนโยบาย และอุตสาหกรรมมากน้อยแค่ไหน
ยิ่งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบันไม่สู้ดีนัก โดยในปี 2559 GDP ของประเทศไทยขยายตัวเพียง 3.2% เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนที่สูงกว่ามาก ส่งผลถึงการจ้างงานในตลาดแรงงานที่หายไปจากตลาดประมาณ 1 ล้านคนเลยทีเดียว

จากรายงานเรื่อง “ตัวเลขว่างงานกับอนาคตอาชีพคนไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
นอกจากนี้ยัง พบว่า แรงงานในสายธุรกิจและบริการ และสาขาอื่นๆ ในระดับ ปวช. และ ระดับ ปวส. เพิ่มจำนวนขึ้น แต่ความต้องการไม่มากเท่าทำให้ว่างงานจำนวนมาก รวมถึงผันตัวเองไปเรียนในระดับปริญญาตรีด้วย ซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้าตลาดแรงงานต้องใช้กำลังคนด้าน STEM มากขึ้น
สิ่งที่ท้าทายคือ การพัฒนาบุคลากรให้ทันท่วงที เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศด้วยการใช้นวัตกรรมนำการพัฒนาอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ ยกตัวอย่าง
- การเกษตรสมัยใหม่ เช่น เกษตรแม่นยำ ไบโอเทคโนโลยี
- ด้านสุขภาพ เช่น นวัตกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ Wellness และเวชภัณฑ์
- ด้านอุตสาหกรรม 4.0 เช่น นวัตกรรมอัจฉริยะ โรบอท และ mechatronics
- internet of things (IoT)
- Startups
ดังนั้น นักศึกษาที่จบสาย STEM นี้จึงมีโอกาสที่จะได้รับการจ้างงานตามไปด้วย และจะกลายเป็นแรงงานพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล
ขาดแรงงานสายไอทีสูง
จากข้อมูลผลสำรวจของ จ๊อบส์ดีบี ประเทศไทย ระหว่างเดือน ม.ค. – เม.ย. 2560 พบว่า ตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการของตลาด ได้แก่ “สายงานด้านไอที” และ “วิศวกรรม” เป็นสายงานที่ขาดแคลนผู้สมัครงานสูงถึง 43% และ 29% ตามลำดับ

เหตุผลที่ทำให้ขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้ เนื่องจากคนไทยเรียนสาขาไอทีน้อย และนิยมเรียนสาขาที่จบการศึกษาง่าย กว้างๆ ไม่เฉพาะทาง และไม่ศึกษาความต้องการของตลาดงาน
และอีกหนึ่งสายงานที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดสูง คือ “การตลาดดิจิทัล” เป็นสายงานใหม่ที่ปัจจุบันหลายองค์กรโฟกัสมากขึ้น และต้องการคนมาทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ แต่ด้วยความที่ปัจจุบันมีเพียง 1 – 2 มหาวิทยาลัยเปิดสอนหลักสูตรนี้ ทำให้บุคลากรในสายงานนี้ยังน้อย ขณะที่งานในสายนี้ยังเป็นที่ต้องการมาก
HR 4.0 เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
เมื่อหันมามองในฝั่งขององค์กรแล้วนั้น จำเป็นที่จะต้องปรับตัวและเรียนรู้การบริหารงานอย่างไรเพื่อให้ HR ในองค์กรที่มีพนักงานอยู่ร่วมกันหลากหลาย Generation ได้ พร้อมดึงเอาศักยภาพของพนักงานมาใช้ในงาน และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน ผู้บริหารและ HR เองจำเป็นต้องก้าวให้ทันโลก และทำความเข้าใจกับคนในยุคต่างๆ อย่างถ่องแท้
ทั้งนี้ อาจปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานของ HR สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและเปิดรับนวัตกรรมเพราะ Internet of Things (IoTs) จะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก ทั้งการสื่อสารในองค์กร การสรรหาพนักงาน รวมถึงวิธีการทำงานและสถานที่ทำงาน ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการเติบโตของ Digital Workplace การเติบโตของ Mobile Technology
ทำให้รูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนแปลงจาก work-life balance เป็น weisure time ซึ่งรูปแบบการทำงานดังกล่าวจะไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างโลกการทำงานและโลกส่วนตัว เช่น พนักงานใช้สื่อโซเชียลในเวลาทำงาน หรือติดต่อเรื่องงานผ่านโปรแกรมแชทเมื่ออยู่บ้าน
นพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า “HR ต้องแสดงบทบาทสำคัญในการเป็นคู่คิดทางธุรกิจ และมีส่วนร่วมในการกำหนดกลยุทธ์เพื่อการเติบโตขององค์กร เพราะ HR มีหน้าที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้สูงขึ้น และต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่เสมอ”
StartUp ต้องเพิ่มบุคลิกภาพ ความเป็นผู้นำ
ไม่เพียงแค่องค์กรเองที่จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่ ด้าน StartUp เอง ที่อาจจะเริ่มก่อร่างสร้างธุรกิจ ศักยภาพความเป็นผู้นำจึงเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน โดยทาง AIS ได้มีการเข้ามาช่วยเพิ่มทักษะให้กับบรรดาสตาร์ทอัพ ผ่านโครงการ “Executive Leadership Program” คอร์สอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำ และการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมืออาชีพในด้านต่างๆ เตรียมพร้อมสู่การแข่งขัน และการขยายธุรกิจ
บุคลิกภาพที่สตาร์ทอัพควรมี
- บุคลิกภาพในที่สาธารณะ ทั้งท่วงท่าการยืน การแสดงออก
- วิธีการพูด, จังหวะการพูด
- การนำเสนอพรีเซนต์ผลงาน
- การ Pitching ต่อหน้านักลงทุน และสาธารณชน
- สร้างความน่าเชื่อถือ และเป็นมืออาชีพ
- การควบคุมสติ

บรรยากาศการอบรมพัฒนาศักยภาพให้กับสตาร์ทอัพของ AIS
ฉะนั้น เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการพัฒนาคนของประเทศไปในทิศทางที่สนับสนุนแนวทางการพัฒนาดังกล่าวให้เร็วที่สุดคือ ต้องเตรียมคนให้เป็นกำลังแรงงานที่ฉลาด มีความสามารถพิเศษ และแข่งขันได้ ต้องพัฒนากำลังแรงงานที่มีผลิตภาพสูง ต้องวางแผนผลิตกำลังคนในระดับชาติไว้อย่างชัดเจน
นอกเหนือจากนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเยาวชนหรือนักศึกษาจะสามารถปรับตัว และไปยังอนาคตว่าตลาดแรงงานไหนที่ต้องการมากที่สุด และเลือกเรียนสายได้อย่างถูกจุด ส่วนองค์กรธุรกิจเองก็ต้องมองความต้องการของแรงงานให้ออก เพื่อสร้างระบบการทำงานให้ทันต่อยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนไปแล้วในตอนนี้