ตลาดโมบายล์ปี 2017 เน้น 4 กลุ่มนักช้อป

Mobile-Commerce

แพน จรุงธนาภิบาล Marketing & Development Manager GroupM (Thailand)

คนไทยใช้โทรศัพท์มือถือจนกลายเป็นอุปกรณ์หลักของชีวิต แต่ในมุมของธุรกิจ E-Commerce นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องรับมือและต้องหากลยุทธ์ เพื่อความอยู่รอดตามการใช้งานของผู้บริโภค

พฤติกรรมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยมีมากกว่า 44 ล้านคน ส่วนใหญ่ใช้งานผ่าน Mobileโดยเฉพาะการช้อปปิ้งออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนเกิดเป็นพฤติกรรมใหม่ในการซื้อสินค้า และใช้เวลาตัดสินใจในการซื้อลดลงแค่ปลายนิ้ว

เจาะพฤติกรรมผู้บริโภคกับการช้อปปิ้งออนไลน์
แพน จรุงธนาภิบาล Marketing & Development Manager GroupM (Thailand) ผู้ที่อยู่ในสายการตลาดและสื่อดิจิทัล รวมถึงสามารถวิเคราะห์การทำธุรกิจ E-Commerce เผยว่า จากการวิจัยพฤติกรรมนักช้อปออนไลน์ เห็นถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในช่วงปีที่ผ่านมาในการซื้อสินค้าผ่านสมาร์ทโฟน สามารถแบ่งกลุ่มผู้บริโภคที่เรียกว่า “ Mobile Shopper” ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1. The Invisible Shoppers (เดอะ อินวิซิเบิล ช้อปเปอร์) กลุ่มนักช้อปล่องหน ที่รู้สึกไม่มั่นใจ หรืออายเมื่อต้องเข้าไปในร้านค้าโดยตรง ทำให้ชอบซื้อของออนไลน์เพราะไม่อยากเจอคนขาย และคนทั่วไป เป็นกลุ่มที่ซื้อของเพื่อพัฒนาตนเอง มีปมด้อยอะไรบางอย่าง เช่น ซื้อน้ำยาปลูกผม การซื้อผ่านออนไลน์ทำให้หาข้อมูลเองได้ ไม่ต้องไปเจอคนขาย การจัดส่งสินค้าที่ไม่ต้องเจอใคร และข้อมูลต้องเป็นความลับ

2. The Progressive Leaders (เดอะ โปรเกรสซีฟ ลีดเดอร์) กลุ่มชอบความล้ำหน้าตลอดเวลา เป็นคนนำเทรนด์ นำกระแส ชอบซื้อของออนไลน์ เพราะสินค้าในร้านค้าทั่วไปไม่มีขาย รวมถึงให้ความสำคัญกับสถานะทางสังคม ชอบแชร์สเตตัสสินค้าใหม่ก่อนใคร ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยทำงาน ต้องการสินค้า หรือบริการที่ตอบโจทย์แบบเรียลไทม์ ส่งเสริมสถานะหน้าตาทางสังคม

3. The Price & Value Seekers (เดอะ ไพร์ แอนด์ แวลู ซีกเกอร์) กลุ่มครอบครัว โดยเฉพาะคนที่เป็นแม่ เลือกซื้อของออนไลน์เพราะราคาถูกและคุ้มค่าในการซื้อ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นหลัก เช่น การซื้อผ้าอ้อมสำหรับลูก จะเลือกจากแฟนเพจที่ขายสินค้าแบบเหมา ซื้อทีเดียวแต่ใช้ได้นาน ราคาถูกกว่าการซื้อตามห้างสรรพสินค้า รวมถึงชอบโปรโมชั่นที่คุ้มค่า การจ่ายเงินที่สะดวก และมีบริการจัดส่งฟรี

4. The Self Spoilers (เดอะ เซฟ สปอยเลอร์) กลุ่มวัยรุ่นเอาแต่ใจ ชอบซื้อของใหม่ๆ ตลอดเวลา ไม่ชอบใช้ของซ้ำ ตัดสินใจซื้อสินค้าจากความสุขในขณะซื้อ ไม่สนว่าสินค้ามาจากแบรนด์ไหน แต่ต้องเกิดความสนุกที่จะซื้อ สินค้ามีราคาไม่แพง แต่จะซื้อบ่อย ที่สำคัญต้องการสินค้าใหม่ๆ พร้อมมีโปรโมชั่นร่วมด้วย

Mobile-Commerce

เงินสดเปลี่ยนเป็น Virtual Money เกิดการใช้จ่ายตลอดเวลา
นอกเหนือจากพฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์แล้วนั้น แพน ยังมองในเรื่องของรูปแบบเงินที่เปลี่ยนไปเป็น “Virtual Money” การเงินที่เสมือนจริง โดยคนกรุงเทพฯ จะเปลี่ยนไปอยู่บนบัตรเดบิต เครดิต บัตรบีทีเอส บัตร เอ็มอาร์ที เป็นต้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความยุ่งยากในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้รวดเร็วขึ้น ไม่จำเป็นต้องพกเงินสด และประหยัดเวลา

สำหรับคนต่างจังหวัดที่มีประสบการณ์ใช้อินเทอร์เน็ตครั้งแรกผ่านมือถือ พวกเขาจะมีประสบการณ์ซื้อของผ่านมือถือด้วยเช่นกัน ความสะดวกสบายที่มีมากกว่าการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์ ทำให้โอกาสที่จะซื้อของเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย และมองเงินอยู่บนมือถือเป็นเหมือนกระเป๋าเงินใบหนึ่ง จึงเริ่มมีการใช้แอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับการเงินมากขึ้น

“เมื่อรูปแบบของเงินเปลี่ยนไป จากเงินสดเป็น e-Money ไม่จำเป็นที่ต้องไปเดินจ่ายตลาด จึงหันมาซื้อในโซเชียลมีเดีย หรืออินเทอร์เน็ต และเงินก็พร้อมโอน ส่งผลให้รูปแบบการช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้าถูกเปลี่ยนเป็นเว็บไซต์แทน”

หากดูจากตลาด E-Commerce ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 10-20 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี และเทียบกับพฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์ทั้ง 4 กลุ่ม ของเหล่า Mobile Shopper นั้น เห็นได้ว่า “Mobile Commerce” เป็นคำตอบของธุรกิจ E-Commerce ในปี 2017 ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้ตลอดเวลา หากเป็นเมื่อก่อน ก่อนนอนคงจะดูหนัง ฟังเพลง แต่ตอนนี้พบว่า เพียงเข้าไปดูเฟซบุ๊กเล่นๆ กลับได้สินค้า 2 ชิ้น เกิดการใช้จ่าย แม้ว่าจะอยู่บนเตียงนอน

สร้างแพลตฟอร์มตลาดบนมือถือ รับมือพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค
ทั้งนี้ แพน ยังแนะวิธีการสร้างแบรนด์ในการรองรับตลาดบนมือถือด้วยว่า ธุรกิจจำเป็นจะต้องสร้าง “Market Platform” ในการเข้าถึงการซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์บนสมาร์ทโฟน ทำให้เกิดการดูสินค้า เลือกสินค้า หรือว่าเข้าหาสินค้า ฉะนั้นผู้บริโภคสามารถเจอกับสินค้าตลอดเวลา หากสามารถพาสินค้าให้อยู่ตรงจุดที่เหมาะสมและมีปุ่มกดซื้อได้ทันที เชื่อว่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การซื้อง่ายขึ้น

ในขณะที่ร้านขายปลีก หรือตลาดนัด อาจต้องเปลี่ยนตัวเองไปสู่รูปแบบของโซเชียลมีเดีย เริ่มเห็นจากตลาดต่างจังหวัดมีการรวมกลุ่มตั้งเป็นแฟนเพจโดยเฉพาะ เช่น เพจขอนแก่นขายของดี ซึ่งจะเป็นพื้นที่ให้คนขอนแก่นเอาของมาขาย หรือบริการในจังหวัดขอนแก่น ทำให้แบรนด์เล็กๆ สามารถเข้าถึงกลุ่มคนในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง ขณะที่ผู้ให้บริการรายใหญ่อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องการขนส่งที่เข้าไม่ถึงในบางพื้นที่

“การช้อปปิ้งออนไลน์ทุกวันนี้ทุกคนมีความเชื่อมั่น และกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว จะเห็นได้ว่า หน้าร้านกำลังจะกลายเป็นเพียงโชว์รูม ด้วยพื้นที่จำกัดกว่าในออนไลน์ อาจไม่เจอสิ่งของที่อยากได้หมดทุกอย่าง แต่จะหาได้จากอินเทอร์เน็ต หรือมีสินค้าใกล้เคียงที่ทดแทนได้”

