รถอัจฉริยะกับอุบัติเหตุ

future car

รถอัจฉริยะของกูเกิล จะมีมนุษย์นั่งไปด้วยเพื่อเข้ามาควบคุมรถแทนในสถานการณ์ที่รถอัจฉริยะยังทำเองไม่ได้

ในบทความที่แล้วผมได้นำเสนอประเด็นเรื่องรูปแบบการจราจร และการใช้รถอัจฉริยะร่วมกับระบบขนส่งมวลชนไปแล้ว บทความนี้ ผมจะนำเสนอเรื่องของรถอัจฉริยะต่อในอีกมุมหนึ่ง นั่นคือ การเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ผู้ขับขี่มักจะไม่ค่อยคิดถึง แต่ก็เป็นเรื่องปกติในการใช้รถใช้ถนน คำถามสำคัญก็คือ รถอัจฉริยะที่ควบคุมโดยคอมพิวเตอร์นั้น จะทำให้ไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เลยหรือไม่ ถ้าทำได้นั่นหมายถึงโลกสมบูรณ์ แต่ถ้าทำไม่ได้จะมีวิธีการตัดสินความผิดของคอมพิวเตอร์ได้อย่างไร

การทดลองขับที่สมบูรณ์แบบ
รถอัจฉริยะที่มีการทดสอบการขับขี่โดยคอมพิวเตอร์มาอย่างต่อเนื่องและเป็นที่รู้จักดีที่สุดก็คือ Google Car ที่พัฒนาโดยกูเกิล (ปัจจุบันกูเกิลแยกบริษัทที่ทำรถอัจฉริยะออกมาเป็นอีกบริษัทโดยใช้ชื่อ Waymo) จนถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2015 นั้นทางกูเกิลได้ทดสอบรถขับขี่เองนี้มาเป็นเวลา 6 ปี มีระยะทางทดสอบการควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์รวมหนึ่งล้านไมล์ (กูเกิลมีรถทดสอบประมาณ 20 คันนะครับ ไม่ใช่ว่าคันเดียววิ่งหนึ่งล้านไมล์) จากการทดลอง 6 ปีนี้ เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับรถอัจฉริยะทั้งหมด 11 ครั้ง แต่ที่สำคัญคือ อุบัติเหตุทั้งหมดไม่ได้เกิดจากรถอัจฉริยะเลย แต่เป็นความผิดพลาดของมนุษย์ในรถคันอื่น1 นั่นคือ มีคนอื่นขับมาชนท้ายรถอัจฉริยะ 8 ครั้ง ชนข้าง 2 ครั้ง และมีรถที่มนุษย์ขับฝ่าไฟแดงมาชนรถอัจฉริยะอีก 1 ครั้ง จากสถิตินี้จะเห็นว่ารถอัจฉริยะทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบโดยไม่เคยเป็นผู้กระทำผิดเลยในอุบัติเหตุทั้งหมดที่เกิดขึ้น

future car

ความผิดครั้งแรก
ถ้ารถอัจฉริยะทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ทำไมกูเกิล ถึงยังไม่นำออกขายและใช้งานล่ะ นั่นก็เป็นเพราะการทดลองนั้นทำในสภาพแวดล้อมที่คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอับดับแรกครับ นั่นคือ การทดลองจะทำในสภาพอากาศที่ท้องฟ้าแจ่มใสเท่านั้น และรถอัจฉริยะจะขับเคลื่อนด้วยความเร็วไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงด้วย (รถของกูเกิล เคยโดนตำรวจเรียกปรับเพราะขับขี่ถ้าเกินไปจนขัดขวางการจราจร)2 ซึ่งไม่ใช่สภาพจริงในการใช้รถแน่นอน นอกจากนี้ รถอัจฉริยะของกูเกิล จะมีมนุษย์นั่งไปด้วยเพื่อเข้ามาควบคุมรถแทนในสถานการณ์ที่รถอัจฉริยะยังทำเองไม่ได้ หรือมนุษย์เกิดความไม่มั่นใจตอนนั้น เช่น การโดนตำรวจเรียก เมื่อเจอสิ่งที่ระบบไม่มีข้อมูล อย่างไฟจราจรชั่วคราว หรือข้อมูลจากเซ็นเซอร์สองตัวขึ้นไปไม่สอดคล้องกัน เป็นต้น

