ช่วงปีนี้แอพฯ ประเภทหนึ่งที่มาแรงต่อเนื่องในเอเชียโดยเฉพาะไทย คือแอพฯ Live เช่น Bigo Live, TalkTalk, Kitty Live, It’s Me Live, iShow ฯลฯ โดยสาวๆ หนุ่มๆ ที่โชว์ส่วนใหญ่ก็แค่นั่งคุยจากที่บ้าน เน้นตอบคอมเมนต์ต่างๆ ที่เลื่อนเข้ามาอยู่บนหน้าจอ
แอพฯ เหล่านี้แตกต่างกับฟีเจอร์ Live ในเฟซบุ๊กหลายๆ อย่าง ที่ชัดสุดคือ มีการจ่ายเงินให้กันระหว่างผู้ชมกับผู้โชว์ และมีการให้รางวัลจากบริษัทเจ้าของแอพฯ ถึงผู้โชว์ที่เรตติ้งสูงๆ ด้วย
การที่ผู้ชมจ่ายเงินให้ผู้โชว์นั้นเรียกว่าการ “เปย์” (Pay) โดยผู้เปย์จะต้องเติมเงินเข้าแอพฯ (In-App purchase) เพื่อซื้อ “ของขวัญ” (Virtual Gift) คล้ายการซื้อ Item ในเกมทั่วๆ ไป โดยจะอยู่ในรูปแบบของ รอยจูบ ดอกกุหลาบ เพชร และรถสปอร์ต
Item พวกนี้เมื่อผู้ชมซื้อแล้วก็สามารถใช้ยิงขึ้นจอของผู้โชว์ ซึ่งอาจเป็นพริตตี้สาวหรือหนุ่มหล่อ ทำให้ผู้ชมรายนั้นเด่นและเป็นที่จดจำ ได้รับการพูดคุยใส่ใจเป็นพิเศษ
ผู้โชว์หลายคนจึงทำเงินได้มากเดือนละหลายพันบาทไปถึงหลักหมื่นบาท จากการโชว์ทุกวันๆ วันละ 1 ชั่วโมงขึ้นไป โดยมีผู้ชมครั้งละราวพันกว่าคน
ส่วนฝ่ายผู้ชมที่เปย์ก็ “ฟิน” กับการได้รับความใส่ใจเรียกชื่อและคุยด้วยเป็นพิเศษในรายการ หรืออาจต่อยอดไปถึงการทำความรู้จักกันนอกจอต่อไป แต่ถ้าผู้ชมคนไหนจะ “ดูฟรี” ไปเรื่อยๆ ก็ทำได้ไม่ผิดกติกา ซึ่งผู้ใช้แอพฯ ส่วนใหญ่ก็ดูฟรีกันทั้งนั้น
ในไทยนั้น แอพฯ แนวนี้หลายรายเริ่มต้นโดยการเปิดประกาศรับสมัครตามสื่อออนไลน์ต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก สรรหาสาวสวยหนุ่มหล่อมาคัดเลือกเซ็นสัญญาเป็นผู้โชว์หรือดีเจชุดแรกเพื่อสร้างฐานผู้ใช้แอพฯ ก่อน แล้วจากนั้นผู้ชมบางส่วนก็จะกด Live เป็นผู้โชว์บ้างต่อๆ ไป
![]() |
ฉบับที่ 217 เดือนมกราคมเรียนรู้ชีวิตดิจิทัล เยาวชน 4.0
|
แอพฯ ประเภทนี้มักจะหน้าตาคล้ายๆ กัน โดยเมื่อเปิดแอพฯ ครั้งแรกก็ล็อกอินด้วยเฟซบุ๊กหรือเมลของกูเกิล จากนั้นจะเห็นรูปโปรไฟล์ของผู้โชว์ทั้งหลายไล่เรียงลงไปให้เลือกกดเข้าดู
จากนั้นในจอถ่ายทอดสด ระหว่างที่ชมที่ฟังผู้โชว์พูดคุย ก็สามารถกด “+” ที่มุมบนซ้าย ณ ชื่อของผู้โชว์คนนั้นๆ เพื่อติดตามประจำ และอ่านคอมเมนต์บริเวณครึ่งจอล่างไปด้วย
