หนึ่งในปัญหาใหญ่ของการใช้งานโดรนก็คือ ระยะเวลาในการสูบแบตเตอรี่เพื่อใช้เป็นพลังงานในการขับเคลื่อน ซึ่งเหล่านักพัฒนาโดรนในเชิงพาณิชย์ต่างก็มองหาหนทางที่จะช่วยแก้ปัญหานี้มาโดยตลอดซึ่งก็ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมมากนัก แต่ตอนนี้ได้มีกลุ่มนักวิจัยเสนอโซลูชันที่จะช่วยลดอัตราการใช้พลังงาน ด้วยการเพิ่มความสามารถให้โดรนอ่านแผนที่ลมได้แล้ว
งานวิจัยแผนที่ลมสำหรับโดรนนี้ ได้รับการพัฒนาโดยกลุ่ม Robust Robotics Group ซึ่งเป็นทีมวิจัยที่อยู่ภายใต้สังกัดของมหาวิทยาลัย MIT โดยมุ่งเป้าหมายเพื่อขยายขีดจำกัดด้านการบินของโดรนให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่มความฉลาดในการอ่านกระแสของลมในแต่ละพื้นที่ แล้วจำลองเส้นทางการเคลื่อนที่โดยอิงประโยชน์จากลมเพื่อไปให้ถึงจุดหมายโดยใช้ลดการใช้พลังงานลงในเส้นทางที่สูญเปล่าน้อยที่สุด โดยทีมวิจัยได้ทำการสร้างอัลกอริทึมที่อิงกับหลักการของพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวน (CFD) ซึ่งเมื่อบวกกับการแสกนพื้นที่ด้วยแสงเลเซอร์เพื่อสร้างแผนที่จำลองพื้นผิวแบบสามมิติ ตัวโดรนก็จะสามารถเดินทางไปยังจุดหมายด้วยการประหยัดพลังงานแบตเตอรี่ได้มากถึงราวๆ 39 เปอร์เซ็นต์ เมื่อบินอยู่ในพื้นที่ที่มีความเร็วลมระดับ 10 เมตรต่อวินาทีขึ้นไป แถมยังช่วยลดระยะเวลาการบินสู่เป้าหมายได้มากขึ้นอีกด้วยเนื่องจากไม่จำเป็นต้องต้านลม
ทั้งนี้ หากการทดสอบเป็นไปได้อย่างราบรื่น ทางทีมวิจัยก็คาดหวังจะประยุกต์ใช้อัลกอริทึมนี้ เพื่อพัฒนาให้ตัวโดรนสามารถคำนวนการเคลื่อนที่ได้โดยอัตโนมัติทั้งภายในพื้นที่เปิดโล่งกว้างที่มีกระแสลมแปรปรวน เพื่อเป้าหมายในการทำหน้าที่สำรวจหรือปฏิบัติการกู้ภัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในพื้นที่ต่างๆ ได้ยาวนานยิ่งขึ้นนั่นเอง