สตาร์ทอัพจะเดินหน้าไปได้ด้วยการลงทุนจากบรรดาผู้ลงทุนในรูปแบบของ VC และ Angel Investor ทาง Bangkok Venture Club จะเป็นเหมือนตัวกลางที่ช่วยประสานให้ทั้งสองฝั่งมาเจอกัน เพื่อเกิดโปรเจ็กต์และช่วยผลักดันวงการเทคสตาร์ทอัพในประเทศไทยให้เติบโตไปได้อย่างยั่งยืน
Bangkok Venture Club เป็นพื้นที่รวบรวมนักลงทุนรูปแบบของ Angel Investor ก่อตั้งโดย Mark D Wolf ที่ได้นำประสบการณ์จากการทำงานในคลับรูปแบบเดียวกันนี้ มามากกว่า 10 ปี มาก่อให้เกิดขึ้นเป็นรูปร่างในเมืองไทย ซึ่งในปัจจุบันมีนักลงทุนเข้าร่วมแล้วมากกว่า 100 ราย ทั้งไทยและต่างชาติ ที่มองหาสตาร์ทอัพหน้าใหม่ในประเทศไทยเพื่อทำการสนับสนุน
การลงทุนแบบ Angel
สุรวัฒน์ พรหมโยธิน กรรมการบริหาร Bangkok Venture Club หรือที่หลายคนรู้จักในแวดวงสตาร์ทอัพในฐานะ CEO ของสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จอย่าง STYLHUNT ได้เล่าถึงบทบาทการทำงานว่าภายใน Bangkok Venture Club จะมีนักลงทุนแบบแองเจิลที่มีความต้องการลงทุนมารวมกัน หน้าที่ของเราคือ การคัดกรองผู้ที่สมัครเข้ามา หรือออกไปค้นหาตามการประกวดสตาร์ทอัพต่างๆ เพื่อให้ทีมที่มีศักยภาพได้เข้าไปพิชชิ่งกับผู้ลงทุนที่เรามีอยู่ เรียกได้ว่าเป็นตัวกลางในการเชื่อมความสัมพันธ์และก่อให้เกิดการลงทุนขึ้นนั่นเอง
“การลงทุนของคลับเราไม่ได้มีการกำหนดตายตัวว่าจะต้องลงกับสตาร์อัพระดับไหน เริ่มตั้งแต่ระดับหมื่นเหรียญไปจนถึงแสนเหรียญก็มี ต้องบอกก่อนว่าเราไม่ใช่กองทุน ผมเองมีหน้าที่เหมือนแมวมอง คัดเลือกสตาร์ทอัพให้แมชต์กับผู้ลงทุน ซึ่งก็ดูว่าใครจะเหมาะกับใคร เพราะในกลุ่มของเรามีความหลากหลายตั้งแต่ด้านไฮเทค แบงกิ้ง ไฟแนนซ์ และอื่นๆ ซึ่งสิ่งที่สตาร์ทอัพต้องการจริงๆ ไม่ใช่แค่เงิน แต่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาเสริมกันด้วย นี่คือหน้าที่ของเราที่จับทั้งสองฝั่งให้เข้ามามีโอกาสเจอกัน”
ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้มีเกิดขึ้นทั่วโลก และในประเทศรอบๆ ของเราก็มีเช่นเดียวกัน ในปัจจุบันทาง Bangkok Venture Club ก็มีการติดต่อกันกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อช่วยให้เกิดการลงทุนได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
มุมมองการลงทุนที่แตกต่างระหว่าง VC และ Angel
คำนิยามของสตาร์ทอัพหากแปลตรงตัวก็คงจะหมายถึงธุรกิจที่เกิดใหม่ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นอะไรก็ได้ แต่ในวงการของเราจะโฟกัสไปยังเทคสตาร์ทอัพ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกอย่างต้องไฮเทคโนโลยีมากๆ เพียงแค่มีการประยุกต์ใช้ได้ ซึ่งชิ้นงานเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนไปมาอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสขยายตัวไปอย่างก้าวกระโดด ด้วยปัจจัยแวดล้อม อย่างการใช้งานโมบายล์ อินเทอร์เน็ต และอื่นๆ
สิ่งที่สตาร์ทอัพต้องการจริงๆ ไม่ใช่แค่เงิน แต่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาเสริมกันด้วย นี่คือหน้าที่ของเราที่จับทั้งสองฝั่งให้เข้ามามีโอกาสเจอกัน
โลกของการลงทุนในสตาร์ทอัพจะแบ่งออกเป็น Venture Capital หรือ VC ที่เป็นรูปแบบการบริหารกองทุนกับ Angel ที่เป็น การลงทุนแบบส่วนตัวไม่ใช่รูปแบบของสถาบัน ซึ่งกลุ่มนี้จะไม่ได้ทำเพื่อหวังผลตอบแทนทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่จะใช้ความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วย และกระตุ้นความเป็นผู้ประกอบการให้เกิดขึ้น ซึ่งผู้ลงทุนเหล่านี้จะมีความอินกับวงการเทคสตาร์ทอัพอย่างมาก และมีความยืดหยุ่นไม่ได้มีกำหนดระยะเวลาเป้าหมายที่ตายตัวเท่ากับการลงทุนของ VC
