ผมจำได้ว่าสองสามปีที่แล้วได้เคยเขียนบทความชิ้นหนึ่งที่มีหัวข้อคล้ายกัน ในเนื้อหาผมได้วิเคราะห์ถึงวิสัยทัศน์ของยักษ์ใหญ่ของโลกเทคโนโลยีทั้งสองไว้ว่า Apple มีแผนพัฒนาระบบปฏิบัติการหลักของตน (OS X สำหรับ Mac และ iOS สำหรับ iPhone/iPad) ให้เดินไปด้วยกันแบบคู่ขนาน กล่าวคือให้ทั้งคู่ทำงานเข้ากันได้อย่างราบรื่น แต่จะไม่มีวันที่ทั้งสองจะรวมร่างเป็นหนึ่งเดียวกัน ขณะที่ Microsoft ซึ่งตอนนั้นกำลังประชาสัมพันธ์ Windows 8 อย่างเต็มที่ ได้พยายามอย่างหนักที่จะแสดงให้เห็นว่า แท็บเล็ตและพีซีก็คืออุปกรณ์เดียวกันในลักษณะทูอินวัน โดยเห็นได้จากหน้าจอเริ่มต้น (Start Screen) ของ Windows 8 ที่รองรับการใช้งานระบบสัมผัส และยังตอกย้ำให้ทั้งโลกได้เห็นด้วยการเปิดตัว Surface แท็บเล็ตที่ทำงานได้เช่นเดียวกันกับโน้ตบุ๊ก นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการอุปกรณ์ชนิดที่ว่าชิ้นเดียวจบ
กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า แนวคิดของ Apple สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคได้มากกว่า iPhone ยังขายดีราวกับเทน้ำเทท่า ส่วน iPad แม้ว่ายอดขายจะแผ่วปลายในช่วงหลัง แต่ก็ยังเป็นทางเลือกลำดับต้นๆ
อย่างไรก็ตาม กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า แนวคิดของ Apple สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคได้มากกว่า iPhone ยังขายดีราวกับเทน้ำเทท่า ส่วน iPad แม้ว่ายอดขายจะแผ่วปลายในช่วงหลัง แต่ก็ยังเป็นทางเลือกลำดับต้นๆ สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการเข้าถึงแอพพลิเคชั่นระดับห้าดาวที่ทำงานอย่างไหลลื่น ส่วน Mac ก็ไปไกลถึงขั้นมีหน้าจอ Retina ความละเอียดสูงให้ได้ซื้อหากันแล้ว ตรงกันข้ามกับ Microsoft ที่เสียงตอบรับจาก Windows 8 ไม่ค่อยสู้ดีนัก เพราะผู้บริโภคไม่คุ้นเคยกับหน้าตาแบบใหม่ ส่วน Surface ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าเป็น Jack-of-all-Trades ที่ทำงานได้หลายอย่างก็จริง แต่ไม่ดีเลิศเลยสักอย่าง
Microsoft ซอฟต์แวร์ที่ใช้ได้กับทุกสิ่ง
ทันทีที่ Satya Nadella ซีอีโอคนล่าสุดของ Microsoft เข้ารับตำแหน่ง ความเปลี่ยนแปลงก็ได้บังเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ การตัดไขมันส่วนเกินออกไปจากสายการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขององค์กร เห็นได้จากการประกาศปลดพนักงานกว่า 7,800 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในฝ่ายพัฒนาสมาร์ทโฟน ที่ทำอย่างไรก็ไม่เคยตาม Apple และ Google ได้ทันเสียทีในแง่ของการยอมรับโดยคนหมู่มาก และหันมาให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมที่สร้างชื่อเสียงให้กับบริษัทมาอย่างยาวนาน เพื่อให้เข้ากับภารกิจของบริษัทที่ต้องการ “บูรณาการผลิตภาพ” (Reinvent Productivity) ให้กับผู้บริโภค
ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดแข็งที่สุดของ Microsoft ก็คือซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Windows และ Office ทั้งคู่คือไม้เด็ดที่คนทำงานออฟฟิศล้วนคุ้นเคย ดังนั้นวิสัยทัศน์ของบริษัทคือ ทำให้ซอฟต์แวร์ทั้งหลายเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากที่สุด และต้องสามารถใช้ได้ไม่ว่าจะรันภายใต้อุปกรณ์ใด Windows 10 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นล่าสุด จึงได้รับการออกแบบให้รันได้แทบทุกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ตั้งแต่พีซีขนาดเล็ก สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ประสบการณ์ที่ผู้ใช้งานจะได้รับจึงไม่ถูกจำกัดอยู่ภายใต้ฮาร์ดแวร์ชิ้นเดียวอีกต่อไป แนวคิดดังกล่าวได้รับการสนับสนุนด้วยคุณลักษณะเฉพาะที่หลากหลาย
![]() |
ฉบับที่ 200 เดือนสิงหาคมชำระเงินผ่านแอพฯ แชต รับตลาดโมบายล์ |
อาทิ การที่ผู้พัฒนาสามารถแปลงแอพพลิเคชั่นจาก Android และ iOS มาลง Windows Phone ได้โดยง่าย หรือ Continuum ที่ได้รับการออกแบบให้ใช้ประโยชน์จาก Universal App (คำใช้เรียกแอพฯ ที่สามารถรันได้ทั้งบนสมาร์ทโฟน พีซี แท็บเล็ต และ Xbox One) โดยแอพฯ จะสามารถขยายอินเทอร์เฟซให้เหมาะกับขนาดหน้าจอโดยอัตโนมัติ รวมทั้งการควบคุมที่สามารถใช้ได้ทั้งแบบสัมผัส หรือคีย์บอร์ดกับเมาส์
นอกจากนั้น การทำให้ชื่อของ Microsoft เข้าไปอยู่ในใจของผู้คนยังไม่ได้ถูกจำกัดไว้แต่กับการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้รันได้หลายอุปกรณ์เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการทำให้มันใช้ได้บนแพลตฟอร์มของคู่แข่งอีกด้วย ซึ่งเป็นวิธีที่บริษัทไม่เคยทำมาก่อน ยกตัวอย่างเช่น Office ที่สามารถใช้ได้ทั้งบน Android และ iOS ทำให้ผู้บริโภคที่มีความจำเป็นต้องใช้ชุดซอฟต์แวร์ดังกล่าวไม่ถูกบังคับให้ต้องใช้ Windows Phone อีกต่อไป หรือ Outlook ซึ่งตอนนี้ได้แปลงโฉมไปเป็นสุดยอดแอพพลิเคชั่นจัดการอีเมลที่ได้รับความชื่นชมอย่างล้นหลาม (บ้างว่าใช้ดีกว่า Gmail เสียด้วยซ้ำ) และสามารถใช้งานทั้งกับ iOS และ Android เช่นกัน ตลอดจนความเคลื่อนไหวเล็กๆ ซึ่งอาจไม่เป็นข่าวนัก ที่บริษัทได้เข้าซื้อกิจการสตาร์ทอัพผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นยอดนิยมอย่าง Wunderlist และ Sunrise แสดงให้เห็นว่า บริษัทต้องการเข้าถึงผู้ใช้งานอุปกรณ์พกพามากขึ้น ซึ่งก็ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจได้เห็นแอพฯ ใหม่ๆ ที่ทำให้ผู้บริโภคติดใจเช่นเดียวกับที่เคยทำสำเร็จมาแล้วกับ Windows และ Office
Apple ฮาร์ดแวร์เท่านั้นที่ครองโลก
ขณะที่ Microsoft มีวิสัยทัศน์ที่จะให้ผู้บริโภคคุ้นเคยกับแบรนด์ของตนผ่านทางความเข้ากันได้กับอุปกรณ์หลายประเภทและสารพันแอพฯ ทั้งหลายนั้น Apple ยังคงยืนพื้นอยู่ที่แนวคิดการพัฒนาฮาร์ดแวร์ของตนให้ดีเลิศเหนือคู่แข่ง ก่อนที่จะเสริมทัพด้วยซอฟต์แวร์เฉพาะที่ทำงานได้อย่างลื่นไหล โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้บริโภคติดใจ และยอมควักกระเป๋าซื้อฮาร์ดแวร์ของบริษัทเท่านั้น
อนาคตของคอมพิวเตอร์คือ อุปกรณ์พกพา ซึ่งสำหรับ Apple มันหมายถึงฮาร์ดแวร์ต่างๆ ที่ทำงานเข้ากันได้อย่างสวยงาม แต่สำหรับ Microsoft มันหมายถึงประสบการณ์ใช้งานซอฟแวร์ที่ข้ามผ่านอาณาจักรแห่งแพลตฟอร์มทั้งปวง
แนวคิดดังกล่าวไม่ใช่ของใหม่แต่อย่างใด เพราะเมื่อมองย้อนกลับไปก็จะพบว่า Apple ใช้หลักเดียวกันนี้มานานแล้ว ดังเห็นได้จาก iCloud ที่พร้อมซิงค์ข้อมูลพื้นฐานอย่างรูปภาพและรายชื่อผู้ติดต่อไปยังทุกอุปกรณ์ ของบริษัทที่รองรับ และ AirDrop ที่ให้ผู้ใช้แบ่งปันข้อมูลกับผู้ที่อยู่ใกล้เคียงผ่าน Wi-Fi และบลูทูธ คุณสมบัติดังกล่าวได้รับการพัฒนาไปอีกขั้นด้วย Handoff ที่ให้ผู้ใช้เริ่มงานที่อุปกรณ์หนึ่ง แล้วไปสานต่อให้เสร็จที่อุปกรณ์หนึ่ง เช่น เริ่มเขียนอีเมลบน iPhone แล้วกลับมาเขียนต่อจากเดิมได้ทันทีบน Mac หรือเปิดเว็บฯ บน Mac แล้วไปดูลิงก์เดียวกันต่อนี้บน iPad การใช้ iPad และ Mac ในการรับสายแทน iPhone ตลอดจน Instant Hotspot ที่ให้ผู้ใช้นำ iPad หรือ Mac เชื่อมต่อกับฮอตสปอตส่วนตัวได้ทันที เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแต่ทำให้ช่องว่างระหว่างอุปกรณ์พกพากับคอมพิวเตอร์ใกล้ชิดและ ทำงานสัมพันธ์กันมากขึ้น
Apple ยังคงนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้กับการพัฒนา Apple Watch ของตน สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ผู้ใช้ต้องมี iPhone ก่อนจึงสามารถใช้งานนาฬิกาข้อมือดังกล่าวได้ นอกจากนี้ฟังก์ชั่นที่เหลือไม่ว่าจะเป็นการรับข้อความ การติดตั้งแอพพลิเคชั่น หรือการตั้งค่าต่างๆ ล้วนต้องการทำงานร่วมกับ iPhone แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะความตั้งใจมาตั้งแต่แรกหรือ Apple Watch มีขนาดหน้าจอที่เล็กเกินกว่าที่จะทำอะไรด้วยตัวเองก็ตาม เพราะฉะนั้น มีความเป็นไปได้สูงมากว่าหาก Apple เปิดตัวอุปกรณ์ใหม่ใดๆ ออกมา ก็คงจะต้องมีฟังก์ชั่นทีเด็ดหรือไม้ตายที่มีแต่อุปกรณ์ของบริษัทจึงจะสามารถใช้ได้
สรุป
ปฏิเสธไม่ได้ว่า อนาคตของคอมพิวเตอร์คือ อุปกรณ์พกพา ซึ่งสำหรับ Apple มันหมายถึงฮาร์ดแวร์ต่างๆ ที่ทำงานเข้ากันได้อย่างสวยงาม แต่สำหรับ Microsoft มันหมายถึงประสบการณ์ใช้งานซอฟต์แวร์ที่ข้ามผ่านอาณาจักรแห่งแพลตฟอร์มทั้งปวง เพราะไม่ว่าจะเป็น Android, iOS หรือ Windows Phone ก็จะต้องมีสิทธิ์ใช้ประโยชน์จากสารพันแอพฯ อำนวยความสะดวกคนทำงานที่จะทยอยตามออกมาเป็นพรวน อันเป็นผลผลิตจากการทยอยซื้อสตาร์ทอัพต่างๆ
ด้วยแนวคิดนี้ ฮาร์ดแวร์จึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับ Microsoft อีกต่อไป ซึ่งตรงกันข้ามกับ Apple ที่เราคงได้เห็นฮาร์ดแวร์รูปร่างชวนหลงใหล บาง และเบากว่ารุ่นที่แล้วออกมาสะบัดผ้ายั่วยวนประชากรเงินในกระเป๋าเหมือนกับทุกปี สิ่งที่แน่นอนก็คือ Apple สามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาลจากแนวคิดของตน ส่วน Microsoft ก็ยังคงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์เช่นเดิม
Contributor
falcon_mach_v
สรนาถ รัตนโรจน์มงคล
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 48 และปริญญาโทจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รหัส 55 ปัจจุบันประกอบอาชีพที่ไม่เกี่ยวกับด้านไอที แต่ด้วยความชอบจึงได้มีงานเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้เสมอ สามารถติดตามอ่านได้ที่ www.bitwiredblog.com และชมเว็บไซต์ผลงานภาพถ่ายได้ที่ http://iviewphoto.me
Facebook: sorranart
Website: ontechz.blogspot.com