จากการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย มีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาเพื่อช่วยลดปัญหาและช่องว่างในการใช้ชีวิตให้สะดวกสบายขึ้นผ่านเทคโนโลยี หลายแพลตฟอร์มไม่ได้มีประโยชน์ในแง่ของผู้บริโภคเท่านั้น
แต่ยังสามารถช่วยเหลือชุมชนในการโปรโมทกิจกรรม และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ให้กระจายออกไป พร้อมนักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงชุมชนเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น
ที่กล่าวมาข้างต้นเกิดจากโครงการ Smart Village (สมาร์ท วิลเลจ) จัดโดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือทีเส็บ ที่กระตุ้นให้บริษัทเดินทางไปจัดกิจกรรม Company Outing และ CSR trip ในพื้นที่ชุมชนของไทยที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต รวมทั้งผลิตผลสินค้าของชุมชน ทั้งในรูปแบบเชิงธุรกิจและสัมมนา เป็นการกระจายโอกาส สร้างรายได้ให้แก่เศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น
ขณะเดียวกัน มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาชุมชน โดยค้นหาชุมชนที่สามารถจัดกิจกรรมไมซ์ รองรับลูกค้าองค์กรขนาด 20 คนขึ้นไปได้ และมีศักยภาพทั้ง 4 มิติ ได้แก่ Smart Culture มีวัฒนธรรมหรือรากฐานของชุมชนผสมผสานกับนวัตกรรมจนกลายเป็นเสน่ห์ใหม่ของท้องถิ่น, Smart Community สามารถนำนวัตกรรมเข้ามาเป็นเครื่องมือในการส่งเสริม, Smart Experience มีวิธีการใหม่ในการสร้างประสบการณ์แบบเดิม และ Smart MICE ความพร้อมของชุมชนในการจัดกิจกรรม
จากการคัดเลือกชุมชนทั่วประเทศจนได้ 4 ชุมชนต้นแบบ พร้อมดึง 11 สตาร์ทอัพ ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อเผยแพร่ประสบการณ์ กิจกรรม แหล่งท่องเที่ยว และอัตลักษณ์ท้องถิ่นของชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดธุรกิจไมซ์ในประเทศ ซึ่งตลอดการดำเนินโครงการได้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยแบ่งการทำงานร่วมกันเป็น 4 ทีม ประกอบด้วย
1.ชุมชนสวนผึ้ง จ.ราชบุรี โดยมีสตาร์ทอัพ Happy Famers แพลตฟอร์มสำหรับเกษตรกรไทย นำสินค้าของชุมชนมาขายผ่านช่องทางออนไลน์, Take me Tour แพลตฟอร์มสื่อกลางค้นหาไกด์ท้องถิ่นเพื่อนักเดินทางและกลุ่มองค์กร วางแผนการเดินทาง สร้างโปรแกรมทัวร์โปรโมทชุมชนให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงง่ายขึ้น และแพลตฟอร์มรวบรวมกิจกรรมอีเว้นท์ Tickettail โดยชุมชนสามารถนำกิจกรรมของท้องถิ่นมาลงในเว็บไซต์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถจองตั๋วผ่านออนไลน์
2.ชุมชนปากแพรก จ.กาญจนบุรี ร่วมกับสตาร์ทอัพ Trippacker แพลตฟอร์มค้นหาแหล่งท่องเที่ยวไทย สร้างกิจกรรม Company Outing, ZipEvent แพลตฟอร์มรวบรวมอีเว้นท์ นำเสนอกิจกรรมของชุมชนให้สามารถจองผ่านออนไลน์ได้ และ Local Pillow แพลตฟอร์มจองที่พัก นำข้อมูลที่พัก โฮมสเตย์ท้องถิ่น นักท่องเที่ยวเข้าถึงที่พักและจองผ่านเว็บไซต์
3.ชุมชนดอยแม่สลองนอก จ.เชียงราย โดยมีสตาร์ทอัพ Local Alike แพลตฟอร์มวางแผนการเดินทางท้องถิ่น จัดทริปการเดินทางสำหรับผู้ที่สนใจอยากไปเที่ยว, VT Thai แพลตฟอร์มโปรโมทสินค้าชุมชน เพิ่มรายได้ให้แก่ชาวบ้าน และแพลตฟอร์มค้นหาตั๋วเครื่องบิน Penguint จัดแพลนการจองตั๋วเครื่องบินเพื่อการเดินทางไปยังชุมชน
4.ชุมชนวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ร่วมกับสตาร์ทอัพ Hivesters แพลตฟอร์มสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบใหม่ จัดกิจจกรรมที่ไม่ซ้ำใครในชุมชน, Veget Daily แพลตฟอร์มขายสินค้าออแกนิก ขายผักจากชุมชนพร้อมการจัดส่ง และ ZipEvent นำกิจกรรมท่องเที่ยวท้องถิ่นมาไว้บนเว็บไซต์ นักท่องเที่ยวสามารถจองตั๋วได้ทันที
โครงการดังกล่าว นับว่าเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนดำเนินธุรกิจบนความคิดสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรม เข้ากับเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน ทั้งยังใช้เทคโนโลยีในงานบริการอย่างการจองที่พักในชุมชนผ่านเว็บไซต์ หรือโปรโมทกิจกรรม ขายสินค้าท้องถิ่น กระจายข่าวสารชุมชนผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ นับว่าเป็นการให้ชาวบ้านเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีให้เกิดต่อประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน