
การมาถึงของ Facebook Live ยิ่งทำให้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
พวกเราคงรู้จักเฟซบุ๊กกันดีว่าเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กไซต์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดและมีสมาชิกทั่วโลกมากกว่า 1.5 พันล้านคน ในประเทศไทยก็มีสมาชิกเฟซบุ๊กประมาณ 20 กว่าล้านคน กิจกรรมที่ผู้ใช้ส่วนมากทำบนเฟซบุ๊กก็จะเป็นการไลค์และคอมเมนต์ข้อความหรือรูปภาพของเพื่อน การส่งข้อความหาเพื่อน เป็นต้น กิจกรรมข้างต้นนั้นเป็นการติดต่อสื่อสารกันระหว่างเพื่อนเป็นหลัก ซึ่งเป็นเป้าหมายเริ่มแรกของเฟซบุ๊ก แต่ปัจจุบันเฟซบุ๊กก็พยายามดึงดูดผู้ใช้ให้มีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกันผ่านระบบของเฟซบุ๊กมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยเป้าหมายของเฟซบุ๊กคือ การเป็นช่องทางการใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตเพียงเจ้าเดียวสำหรับผู้ใช้งานเลย นั่นคือผู้ใช้ในอนาคตแค่เข้ามาในเฟซบุ๊กเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจากอินเทอร์เน็ตนั้นสามารถเข้าถึงผ่านเฟซบุ๊กได้ทั้งหมด ในบทความนี้ผมจะนำเสนอเทคนิคต่างๆ ที่เฟซบุ๊กใช้ในการทำให้ผู้ใช้สนใจอยากใช้งานเฟซบุ๊กกัน และจะพูดถึงข้อดีข้อเสียที่เกิดขึ้นด้วย
เทคนิคที่เฟซบุ๊กใช้
เฟซบุ๊กนั้นมีแผนที่จะทำตัวเองเป็นอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้ใช้งานมาสักพักหนึ่งแล้ว สิ่งแรกที่เฟซบุ๊กทำก่อนก็คือ สร้าง API ให้เว็บฯ อื่น และโปรแกรมบนสมาร์ทโฟนใช้ระบบบัญชีของเฟซบุ๊กได้ คือถ้าผู้ใช้มีบัญชีของเฟซบุ๊กก็ไม่จำเป็นต้องสร้างบัญชีสมาชิกใหม่กับเว็บฯ หรือโปรแกรมเหล่านั้น สามารถล็อกอินด้วยบัญชีของเฟซบุ๊กได้เลย วิธีนี้ทำให้ได้ประโยชน์กันหลายฝ่าย นั่นคือผู้พัฒนาระบบหรือโปรแกรมก็ประหยัดเวลาและแรงงาน เพราะไม่ต้องสร้างระบบสมาชิกเอง ผู้ใช้ก็ไม่เสียเวลาในการสร้างบัญชีและไม่จำเป็นต้องมีบัญชีหลายอันสำหรับหลายเว็บไซต์ด้วย เฟซบุ๊กเองก็ผูกพันกับผู้ใช้เฟซบุ๊กเหนียวแน่นขึ้น เพราะถ้าผู้ใช้เลือกที่จะใช้บัญชีเฟซบุ๊กกับระบบเหล่านั้นก็จะต้องล็อกอินเข้าใช้งานเฟซบุ๊กก่อน ทำให้เฟซบุ๊ก รู้ข้อมูลอีกด้วยว่าผู้ใช้ไปเว็บฯ ไหนบ้าง และทำอะไรบ้างในเว็บฯ เหล่านั้น จริงๆ แล้วเรื่องการทำตัวเป็นผู้ควบคุมบัญชีของอินเทอร์เน็ตนั้น ไม่ได้มีแต่เฟซบุ๊กเจ้าเดียวที่พยายามทำ แต่ยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่อีกเจ้าคือ Google ที่พยายามสนับสนุนให้เว็บฯ ต่างๆ ใช้บัญชีผู้ใช้ของ Google ด้วย แต่จนถึงปัจจุบัน เฟซบุ๊กประสบความสำเร็จในด้านนี้มากกว่า
สิ่งต่อมาที่เฟซบุ๊กทำก็คือ พยายามชักชวนธุรกิจต่างๆ มาอยู่ในเฟซบุ๊ก อนุญาตให้การสร้างเพจสำหรับธุรกิจหรือองค์กร และมีระบบรองรับการทำกิจกรรมของธุรกิจนั้นผ่านเฟซบุ๊ก เช่น การนำเสนอขายสินค้า การทำลูกค้าสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งการซื้อ-ขายผ่านเฟซบุ๊กเลย เป็นต้น มีแม้กระทั่งระบบตอบข้อความอัตโนมัติที่สามารถให้ข้อมูลสินค้ากับลูกค้าที่ส่งข้อความแต่ผู้ขายยังไม่สะดวกตอบ ปัจจุบันนี้เรียกว่าแทบทุกธุรกิจจะต้องมีหน้าเพจในเฟซบุ๊กเป็นของตัวเอง ตอนนี้ธุรกิจส่วนมากจะยังมีทั้งเว็บฯ และเฟซบุ๊กเพจอยู่ แต่ในอนาคตบางธุรกิจก็อาจจะไม่มีหน้าเว็บฯ เลยก็ได้ เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบเว็บฯ และช่องทางสื่อสารกับลูกค้าทางหนึ่งด้วย
แน่นอนว่า ไม่ใช่เว็บฯ ทุกประเภทที่จะทดแทนด้วยเฟซบุ๊กเพจได้ ดังนั้น เฟซบุ๊กจึงสร้างกลไกที่เอื้อให้ผู้ใช้นำลิงก์ของเว็บฯ มาลงที่เฟซบุ๊กและแชร์ลิงก์เหล่านี้ได้สะดวกรวดเร็ว เวลาผู้ใช้พิมพ์หรือก๊อบปี้ลิงก์ที่ไปหน้าเว็บฯ มาลงเฟซบุ๊กนั้น ทางระบบจะนำข้อมูลบางส่วนของเว็บฯ นั้นมาแสดงบนเฟซบุ๊กด้วย เช่น หัวข้อและรูปภาพ ทำให้ลิงก์นั้นมีความน่าสนใจมากกว่าชื่อลิงก์อย่างเดียว นอกจากนี้ เฟซบุ๊กก็พยายามชักชวนให้สำนักข่าวต่างๆ นั้น นำเสนอข่าวผ่านเฟซบุ๊ก อย่างน้อยก็โพสต์เป็นลิงก์มา และเฟซบุ๊กยังได้ปรับอัลกอริธึมในการจัดเรียงหน้า News Feed (หน้าหลักที่ใช้นำเสนอข้อความหรือรูปภาพหรือลิงก์) เพื่อให้ความสำคัญกับลิงก์ข่าวและลิงก์ไปยังเว็บฯ อื่นอีกด้วย นั่นคือถึงแม้ผู้ใช้จะต้องคลิกลิงก์ไปเว็บฯ อื่น แต่ก็เริ่มต้นจากเฟซบุ๊กอยู่ดี
สื่อวิดีโอก็เป็นอีกประเด็นที่เฟซบุ๊กต้องการให้ผู้ใช้โพสต์และเสพชมวิดีโอผ่านเฟซบุ๊กเป็นหลัก ในด้านนี้เฟซบุ๊กก็มีคู่แข่งที่เป็นมหาอำนาจด้านวิดีโอบนอินเทอร์เน็ตมาก่อนนั่นก็คือ ยูทูบ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทกลุ่มอัลฟาเบท (Alphabet) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิลด้วย เฟซบุ๊กได้ให้ความสำคัญกับวิดีโอที่ผู้ใช้โพสต์ลง Timeline เพิ่มขึ้นมาก และนอกจากนี้ ยังมีอาวุธใหม่ล่าสุดคือ Facebook Live ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถสตรีมวิดีโอสดผ่านเฟซบุ๊กได้อย่างสะดวกง่ายดาย
