เทรนด์ของการเลือกใช้พลังงานทดแทนนั้นเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบอาคารที่สามารถใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ได้อย่างเต็มรูปแบบ หรือรถยนต์พลังงานไฟฟ้าระดับคอนซูเมอร์ที่ทำยอดจำหน่ายไปได้ไม่น้อย และด้วยงานวิจัยล่าสุดนี้เองก็มีการสร้างใบไม้เทียมที่สามารถสร้างพลังงานได้ยิ่งกว่าใบไม้จริงๆ เสียอีก
Bionic Leaf 2.0 คือชื่อเล่นของผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด โดย Daniel Nocera หัวหน้าทีมวิจัยได้เปิดเผยว่า เจ้าใบไม้เทียมตัวนี้ สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศมาใช้งาน เช่นเดียวกับกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง แต่หลักการทำงานของมันจะใช้ขวดบรรจุน้ำที่มีแบคทีเรียพิเศษผสมอยู่ โดยขวดน้ำนี้จะเชื่อมต่อกับแผ่นขั้วไฟฟ้า 2 ขั้วจุ่มไว้ และเชื่อมต่อกับแผงที่ใช้รับแสงอาทิตย์อีกที ดังนั้นเมื่อใบไม้เทียมได้รับแสง ตัวใบไม้จะทำการแยกองค์ประกอบของน้ำได้เป็นก๊าซออกซิเจนและก๊าซไฮโดรเจน หลังจากนั้นจึงเป็นบทบาทของแบคทีเรีย “Ralstonia eutropha” ที่ถูกตัดต่อพันธุกรรมมาเป็นพิเศษให้สามารถใช้ก๊าซไฮโดรเจนที่บวกกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมาทำให้ตัวเองเจริญเติบโต และก่อเกิดเป็นเชื้อเพลิงเคมีชนิดเหลวออกมาในที่สุด
อย่างไรก็ดี ทางทีมวิจัยเองก็ได้กล่าวว่า ความท้าทายของโครงการนี้ อยู่ที่การแก้ปัญหาของเพาะเลี้ยงเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia Eutropha ให้เจริญเติบโตได้ดีในน้ำที่เป็นส่วนประกอบของใบไม้เทียม ซึ่งทีมวิจัยได้เลือกใช้น้ำที่มีโคบอลต์เป็นองค์ประกอบพื้นฐานซึ่งส่งผลให้ตัวแบคทีเรียสามารถแพร่พันธุ์ได้ดียิ่งกว่าเดิม โดย Daniel ได้เคลมว่า Bionic Leaf 2.0 สามารถเปลี่ยนแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานเหลวด้วยประสิทธิภาพที่10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าใบไม้จากพืชธรรมชาติ ที่มีประสิทธิภาพเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นอีกด้วย ซึ่งทีมวิยจัยมีแผนที่จะใช้มันเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ราคาไม่แพงในประเทศกำลังพัฒนาในอนาคต