การเกิดของสตาร์ทอัพจะแบ่งออกเป็นสองแบบคือ นวัตกรรมเกิดขึ้นแล้วในประเทศอื่นที่ถูกนำมาประยุกต์ให้เข้ากับประเทศนั้นๆ และนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นขึ้นใหม่เพื่อตอบโจทย์เฉพาะพื้นที่นั้นๆ เป็นทางเลือกใหม่ที่ไม่สามารถลอกเลียนได้แต่อาจจะถูกนำไปประยุกต์ได้ในอนาคต ซึ่งผู้ลงทุนบางรายก็เลือกลงเงินในแบบแรกเพราะเป็นการป้องกันความเสี่ยงในระดับหนึ่ง
Angel เป็นการลงทุนแบบส่วนตัวไม่ใช่รูปแบบของสถาบัน ซึ่งกลุ่มนี้จะไม่ได้ทำเพื่อหวังผลตอบแทนทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่จะใช้ความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วย และกระตุ้นความเป็นผู้ประกอบการให้เกิดขึ้น
![]() |
ฉบับที่ 213 เดือนกันยายนLife of Angel & Venture Capital เส้นทางที่ไกลกว่าเงินทุน |
ปัจจัยของการเลือกลงทุน เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพ
ซึ่งโดยทั่วไป หลักการคัดกรองและเลือกลงทุน คุณสุรวัฒน์ได้ กล่าวถึง ปัจจัยหลักๆ ที่นักลงทุนแบบ Angel ใช้ในการตัดสินใจคือต้องทำให้เกิดความตื่นเต้น มีอารมณ์ร่วม เพราะผู้ลงทุนเหล่านี้ต้องการตอบแทนและสนับสนุนผลงานดีๆ ให้กับวงการมากกว่าการแจกเงินเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเบื้องต้น ที่สำคัญดังนี้
- คน การทำงานระหว่างคนสองฝั่งที่ไม่ เคยมีความสัมพันธ์มาก่อนเรื่องของ เคมีที่เข้ากัน ทัศนคติในการทำงานเป็นเรื่องสำคัญในลำดับแรกๆ ที่นักลงทุนจะใช้ในการตัดสินใจ
- ทีม เพราะงานสตาร์ทอัพจำเป็นต้องมีความครบเครื่อง และตอบโจทย์ได้ทุกด้าน สมาชิกในทีมที่หลากหลายและสามารถขับเคลื่อนผลงานได้จะเสริมให้งานชิ้นนั้นเติบโตได้ดีขึ้น
- ไอเดีย แน่นอนว่าสตาร์ทอัพเป็นงานที่ขายความคิดผสมกับนวัตกรรม การสร้างชิ้นงานที่ตอบโจทย์ปัญหาจึงเป็นสิ่งสำคัญ
- ช่องทางเข้าหาลูกค้า ส่วนสำคัญอย่างน้อยมีกลยุทธ์ ซึ่งหลายคนจะเข้าใจผิดว่าสร้างอะไรที่ดีแล้วคนจะเข้าหาเอง ซึ่งมันไม่ใช่ส่วนนี้ต้องมีวิธีการให้คนเข้ามารู้จักได้
- แนวโน้มการเติบโต เป็นอีกข้อสำคัญที่จะระบุแนวโน้มในอนาคตของผลงานนั้นๆ ซึ่งอาจจะไม่ใช่รูปแบบของรายได้กำไร แต่อาจจะเป็นจำนวนผู้ใช้งานการเติบโตอื่นๆ ที่จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงลง
ปัจจัยดังกล่าวนี้ หากถูกเสนอในขั้นตอน การพิชชิ่งอย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ ตรงกับความสนใจของผู้ลงทุนนั้นๆ ก็จะมีโอกาสสูงที่จะได้รับเงินลงทุน เนื่องจากมีที่มาที่ไปและวางแผนการเติบโตได้อย่างเห็นภาพชัดเจน โดยนักลงทุนแบบ Angel จะเลือกลงทุนตั้งแต่ระดับ Early Stage ซึ่งต่างจาก VC ที่จะมองขึ้นมาอีกระดับเพื่อหาแนวโน้มก่อน แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองกลุ่มก็สามารถลงทุนพร้อมๆ กันได้
โดยจุดประสงค์ของบรรดานักลงทุนเองนั้นก็เพื่อผลักดันผลงานและนวัตกรรมที่มาจากแนวคิดใหม่ ให้เติบโตและเปลี่ยนโลกไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และเชื่อยังว่าสตาร์ทอัพดาวรุ่งในประเทศไทยที่พร้อมแจ้งเกิดและสร้างสรรค์ผลงานเพื่อพัฒนาประเทศของเราไปได้ไกลอย่างแน่นอน