จุดนี้ผมมองว่า เฟซบุ๊กเฉือนเอาชนะยูทูบได้อย่างไม่น่าเชื่อนะครับ เพราะยูทูบเองก็มีกลไกในการถ่ายทอดวิดีโอแบบสดเช่นกัน (YouTube Live) แต่จำกัดอยู่ในคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเท่านั้น แต่ระบบของเฟซบุ๊ก นั้นถ่ายทอดสดผ่านทั้งคอมพิวเตอร์หรือแอพพลิเคชั่นของตนเองบนสมาร์ทโฟนได้เลย และระบบของเฟซบุ๊กยังทำได้ง่ายกว่าด้วย ทางยูทูบก็กำลังพัฒนาระบบถ่ายทอดสดผ่านสมาร์ทโฟนอย่างเร่งด่วนเช่นกัน (วิธีการถ่ายทอดสดวิดีโอผ่านสมาร์ทโฟนไปยังยูทูบนั้นก็มีช่องทางที่ทำได้ผ่านแอพพลิเคชั่นของบริษัทอื่น แต่ก็ยังยุ่งยากกว่าการถ่ายทอดสดไปยังเฟซบุ๊ก)
ปัญหาที่ตามมา
จะเห็นว่า เฟซบุ๊กพยายามที่จะให้ผู้ใช้ ใช้ชีวิตออนไลน์อยู่ในระบบของเฟซบุ๊กให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเว็บฯ หรือแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน หรืออยู่ในเฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์ ซึ่งเป็นระบบแชตของเฟซบุ๊กเอง หรือถ้าผู้ใช้จะไปเว็บฯ อื่นนอกจากเฟซบุ๊ก ก็ขอให้มาที่เฟซบุ๊กก่อน การเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้งานอินเทอร์เน็ตนั้นก็เคยมีบริษัทหนึ่งที่ครองตลาดด้านนี้มาก่อน นั่นก็คือ Google ที่เป็นเสิร์ชเอ็นจินที่มีผู้ใช้มากที่สุด ปัจจุบันก็ยังมีผู้ใช้จำนวนมากที่ไปที่ Google.com เป็นเว็บฯ แรกก่อนที่จะค้นหาเว็บฯ ที่ต้องการไปต่อ หรือบางคนก็ไปที่ Google.com แล้วค้นหาชื่อเว็บฯ ที่ตนเองก็รู้อยู่แล้ว เช่น แทนที่จะพิมพ์ชื่อเว็บฯ ของนิตยสาร Digital Age (www.digitalagemag.com) ผู้ใช้หลายคนจะไปที่ www.google.com แล้วค้นหาคำว่า Digital Age Magazine แทน ดังนั้นการรุกเข้ามาเป็นจุดเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ตของเฟซบุ๊กนั้นก็ต้องปะทะกับ Google อย่างแน่นอน
การเป็นจุดเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นสิ่งที่ส่งผลประโยชน์ให้กับเจ้าของระบบอย่างมาก เพราะหมายถึงการครองตลาดด้านการโฆษณาในอินเทอร์เน็ต แต่ตำแหน่งนี้ก็มีปัญหาหรือภาระตามมาเช่นกัน เฟซบุ๊กสามารถกำหนดได้ผ่านอัลกอริธึมว่า โพสต์ใดจะมีความสำคัญสูงและจะมาแสดงในหน้า News Feed ของผู้ใช้แต่ละคน ลักษณะการให้อัลกอริธึมเลือกข้อมูลที่สำคัญนี้ก็เหมือนกับระบบของ Google ที่คัดเลือกเว็บฯ ที่สำคัญที่สุดจากผลการค้นหาผ่านคีย์เวิร์ดมาแสดงในหน้าแรก ซึ่งผู้สร้างและเจ้าของเว็บฯ ก็เข้าใจดีว่าความนิยมในเว็บฯ ของตนนั้นส่วนหนึ่งก็ขึ้นกับตำแหน่งของผลการค้นหาจาก Google ถ้าขึ้นมาในหน้าแรกก็มีโอกาสที่จะได้รับความนิยมสูง จนมีธุรกิจรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า SEO (Search Engine Optimization) ที่พยายามปรับแต่งหน้าเว็บฯ ให้อยู่อันดับแรกๆ เมื่อค้นหาคีย์เวิร์ดบางคำผ่าน Google
![]() |