แม้ว่าคนจะสามารถเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้น แต่ก็ทำให้มีความกังวลมากขึ้นตามเช่นกัน ทำให้มีการหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่จะหาข้อมูลตลอดเวลา เพราะอยากรู้ว่าสินค้าเป็นอย่างไร หน้าตาเป็นอย่างไร รวมไปถึงคนที่ซื้อไปแล้วใช้เป็นอย่างไร คนที่ใช้แล้วมีความรู้สึกอย่างไร เพราะฉะนั้นการซื้อของทุกวันนี้ผู้บริโภคคิดมากขึ้น แต่ใช้เวลาซื้อเพียงเสี้ยวนาที

Mobile-Commerce

ที่มา : OTA

นอกจากนี้ ลูกค้าไม่ได้มองแค่ว่าซื้อ-ขายครั้งเดียวจบ แต่เขาจะต้องได้ของที่ดีและมีคุณภาพจริงๆ ผ่านบริการแบบครบวงจร ทั้งในเรื่องของเพย์เมนต์ ต้องมีรูปแบบการจ่ายเงินที่หลากหลายพร้อมมีธนาคารรองรับ มีบริการเดลิเวอรี่จัดส่งสินค้าเข้าถึงทุกพื้นที่ และตีกลับสินค้าหากไม่พึงพอใจ

รวมถึงลูกค้าที่ซื้อของออนไลน์เริ่มกลัวข้อมูลส่วนตัวหลุดไปบนอินเทอร์เน็ต ในฐานะของคนขายอาจต้องมีวิธีการเก็บข้อมูลความลับของลูกค้า หรือว่ามีทางเลือกโดยไม่ต้องโชว์ตัวตนในโซเชียลฯ แต่สามารถซื้อของได้

ที่สำคัญแบรนด์ต้องคำนึงถึงความหลากหลายของกลุ่มผู้บริโภค และลงลึกไปถึงความแตกต่างของแต่ละกลุ่ม แต่ละบุคคล อีกทั้งอาจทำการตลาดแบบ Personalize (เพอร์ซันนัลไลซ์) เพื่อตอบโจทย์ความชื่นชอบในสินค้า บริการ และโปรโมชั่นที่ต่างกัน

Mobile-Commerce

ศิวัตร เชาวรียวงษ์ CEO GroupM (Thailand)

ทุกวัยใช้สมาร์ทโฟนสูงขึ้น ส่งผลโฆษณาดิจิทัลปรับตาม
หากดูว่าวงการดิจิทัลเติบโตอย่างไร GroupM เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่เป็นมีเดียเอเยนซี่ เปิดรับงานโฆษณาในสายงานดิจิทัลทุกแขนง โดย ศิวัตร เชาวรียวงษ์ CEO GroupM (Thailand) ได้ให้ความเห็นว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า ทุกวัยใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเสพคอนเทนต์ สื่อโซเชียลฯ รวมทั้งการใช้งานในชีวิตประจำวัน อย่างในปีที่ผ่านมาเริ่มใช้งานเสิร์ช การโอนเงินผ่านมือถือ และในปีนี้มีความเชี่ยวชาญการใช้สมาร์ทโฟนและสื่อดิจิทัลด้านต่างๆ ที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น

ด้วยราคาสมาร์ทโฟนลดลงผู้บริโภคสามารถจับต้องได้ ส่งผลให้เข้าถึงสื่อดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือเริ่มมีทัศนคติที่ดี มองว่าเป็นของที่มีไว้ใช้งานไม่ใช่มีไว้โชว์สถานะทางสังคม และค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมของคน เกิดการยอมรับและใช้เป็นชีวิตประจำวัน

จากปัจจัยดังกล่าว รวมถึงข้อมูลอ้างอิงตัวเลขของ DAAT คาดว่า ในปี 2017 แนวโน้มเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลจะปรับตัวสูงขึ้นอีก 24 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้มูลค่าตลาดสื่อโฆษณาดิจิทัลไทยมีมูลค่าแตะหนึ่งหมื่นล้านบาท (ราว 11,774 ล้านบาท) เป็นครั้งแรก

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

Jet.com ปรับใหญ่-สะท้อนเทรนด์เว็บช้อปปิ้งยุคนี้

เว็บช้อปปิ้ง Jet.com ปรับระบบใหม่ แสดงสินค้าต่างๆกันไปตามเมือง, ต่างกันไปตามหมวด เช่นหมวดเสื้อผ้าจะมีรูปและคลิปคนใส่จริง, และสับเปลี่ยนหน้าเว็บตามเวลากลางวัน-กลางคืนด้วย