หนึ่งในปัญหาของเทคโนโลยีโดรนที่ไม่สามารถขยายขอบเขตการใช้งานได้มากนัก นั่นก็คือเรื่องการใช้พลังงานในการบินที่ปกติแล้วโดรนในปัจจุบันจะสามารถขึ้นบินได้ราวๆ 30-60 นาทีต่อรอบการชาร์จเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถใช้ในงานที่ต้องการความต่อเนื่องอย่างการขนส่งสินค้า หรือตรวจสอบสภาพพื้นที่ๆ อยู่ห่างไกลได้ยาก
แต่ในอนาคตปัญหาเรื่องการใช้พลังานของโดรนอาจจะถูกแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นแล้ว เพราะล่าสุดนักวิจัยจาก Imperial College London ได้เปิดเผยการคิดค้นวิธีชาร์จไฟให้กับโดรนในขณะที่กำลังบินอยู่กลางอากาศได้สำเร็จ ด้วยวิธีการติดตั้งขดลวดเหนี่ยวนำไฟฟ้าพร้อมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการแปลงพลังงานที่กระจายออกมากลางอากาศเข้าไป ซึ่งเมื่อตัวขดลวดได้รับการกระตุ้นจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เหมาะสมก็จะเกิดการเหนี่ยวนำและมีกระแสไฟฟ้าไหลวนจนสามารถไปจ่ายไฟให้มอเตอร์ใบพัดของโดรนหมุนทำงานได้ตามปกติ ซึ่งทีมทดสอบได้ทดลองกับโดรนที่ออกแบบมาเป็นพิเศษและได้ผลลัพธ์ก็คือ ตัวเครื่องสามารถลอยตัวรับการชาร์จไฟเหนือแท่นชาร์จได้สูงที่สุดราวๆ 10 เซนติเมตรภายในห้องทดลอง
ทั้งนี้ หากเทคโนโลยีการชาร์จไฟโดรนกลางอากาศสามารถใช้งานได้ในสถานการณ์จริง ขอบเขตการทำงานของโดรนจะเพิ่มขึ้นอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งแท่นชาร์จเพื่อนำโดรนไปใช้ในงานตรวจซ่อมบำรุงท่อส่งน้ำมันในพื้นที่ทุรกันดาร หรือเครื่องจักรที่ตั้งอยู่บนที่เสี่ยงอันตรายอย่างเตาปฏิกรณ์ไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องนำโดรนลงมาชาร์จไฟเพื่อให้เสียเวลาทำงาน แต่ก่อนหน้าที่จะทำเช่นนั้นได้ ทีมวิจัยต้องแก้ปัญหาเรื่องการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าเมื่อถ่ายทอดผ่านทางอากาศ เพื่อควบคุมเรื่องปริมาณไฟฟ้าที่ต้องใช้ในการชาร์จแต่ละครั้งให้คุ้มค่าก่อน