ฉบับที่ 218 เดือนกุมภาพันธ์ร้านค้าขนาดเล็ก ไม่ต้องใช้เงินสด
|
การทำ SEO นั้นก็มีทั้งแบบที่ดีคือ สร้างเนื้อหาของเว็บฯ ให้ตรงเป้าหมาย และก็มีวิธีแบบไม่ดีนั่นคือ การหาทางลัดหรือเทคนิคที่จะทำให้ Google จัดอันดับเว็บฯ ของเราให้อยู่หน้าแรกไม่ว่าเนื้อหาจะดีหรือไม่ หรือที่แย่กว่านั้นก็คือ สร้างเว็บฯ ที่แทบจะไม่มีเนื้อหาอะไรที่เกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดเล ยแต่ใช้เทคนิคที่ทำให้อัลกอริธึมของ Google คิดว่าเว็บฯ นี้มีความสำคัญ เช่น สร้างลิงก์ฟาร์มที่ลิงก์ไปหาเว็บฯ เป้าหมายเยอะๆ ทำให้ Google คิดว่าเว็บฯ นี้มีคนอ้างอิงเป็นจำนวนมาก ทาง Google เองก็ต่อสู้กับเทคนิค SEO ที่ไม่ดีมาตลอด เพื่อให้ผลการค้นหานั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้จริงๆ เมื่อเฟซบุ๊กพยายามจะขึ้นมาเป็นจุดเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ตนั้นก็ต้องเจอกับปัญหานี้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี การคัดเลือกข้อมูลสำคัญของเฟซบุ๊กมีพื้นฐานที่แตกต่างจากของ Google พอสมควร เนื่องจาก Google สามารถวิเคราะห์ความน่าสนใจของเว็บฯ แต่ละเว็บฯ ได้โดยตรง แต่ Google ต้องวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ของผู้โพสต์ข้อมูลนั้นกับผู้ใช้ เช่น อาจจะให้ความสำคัญของลิงก์ที่โพสต์โดยเพื่อนที่ผู้ใช้เพิ่งคุยโต้ตอบไปมากกว่าโพสต์ของเพื่อนอีกคนที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้มานานแล้ว ดังนั้น ความเป็นเพื่อนกันและปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้จะเป็นสิ่งที่เฟซบุ๊กพิจารณามากกว่าข้อมูลของโพสต์หรือเว็บฯ ที่ลิงก์ไป
นอกจากนี้ Google ยังสามารถวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของเว็บฯ ต่างๆ ได้โดยตรง และระงับการแสดงผลของเว็บฯ นั้นในการค้นหาได้ถ้าพิจารณาแล้วว่าเว็บฯ นั้นไม่ปลอดภัยหรือไม่มีประโยชน์ แต่เฟซบุ๊กต้องระมัดระวังในการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของเพื่อนหรือของลิงก์ที่เพื่อนแชร์มาให้ผู้ใช้ เพราะถ้าระงับการแสดงผลอาจทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าถูกกลั่นกรองข้อความได้ เนื่องจากเฟซบุ๊กเป็นโซเชียล-เน็ตเวิร์กที่เชื่อมต่อให้ผู้ใช้ติดต่อสื่อสารกันได้ คำถามก็คือ เฟซบุ๊กจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างสมาชิกแค่ไหน ข้อมูลในเรื่องใดที่เฟซบุ๊กจะปิดกั้นบ้าง และเฟซบุ๊กเลือกที่จะกระทำน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และพึ่งพาให้สังคมออนไลน์เป็นผู้รายงานสิ่งที่ผิดและขัดต่อศีลธรรมมาที่เฟซบุ๊กแทน