จากนี้ไป ศาลยุติธรรมไทยจะเปิดให้ยื่นคำร้องออนไลน์ได้ 100% เพราะร่วมกับธนาคารกรุงไทย พัฒนาระบบ e-Filing V.3 เพื่อการเป็น “Digital Court” ยกระดับการทำงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลพร้อมขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี Blockchain
และยังนำไอทีเข้ามาช่วยหลายด้าน เพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้รวดเร็วมากขึ้น ช่วยลดขั้นตอนการทำงานให้น้อยลง รองรับปริมาณคดีความที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เช่นคดีแพ่ง คดีอาญา คดีภาษี คดีแรงงาน คดีทรัพย์สินทางปัญญา คดีการค้าระหว่างประเทศ คดีล้มละลาย คดีเยาวชนและครอบครัว คดีอาญาทุจริตประพฤติมิชอบ
ที่ผ่านมาคดีความที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมแต่ละปีนั้นสูงถึงปีละ 2,000,000 คดี และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
นั่นทำให้การจัดเก็บเอกสารก็ต้องมีการลงทุนสร้างห้องจัดเก็บ และซื้อตู้คอนเทนเนอร์มาใช้จัดเก็บเอกสาร คิดเป็นเงินจำนวนมหาศาล
ที่ผ่านมาสำนักงานศาลยุติธรรมมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้หลายด้าน มีการนำระบบไกล่เกลี่ยเพื่อให้คู่ความได้ตกลงกันมาใช้ในคดีแพ่ง ที่มีจำนวนราว 1.5 ล้านคดีต่อปี เป็นคดีผู้บริโภคราว 700,000 คดี
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบหมายจับหมายค้น ที่สามารถส่งผ่านระบบอีเมล รวมถึงการผัดฟ้องฝากขัง ที่ใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์
และสิ่งที่กำลังพัฒนาต่อคือระบบหมาย ที่ในอนาคตจะใช้เทคโนโลยี Biometric เช่น ระบบจดจำใบหน้า ลายนิ้วมือ เพื่อความแม่นยำในการระบุตัวตน
ส่วนระบบ e-Filing ของสำนักงานศาลยุติธรรมนั้น มีการพัฒนาเวอร์ชั่นแรกตั้งแต่ปี 2560 คดีความที่ใช้ระบบนี้เพียงแค่หลักพันคดี สำนักงานศาลยุติธรรมจึงพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวอร์ชั่น 2 ในปี 2561 และเวอร์ชั่น 3 ในปี 2562
ยอดผู้ใช้ระบบ e-Filing ทยอยเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนในช่วงที่ไวรัส Covid-19 ระบาด ผู้คนต้องลดการเดินทาง ทำให้มีคดีที่ยื่นผ่านระบบ e-Filing มากถึง 160,000 คดี โดยมีทนายความที่ลงทะเบียนในระบบจำนวน 9,500 คน
ปัจจุบัน e-Filing v.3 เปิดให้บริการประชาชนครอบคลุมทุกพื้นที่ รวม 164 ศาล และจะเปิดใช้ในคดีอาญาต่อไป (ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำร่องที่ศาลต้นแบบ)
และในระยะต่อไปจะเป็นการขยายไปใช้งานในศาลชำนาญพิเศษทั้งหมดภายในเดือนกันยายน 2563 โดยเริ่มจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก่อน
ทั้งนี้ ระบบ e-Filing Version 3 เป็นทางเลือกให้ทนายความสามารถยื่นคำฟ้องคำร้องขอได้โดยไม่ต้องเดินทางมาที่ศาลผ่านช่องทาง efiling3.coj.go.th/eFiling/ หรือ application COJ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทาง app store หรือ google play
ทั้งจำเลยยังสามารถยื่นคำให้การขอคัดถ่ายและดูเอกสารสำนวนคดีต่างๆได้ส่วนเจ้าหน้าที่ศาลก็สามารถตรวจสอบเอกสารยื่นคำฟ้องคำร้องพร้อมให้ความเห็นในระบบ
…ส่วนผู้พิพากษาก็สามารถพิจารณาสั่งคำฟ้องคำร้องผ่านระบบหรือติดตามคดีได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ในระบบe–Filing นั้น ทุกอย่างทำบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด พร้อมระบบ Case Information Online System (CIOS) ซึ่งช่วยให้การยื่นคำร้องหรือคำขอคัดถ่ายคำพิพากษาได้อย่างสะดวกมากขึ้น
โดยตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมาสำนักงานศาลยุติธรรมได้เก็บคำพิพากษาเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ประชาชนสามารถยื่นคำขอแบบออนไลน์ได้เลย
ส่วนธนาคารกรุงไทยนั้น ที่ผ่านมาได้ร่วมดูแลเรื่องธุรกรรมของสำนักงานศาลยุติธรรม และในการยื่นเอกสารต่อศาลนั้นต้องมีขั้นตอนการชำระเงินอยู่แล้ว เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าปรับต่างๆ
…ซึ่งธนาคารก็มีช่องทางชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และยังช่วยลดภาระของศาลในการจ่ายเงินคืนให้ประชาชนด้วย
โดยระบบจะรองรับการทำธุรกรรมจากทุกธนาคาร ทั้งบัตรเครดิต เดบิต หรือการชำระเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยธนาคารกรุงไทยได้เข้ามาช่วยพัฒนาในส่วนของ Front-end ที่ติดต่อกับประชาชน
ส่วนระบบ Back-end ยังเป็นความดูแลของสำนักงานศาลยุติธรรม โดยมีระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสูง พร้อมทีมงานที่ดูแลด้านความปลอดภัยไซเบอร์โดยเฉพาะ
ข่าวจาก
moneyandbanking.co.th/article/e-filling-digital-court-2409