สหรัฐฯ วางแผนสร้างไฟเบอร์ลอยน้ำไว้ใช้ในสงคราม
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ก็ย่อมมาพร้อมกับพัฒนาการของการทำสงคราม โดยเฉพาะในโลกยุคดิจิทัลที่เพียงชิงข้อได้เปรียบด้านการส่งผ่านข้อมูลก็แทบจะตัดสินชัยชนะของสงครามได้เลยทีเดียว และเพื่อชิงความได้เปรียบด้านการสื่อสารในภาวะไม่ปกตินี้เอง สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา (DARPA) ก็ได้ประกาศเปิดตัวเทคโนโลยีล่าสุดสำหรับการส่งข้อมูลทางทะเลออกมาในที่สุด
TUNA (Tactical Undersea Network Architecture) คือชื่อของโครงการพัฒนาอุปกรณ์เพื่อการสื่อสารผ่านใยแก้วนำแสงที่ “ลอยได้” อยู่กลางมหาสมุทร แทนที่จะทำการฝังสายไฟเบอร์ลงในทะเล โดยที่ปลายทั้งสองด้านของสายใยแก้วจะมีตัวแปลงสัญญาณเป็นคลื่นวิทยุลอยที่ผิวน้ำเพื่อติดต่อสื่อสารกับหน่วยรบ ซึ่งอาจจะเป็นเครื่องบินหรือเรือที่ปฏิบัติงานอยู่ในบริเวณโดยรอบนั้นได้อย่างครอบคลุม โดยการทำงานทุกอย่างจะพึ่งพาไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานคลื่นจากทุ่นลอยน้ำแบบพิเศษในการล่อเลี้ยงอุปกรณ์ทั้งหมด ซึ่งทาง DARPA คาดหวังว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้จะสามารถทำงานทดแทนการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมได้ ในกรณีที่ต้องการความปลอดภัยในการสื่อสารสูง เนื่องจากข้าศึกอาจสามารถดักจับสัญญาณหรือทำลายการทำงานของดาวเทียมที่ใช้ส่งข้อมูลได้ ทำให้ระบบใยแก้วนำแสงเข้ามาตอบโจทย์ในยามสงครามได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่า
โดยความคืบหน้าของโครงการ TUNA นี้ ทาง DARPA ได้เผยว่ามีการออกทดสอบอุปกรณ์ดังกล่าวกลางทะเลจริงเรียบร้อยตามแผนระยะแรกแล้ว และในขั้นถัดๆ ไปจะเริ่มพัฒนาระบบการเชื่อมต่อการส่งผ่านข้อมูลผ่านโซลูชัน Link 16 ของเพนตากอน ที่สามารถเข้ารหัสข้อมูลด้านความมั่นคงได้อย่างรัดกุมในการในงานจริงเพื่อรองรับเหตุการณ์ไม่สงบที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อไป