สุดท้ายคือ Google จะนำเว็บฯ ที่เกี่ยวข้องกับคำค้นหาที่ผู้ใช้พิมพ์เข้าไป (นั่นคือผู้ใช้ถาม Google ก่อน) ในขณะที่เฟซบุ๊กนำโพสต์ที่คิดว่าผู้ใช้สนใจมาให้ดูเลยเมื่อเริ่มใช้งานเฟซบุ๊ก (เฟซบุ๊กเลือกโพสต์มาให้เลยโดยผู้ใช้ไม่ได้ถาม) ซึ่งมีประเด็นละเอียดอ่อนกว่าการที่ผู้ใช้เริ่มค้นหาเองมาก
ตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นในเฟซบุ๊ก
• ข้อมูลรูปภาพที่ผิดต่อศีลธรรมจริยธรรม เช่น ภาพเปลือย การค้าขายสินค้าควบคุม เช่น อาวุธ ยา เป็นต้น เฟซบุ๊กพยายามให้อัลกอริธึมและพนักงานวิเคราะห์ภาพและข้อมูลเหล่านี้เพื่อบล็อก ระบบของเฟซบุ๊กอาจใช้ไม่ได้ดีกับภาษาไทยเท่าไร จึงมีการขายสินค้าหรือยาที่ไม่ถูกกฎหมาย เช่น ยาลดความอ้วน หรืออาหารเสริมความงามที่ไม่ผ่านอ.ย. เฟซบุ๊กยังต้องพึ่งพาผู้ใช้ให้รายงานข้อมูลเหล่านี้เอง
• เนื้อหาที่ผิดลิขสิทธิ์ ในช่วงแรกเฟซบุ๊กไม่ค่อยสนใจปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์บนระบบของตนเองมากนัก ซึ่งต่างจากยูทูบที่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากกว่า (อาจเป็นเพราะเป็นแหล่งอัพโหลดวิดีโอหลักของอินเทอร์เน็ตและเจอกับปัญหานี้ก่อน) การมาถึงของ Facebook Live ยิ่งทำให้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะทำได้ง่ายขึ้นมาก
ปัจจุบัน เฟซบุ๊กได้สร้างระบบ Rights Manager ที่ให้ผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ใช้เฝ้าตรวจระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ของตนในระบบของเฟซบุ๊กแล้ว ผมจึงอยากให้ผู้ผลิตสื่อลองใช้บริการนี้ของเฟซบุ๊กดูครับ
• เนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงหรือสร้างความขัดแย้ง กรณีนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความลำบากใจให้เฟซบุ๊กนะครับ เพราะว่าถ้าไม่บล็อกเนื้อหาประเภทนี้ก็อาจโดนกล่าวโทษว่าปล่อยให้มีผู้กระพือความขัดแย้ง แต่ถ้าบล็อกมากเกินไปก็อาจโดนกล่าวหาว่ากีดกันการแสดงความคิดเห็นอีก ระบบ Facebook Live เป็นระบบที่อาจทำให้เรื่องนี้วุ่นวายขึ้นไปอีก เช่น มีกรณีที่คนอเมริกันโดนตำรวจสั่งให้จอดรถข้างทางเพื่อตรวจจับและเกิดการยิงกันขึ้น เหตุการณ์นี้ถูกถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ด้วย ตอนแรกเฟซบุ๊กบล็อกเนื้อหานี้ก่อนที่จะยอมให้เข้าถึงได้ทีหลัง
• ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนและข่าวปลอม ข่าวปลอมนี้เป็นปัญหาหลักอีกเรื่องของเฟซบุ๊กที่กระทบต่อผู้ใช้เป็นวงกว้าง เพราะมีการแชร์ข่าวปลอมออกไปอย่างรวดเร็วจนทำให้ผู้ใช้แทบทุกคนจะเคยเห็นข่าวประเภทนี้ เช่น ตอนที่ดาราไทยคือ ปอ ทฤษฎี ป่วยร้ายแรงก็มีข่าวปลอมออกมาเรื่อยๆ ที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ ข่าวที่เหมือนจะจริงแต่บิดเบือน (เช่น เนื้อหาประเภท Post-Truth ที่ผมนำเสนอไปในบทความก่อน) ตอนแรกเฟซบุ๊กไม่ยอมทำอะไรกับข่าวปลอมพวกนี้นะครับ เพราะไม่อยากไปขัดขวางการส่งข้อมูลระหว่างผู้ใช้กันเอง ปล่อยให้เป็นวิจารณญาณของผู้รับสาร จนข่าวปลอมกลายเป็นปัญหารุนแรงในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกาที่ผ่านมา ซึ่งมีข่าวปลอมกระจายออกมาทางเฟซบุ๊กอย่างมหาศาล และมีข้อกล่าวหาว่าเฟซบุ๊กนิ่งเฉยต่อข่าวปลอมจนส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง สุดท้ายเฟซบุ๊กต้องเริ่มนำมาตรการมาป้องกันการกระจายตัวของข่าวปลอมเหล่านี้ เช่น มีการตรวจสอบข่าวจากสำนักตรวจสอบอื่น ถ้าอาจเป็นข่าวปลอมจะมีการเตือนขึ้นมาที่ลิงก์นี้ในหน้า News Feed เลย เป็นต้น
สรุป
เฟซบุ๊กมีความต้องการที่จะเป็นอินเทอร์เน็ต หรือเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้ใช้ เทคโนโลยีต่างๆ ที่เฟซบุ๊กเพิ่มเข้ามาในระบบก็เพื่อให้ผู้ใช้อยู่ในวงจรระบบของเฟซบุ๊ก แต่การเป็นจุดเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ตก็มีภาระตามมา โดยเฉพาะเรื่องของการกลั่นกรองเนื้อหาข่าวสารให้ผู้ใช้ ซึ่งมีตั้งแต่เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ศีลธรรม การละเมิดลิขสิทธิ์ จนไปถึงข่าวลวง เฟซบุ๊กต้องพัฒนาตนเองให้จัดการกับประเด็นต่างๆ เหล่านี้ได้แม้ว่าไม่อยากจะทำ เพราะปัจจุบันเฟซบุ๊กมาไกลกว่าการเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กไซต์ จนกลายเป็นช่องทางหลักที่ผู้ใช้ใช้รับและแชร์ข่าวสารแล้ว และไม่สามารถปล่อยภาระให้ผู้ใช้เป็นผู้รายงานเข้ามาเองได้อีกต่อไป พวกเราก็ต้องดูกันต่อไปว่าทางเฟซบุ๊กจะมีมาตรการใดป้องกันเนื้อหาเหล่านี้ในอนาคต
Contributor
ดร.เสฎฐวิทย์ เกิดผล
จบการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเซาท์เธิร์นแคลิฟอร์เนียในปี 2548 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกเหนือจากการสอนแล้ว ยังได้ร่วมมือกับภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจสร้างและออกแบบระบบสารสนเทศ จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการใช้งานโปรแกรมรหัสเปิด (Open Source Software) โดยเน้นที่โปรแกรมระบบสำหรับบริษัทและธุรกิจเป็นหลัก
Twitter: twitter.com/Sethavidh
Website: Sethavidh@gmail.com