อีกประเด็นคือ กูเกิล ยึดหลักช้าแต่ชัวร์ นั่นคือเมื่อรถอัจฉริยะเจอสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนนั้น รถจะชะลอความเร็วจนแทบหยุดเพื่อประมวลผลและทำการตัดสินใจ มีเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความระมัดระวังของรถกูเกิลนี้คือ รถกูเกิล มาถึงสี่แยกก่อนนักขับจักรยานจึงมีสิทธิ์ที่จะได้ไปก่อน ซึ่งทั้งรถและนักขับจักรยานก็รู้นะครับ นักจักรยานก็หยุดให้รถกูเกิลไปก่อน แต่ใช้วิธีหยุดที่เรียกว่า Track Stand ซึ่งเป็นการหยุดโดยไม่เอาขาลงพื้น (นั่นคือหยุดในท่าขับขี่และใช้วิธีรักษาสมดุลร่างกายไม่ให้จักรยานล้ม ท่านผู้อ่านลองหาวิดีโอใน YouTube ดูได้ครับ) ปรากฏว่า รถอัจฉริยะเกิดความงุนงงต้องหยุดคิดสักพัก พอรถจะไปต่อทางนักจักรยานก็เผอิญขยับจักรยานนิดหนึ่งพอดีเพื่อรักษาสมดุล ทำให้รถหยุดชะงักอีก เป็นอย่างนี้อยู่ประมาณ 2 นาที3

มนุษย์ผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างเราทราบกันดีว่า การขับรถนั้นบางครั้งก็ต้องมีความกล้านิดหนึ่งในจังหวะที่คลุมเครือว่าใครจะไปใครจะหยุด ซึ่งประเด็นนี้ผมกล่าวถึงในบทความที่แล้วว่า เป็นเพราะมนุษย์เราไม่สามารถสื่อสารกับผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นได้อย่างชัดเจน คอมพิวเตอร์สามารถสื่อสารกันเองได้ก็จะลดความไม่แน่นอนตรงนี้ลง ดังนั้นจังหวะไม่แน่ใจนั้นจะเกิดระหว่างมนุษย์กับมนุษย์หรือมนุษย์กับคอมพิวเตอร์เท่านั้น ถ้าต้องการให้การใช้รถใช้ถนนมีความปลอดภัยสูงสุดก็ต้องจำกัดการใช้ถนนให้รถอัจฉริยะเท่านั้น แต่เนื่องจากการจำกัดให้รถอัจฉริยะใช้ถนนเท่านั้นคงเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบาก ดังนั้นรถอัจฉริยะในตอนแรกก็คงยังต้องใช้ถนนร่วมกับมนุษย์ไปก่อน แต่ถ้ารถอัจฉริยะยึดถือความปลอดภัยสูงสุดก็อาจเกิดสถานการณ์ที่รถหยุดชะงักตามตัวอย่างข้างบนบ่อยๆ เช่นกัน ทางกูเกิล จึงตัดสินใจเพิ่มความห้าวหาญ (Aggressiveness) ให้รถอัจฉริยะเพื่อแก้ปัญหานี้

ผลของการเพิ่มความห้าวหาญให้รถอัจฉริยะก็คือ

อุบัติเหตุครั้งแรกที่รถอัจฉริยะมีส่วนในความผิด อุบัติเหตุนี้เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2016 เหตุการณ์คือ รถกูเกิลอยู่เลนในสุดกำลังหยุดรอสัญญาณไฟ แต่ในเลนนั้นมีสิ่งกีดขวางข้างหน้า (ซึ่งเป็นถุงทราย) พอไฟเขียวรถกูเกิลก็เบี่ยงออกซ้ายเพื่อหลบถุงทราย แต่ไปชนกับรถเมล์ที่มาจากข้างหลัง รถกูเกิลเห็นรถเมล์จากเซ็นเซอร์นะครับ แต่ระบบคาดว่ารถเมล์จะให้ทางจึงออกตัวมา4

แสดงให้เห็นว่า ระบบของกูเกิล ก็วิเคราะห์สถานการณ์ผิดได้ และที่สำคัญคือ เมื่อตั้งค่าให้รถอัจฉริยะกล้าเสี่ยงกล้าทำมากขึ้นก็ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้

ประกันอุบัติเหตุกับรถอัจฉริยะ
โดยปกติแล้ว เมื่อเกิดอุบัติเหตุระหว่างรถที่ใช้คนขับก็จะมีกระบวนการหาสาเหตุและตัดสินว่าผู้ใดผิดหรืออาจเป็นความผิดร่วมก็ได้ เมื่อได้ผู้ผิดแล้วก็จะมีการจ่ายเงินทดแทนทั้งในส่วนของความเสียหายและความยุ่งยากอื่นให้กับผู้ไม่ผิด ประกันอุบัติภัยรถยนต์ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้ใช้รถใช้ถนนใช้เพื่อช่วยจ่ายในกรณีที่ตนเป็นฝ่ายผิด แต่สำหรับรถอัจฉริยะที่ไม่มีคนขับกระบวนการนี้จะเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง

ในส่วนการหาสาเหตุนั้น น่าจะทำได้ง่ายยิ่งขึ้นสำหรับรถอัจฉริยะครับ เพราะมีการบันทึกข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์ต่างๆ ไว้ครบถ้วน รวมไปถึงการคิดตัดสินใจของระบบอัตโนมัติด้วยว่าคิดอะไรทำอะไรไปบ้าง เป็นข้อมูลที่แท้จริงไม่ปรับเปลี่ยนตามความไม่แน่นอนของมนุษย์ เช่น เมื่อเดือนธันวาคมปี 2016 นักแสดงชาวเกาหลีใต้ได้ฟ้องเทสลาผู้ผลิตรถอัจฉริยะ (แต่ยังต้องมีคนขับ) อีกเจ้าหนึ่งว่า รถเทสลา เร่งตัวเองกะทันหัน โดยคนขับไม่ได้ตั้งใจและเข้าชนบ้านของนักแสดงคนนั้น ทางเทสลา ได้รับข้อมูลจากเซ็นเซอร์และระบบการควบคุมรถและพบว่า มีการเหยียบคันเร่งจนมิดถึง 100%5 อีกกรณีก็คือ อุบัติเหตุที่รถเทสลาภายใต้การควบคุมอัตโนมัติระดับ 2 (โปรดอ่านบทความเก่าเรื่อง ”ระบบอัตโนมัติสำหรับช่วยในขับขี่รถยนต์” ว่าระดับ 2 หมายถึงอะไร) พุ่งชนรถเทรลเลอร์ ทางเทสลาก็สามารถเก็บข้อมูลอย่างละเอียดจนรู้ถึงสาเหตุความผิดพลาด

future car

สำหรับเรื่องการหาผู้ผิดและจ่ายเงินชดเชยนั้น เนื่องจากรถอัจฉริยะขับขี่อัตโนมัติโดยระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้นผู้ที่ผิดก็ควรเป็นระบบคอมพิวเตอร์ แต่คำถามคือ ใครจะเป็นคนจ่ายค่าชดเชย จะมีประกันภัยอุบัติเหตุหรือไม่ ในเมื่อมนุษย์ไม่ได้เป็นผู้ขับขี่รถอีกแล้ว เรื่องนี้มีความเป็นไปได้หลายทางครับ เช่น

ตามที่กล่าวไปว่าการตั้งค่าระบบให้กล้าเสี่ยงมากขึ้นจะทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นอาจเป็นได้ว่า ระบบรถอัตโนมัติจะให้ผู้ใช้ตั้งค่าความเสี่ยงในการขับขี่ของรถแต่ละคันได้เอง รถที่กล้าเสี่ยงก็อาจจะมีความคล่องตัวเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุรถที่ห้าวหาญกว่าก็จะเป็นฝ่ายผิด ผู้ใช้รถถึงแม้จะไม่ได้ขับเองแต่ก็สามารถซื้อประกันความเสี่ยงที่ตนเองเลือกตั้งให้รถยนต์ได้ โดยบริษัทประกันจะสามารถเรียกดูข้อมูลความห้าวหาญนี้จากรถยนต์ของเราได้เพื่อคำนวณเบี้ยประกัน

อีกวิธีคือ ผู้ผลิตรถยนต์ทำประกันกลุ่มรถยนต์ทั้งหมดแทนที่จะให้ผู้ใช้รถแยกทำประกันแต่ละคัน เนื่องจากรถทุกคันจากผู้ผลิตนี้จะมีพฤติกรรมที่เหมือนๆ กันอยู่แล้ว (โดยไม่ให้ผู้ใช้ตั้งค่าความเสี่ยงเอง) ดังนั้นผู้ใช้รถจึงไม่เป็นประเด็นที่จะต้องนำมาพิจารณาเมื่อคำนวณเบี้ยประกัน ค่าใช้จ่ายประกันภัยนี้ก็คงเป็นส่วนหนึ่งของราคารถและเป็นอีกประเด็นที่ผู้ซื้อรถต้องพิจารณา

ผู้ผลิตรถยนต์เป็นผู้จ่ายค่าเสียหายให้ทั้งหมดที่รถของตนเองเป็นผู้ผิดเมื่อเกิดอุบัติเหตุ คือผู้ผลิตเป็นผู้รับประกันเองและอาจเป็นส่วนหนึ่งของการประกันสินค้าตามปกติด้วย นี่เป็นวิธีที่เทสลากำลังนำมาใช้ในปัจจุบัน นั่นคือไม่ว่าชิ้นส่วนไหนจะเสียหายหรือรถจะวิ่งไปชนอะไร ทางเทสลาก็ประกันให้ทั้งหมด6