ถัดลงไปอีกเป็นช่องพิมพ์ข้อความกรณีที่เราอยากคอมเมนต์บ้าง ส่วนทางขวาเป็นปุ่มส่งของขวัญหรือ “เปย์” นั่นเอง
แม้จะไม่ “เปย์” แต่ผู้ชมก็สามารถช่วยเหลือผู้โชว์ได้ โดยกดปุ่ม “แชร์” ที่อยู่ติดกับปุ่มของขวัญ เพราะการแชร์นั้นนอกจากจะช่วยเพิ่มผู้ชมใหม่ๆ แล้ว ยังมีส่วนให้รูปโปรไฟล์ของผู้โชว์รายนั้นได้อยู่อันดับแรกๆ ในหน้าหลักของแอพฯ ด้วย
จากผู้ชม ไปเป็นผู้โชว์
ส่วนวิธีที่จะเป็น “ผู้โชว์” บ้างนั้น ก็ทำได้โดยกดไปที่ไอคอนรูปกล้องวิดีโอ ณ กึ่งกลางด้านล่างจอ แล้วแอพฯ จะมีการนับถอยหลังเพื่อเริ่มถ่ายทอดสดหน้าเราเองออกไป
แรกๆ ที่หัด Live เองใหม่ๆ อาจจะมีผู้ชมไม่ถึงสิบคนเท่านั้น ถ้าอยากจะมีผู้ชมมากขึ้น ก็ต้องเตรียมความพร้อมหลายๆ เทคนิค
เทคนิคแรกก็คือ ใส่รูปโปรไฟล์ให้น่าสนใจ เพื่อที่เวลาผู้ชมปัดนิ้วเลื่อนลงๆ ไปในหน้าหลัก จะได้สะดุดตาอยากกดเข้ามาลองชมดู
ผู้โชว์ หลายคนจึงทำเงินได้มาก เดือนละหลายพันบาทไปถึงหลักหมื่นบาท จากการโชว์ทุกวันๆ วันละ 1 ชั่วโมงขึ้นไป โดยมีผู้ชมครั้งละราวพันกว่าคน
เทคนิคต่อๆ มาที่ทำกันมากก็คือ คอยพูดขอให้ผู้ชมกดติดตาม หรือกด “+” ไว้ และระหว่าง Live นั้นถ้ามีใครพิมพ์ข้อความอะไรมา ก็ควรทวนคำถามและตอบให้ครบ
อีกเทคนิคก็คือ ต้องพูดขอบคุณผู้ชมที่ “เปย์” หรือ “แชร์” ให้ด้วยเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการสร้าง “Engagement” ให้ผู้ชมทุกคนกลับมาอีกเสมือนติดรายการวิทยุรายการโปรด
ซึ่งในรายการวิทยุแบบเดิมๆ นั้น ผู้จัดกับผู้ฟัง ผู้ชม ไม่มีทางได้คุยกัน เรียกชื่อกันใกล้ชิดแบบ Real-time อย่างนี้แน่นอน เพราะปัจจุบันในแอพฯ Live พวกนี้ ผู้โชว์ที่ฮิตๆ ก็จะมีผู้ชมคราวละไม่เกิน 2 พันคนเท่านั้น
แอพฯ ประเภท Live ที่มีการเปย์ การโชว์กันจริงจังนี้ จะฮิตชั่วคราวเป็นกระแสแฟชั่น หรือจะใช้กันระยะยาวเป็นไลฟ์สไตล์ใหม่ ก็คงต้องติดตามกันต่อไป
Contributor
สมคิด เอนกทวีผล
อดีตนักพัฒนาเว็บฯ และอดีตนักข่าวสายธุรกิจเน้นการตลาดดิจิทัลในนิตยสาร Positioning และเขียนบทความลงในนิตยสาร E-Commerce มาหลายครั้ง ก่อนจะผันตัวมาเป็นFreelance Consultantด้านการตลาดบน Social Media ทั้ง Facebook และ Twitter เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการเขียนเรียบเรียงและนำเสนอ Content รูปแบบต่างๆ
Facebook: facebook.com/somkid