ย้อนไปเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกคนล่าสุดอย่าง Elon Musk ได้ประกาศบริจาคเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 3 พันล้านบาท จัดแข่งขันโครงการดักจับคาร์บอนในอากาศ (Carbon capture and storage – CCS)
เป้าหมายก็คือเพื่อชะลอหรือลดภาวะโลกร้อน ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีด้านนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าไรนัก และยังมีต้นทุนสูงเกินไปอีกด้วย
จากนั้นก็มีการจัดตั้งองค์กรชื่อ XPRIZE มารับผิดชอบโดยตรง เพราะ Elon Musk มองว่า “เราต้องการทีมที่สร้างระบบของจริงที่วัดผลได้จริงในระดับกิกะตัน แม้ว่าจะใช้ความพยายามแค่ไหนก็ตาม จะไม่มีเวลาแล้ว”
การแข่งขันนี้มีเงินรางวัล 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทีมเข้าแข่งขัน ต้องมีโมเดลระบบดักจับคาร์บอนในอากาศ
ระยะเวลาแข่งขันนั้นยาวนานถึง 4 ปี สร้างผลงานที่กักเก็บคาร์บอนได้ปีละ 10 กิกะตันภายในปี 2050 เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ภาวะโลกร้อน
หลังเริ่มการแข่งขันได้ 18 เดือน ก็จะมี 15 ทีมแรกที่ผ่านเข้ารอบ ซึ่งได้รับเงินทุนทีมละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว30 ล้านบาท ) เพื่อนำไปขยายโครงการต่อ
ทีมที่ชนะเลิศจะได้รางวัล 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( ราว 1,500 ล้านบาท), รองชนะเลิศได้ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 600 ล้านบาท ) และที่สามได้ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 300 ล้านบาท )
… และถ้ามีทีมที่เป็นนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมไม่เกิน 25 ทีม ก็จะได้เงินทีมละ 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 6 ล้านบาท ) ด้วย
ทีมที่เข้ารอบต้องสามารถแสดงระบบต้นแบบ ที่กักเก็บคาร์บอนได้อย่างน้อยวันละ 1 ตัน และสามารถขยายให้เพิ่มไปสู่ระดับกิกะตันได้
และสุดท้ายโครงการต้องมีต้นทุนการกักเก็บคาร์บอนต่อตันที่ประหยัดมีประสิทธิภาพกว่าปัจจุบัน และต้องสามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ได้ 100 ปีขึ้นไปด้วย
ข้อมูลทั้งหมดของการรับสมัครจะถูกเปิดเผยอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 เมษายน 2021 นี้ ซึ่งตรงกับวันคุ้มครองโลก (Earth Day 2021) และจะจบการแข่งขันในวันคุ้มครองโลกปี 2025
… และล่าสุดก็มีเด็กไทย คือ แอนโทนี-ปิยชนม์ ภุมวิภาชน์ อายุ 15 ปี นักเรียนเกรด 9 ที่โรงเรียนนานาชาติเกนส์วิลล์ เชียงราย คิดค้นนวัตกรรมเครื่องดักจับคาร์บอน เสนอต่ออีลอน มัสก์ ในโครงการนี้ด้วยแล้ว
ข่าวจาก
xprize.org/prizes/elonmusk