สรุป
รถอัจฉริยะที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์นั้น สามารถลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลงไปได้ แต่คงไม่สามารถกำจัดอุบัติเหตุทางรถยนต์ไปได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้รถใช้ถนนร่วมกับรถที่มีคนขับอยู่ เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วการค้นหาสาเหตุนั้นจะทำได้อย่างง่ายดาย เพราะมีการเก็บข้อมูลจากเซ็นเซอร์และการตัดสินใจของรถไว้อยู่แล้ว ส่วนการจ่ายค่าชดเชยนั้นอาจกลายเป็นการประกันสินค้าตามปกติแทนก็ได้

โดยเฉพาะถ้าผู้ผลิตรถยนต์เชื่อมั่นในความสามารถตัดสินใจของรถของตนเอง และอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่ต่ำลง ในอนาคตอาจไม่มีการขายประกันรถยนต์อีกต่อไปเมื่อรถทุกคันกลายเป็นรถอัจฉริยะ

บรรณานุกรม
1. Chris Urmson, “The View from the Front Seat of the Google Self-Driving Car”, Backchannel, May 11, 2015. Retrieved from https://backchannel.com
2. Alexander Smith and Shelby Hansen, “Google Self-Driving Car Gets Pulled Over – For Going Too Slowly”, NBCNews, November 13, 2015. Retrieved from www.nbcnews.com
3. Matt McFarland, “How fixed-gear bikes can confuse Google’s self-driving cars”, The Washington Post, August 26, 2015, Retrieved from www.washingtonpost.com
4. Mark Bergen, “Google’s Self-Driving Car Hit Another Vehicle for the First Time”, Recode, February 29, 2016. Retrieved from www.recode.net
5. “Tesla owner files lawsuit in California claiming sudden acceleration”, Reuters, Dec 30, 2016. Retrieved from www.reuters.com
6. Fred Lambert, “Tesla enters car insurance business as self-driving cars prepare to disrupt the industry”, electrek, August 30, 2016. Retrieved from https://electrek.co
Contributor

sethavidh

ดร.เสฎฐวิทย์ เกิดผล

จบการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเซาท์เธิร์นแคลิฟอร์เนียในปี 2548 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกเหนือจากการสอนแล้ว ยังได้ร่วมมือกับภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจสร้างและออกแบบระบบสารสนเทศ จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการใช้งานโปรแกรมรหัสเปิด (Open Source Software) โดยเน้นที่โปรแกรมระบบสำหรับบริษัทและธุรกิจเป็นหลัก

Twitter: twitter.com/Sethavidh

Website: Sethavidh@gmail.com

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

future-smart-car
รถอัจฉริยะกับสังคมในอนาคต

แท็กซี่ไร้คนขับ ที่มารับ-ส่งผู้โดยสารตามคำร้องขอผ่านแอพพลิเคชั่น รถอัจฉริยะหรือรถขับขี่อัตโนมัติ (Self-Driving Car) เป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจและผลักดันจากหลายฝ่าย ทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี การมาถึงของรถอัจฉริยะนั้นอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน...

  • VR-Virtual-Reality
    อนาคตของ VR

    ปีที่แล้วดูเหมือนจะเป็นปีแห่งการกำเนิดใหม่ของเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน หรือ VR (Virtual Reality) เพราะบรรดาผู้ผลิตต่างพร้อมใจกันวางจำหน่ายอุปกรณ์ VR กันอย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็น...

  • Taiwai-digital-city
    ไต้หวัน เมืองเทคโนโลยี ขับเคลื่อนประเทศ

    เมืองไทจงมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของไต้หวัน แวดวงสื่อดิจิทัลยังคงมีสิ่งแปลกใหม่เกิดขึ้นมาบนโลกนี้ในทุกวันครับ ในฐานะของอาจารย์ที่สอนการเขียนโปรแกรมพัฒนาเกม ระบบเกม...

  • กระเป๋าเงินดิจิทัลเปลี่ยนวิถีชีวิต

    นอกจากเงินสดและบัตรเครดิตแล้ว รูปแบบการใช้จ่ายเงินแบบใหม่ที่กำลังมาแรงคือ กระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital e-Wallet) เพราะสามารถแก้ไขปัญหาได้หลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีบัตรเครดิตใช้กัน ปัญหาของเงินรูปแบบเก่าสู่กระเป๋าเงินดิจิทัล ถึงแม้ว่าเราจะใช้เงินสดและบัตรเครดิตกันมาอย่างยาวนาน...