จากปัจจัยการขยายตัวของธุรกิจ E-commerce ปฏิเสธไม่ได้ว่าความต้องการด้านโลจิสติกส์ก็เพิ่มขึ้นตามเช่นกัน เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจ ทำให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
ดังนั้น เราจะมาพูดถึงเทรนด์ E-logistics ในปี 2018 ผ่านการพูดคุยกับ เกียรติชัย พิตรปรีชา กรรมการผู้จัดการบริษัท DHL E-commerce ประเทศไทย โดยเริ่มจากทิศทางการเติบโต E-commerce ในตลาดโลก ซึ่งขณะนี้ประเทศจีนมีการเติบโตมากที่สุด จากจำนวนประชากรและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป สำหรับตลาดใหม่ที่คาดว่าจะโตตามมา คือ ประเทศอินเดีย ส่วนประเทศไทยเองก็เป็นตลาดที่น่าสนใจในการลงทุน ซึ่งมียักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบาเข้ามา หรือ JB.Com จับมือกับเซ็นทรัล
เทรนด์ E-logistics ปี 2018 จากปัจจัยการเติบโตของธุรกิจ E-commerce
1. จากจำนวนการใช้งานสมาร์ท 90.94 ล้านเครื่อง ที่มีมากกว่าจำนวนประชากรในประเทศไทย ทำให้เกิดการซื้อขายสินค้าออนไลน์ผ่านมือถือมากขึ้น หรือที่เรียกว่า M-commerce สามารถซื้อที่ไหนเวลาไหนก็ได้ แพล็ตฟอร์มมาเก็ตเพลสมีขนาดใหญ่หลากหลายขึ้น รวมถึง SMEs เปิดช่องทางขายออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุ๊ค อินสตาแกรม หรือเปิดเว็บไซต์ตนเอง
2 รูปแบบการชำระเงินใหม่ๆ อย่าง QR Code แทนข้อมูลเลขบัญชีในการชำระเงิน ซึ่งต่อไปเราน่าจะเห็นความร่วมมือของธนาคาร ผู้ให้บริการทางด้านโทรคมนาคม และ Fintech ในการร่วมมือพัฒนา ให้ E-wallet และ E-payment มีประสิทธิภาพ คาดว่าผู้คนจะหันไปจ่ายเงินผ่านมือถือกันมากขึ้น
3. คนไทยจำนวน 11 ล้านคน ซื้อสินค้าออนไลน์ จากสาเหตุหลักในเรื่องของราคาที่ถูกกว่า ลดราคาบ่อยครั้ง สินค้ามีให้เลือกหลากหลาย เปรียบเทียบราคาได้ พร้อมมีข้อมูลครบ และเสียงรีวิวจากผู้บริโภคด้วยกัน ความสะดวกสบายนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มจำนวนขึ้นอีก
4. เมื่อเกิดการซื้อขายขั้นตอนต่อมา คือ “การจัดส่ง” ธุรกิจออนไลน์ขายสินค้าต้องคำนวณเรื่องต้นทุนค่าจัดส่งด้วย เพราะผู้บริโภคมักตัดสินใจซื้อสินค้าเร็วขึ้นเมื่อเห็นว่าค่าจัดส่งฟรี ดังนั้น การขายสินค้า 1 ชิ้น ราคา 100 บาท ผู้ประกอบการจะไม่ได้ 100 บาทเต็ม ยังมีปัจจัยอื่นอีก เช่น การจัดส่งไม่ถึงมือลูกค้า ไม่พอใจถูกคืนสินค้า สินค้าชำรุดระหว่างการจัดส่ง เป็นต้น
5. ตลาด E-commerce ในต่างจังหวัดขยายการเติบโตมากกว่ากรุงเทพฯ ถึง 35 % ความต้องการในเรื่องการจัดส่งสินค้ายิ่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs อาจไม่ได้มีพนักงานมากในการจัดการ ควรเลือกบริษัทโลจิสติกส์ที่มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้ แต่นับว่าเป็นโอกาสเพราะผู้บริโภคในต่างจังหวัดจะเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็น เช่น ลูกค้าอยู่จังหวัดที่ไม่มีห้าง หรือแหล่งซื้อในพื้นที่ การซื้อสินค้าออนไลน์พร้อมจัดส่งถึงที่จะสะดวกกว่าการเสียเวลาขับรถไปซื้อเองในเมืองอื่นหรือจังหวัดอื่น
6. บริษัทที่ให้บริการโลจิสติกส์จะมีผู้เล่นหลายรายที่เข้ามา ต่างใช้จุดแข็งที่แตกต่างกัน เช่น จัดส่งทันที จัดส่งเอกสาร จัดส่งราคาถูก หรือการจัดส่งสินค้าชิ้นใหญ่ เป็นต้น รวมถึงการจัดส่งสินค้าภายในวันเดียวความท้าทายของบริษัทที่ให้บริการจัดส่ง หรือการจัดส่งแบบ On-demand ซึ่งการจัดส่งทุกรูปแบบล้วนสร้างประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า
7. บริษัทโลจิสติกส์จะมีการขยายเครือข่ายการจัดส่งออกไปครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลอย่างเกาะ หรือบนดอย ทั้งมีบริการรับพัสดุถึงที่หากไม่สะดวกมาส่งเอง การจัดส่งครั้งละมาก รวมไปถึงผู้บริโภคสามารถเลือกรับสินค้าตามจุดบริการได้ หากไม่ต้องการให้ไปส่งที่บ้าน
8. ต่างประเทศในแถบยุโรป อเมริกา เริ่มใช้โดรนในการจัดส่งสินค้า สำหรับการส่งของน้อยชิ้นในพื้นที่เข้าถึงลำบาก หรือระบบส่งสินค้าหลังรถยนต์ เมื่อสินค้ามาส่งทำการปลดล็อคท้ายรถผ่านมือถือ แหละจะเห็นภาพในขณะจัดส่ง เป็นต้น ซึ่งในประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เช่นกัน
ฉะนั้นแล้ว ผู้ประกอบการที่กำลังเปิดตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ อาจจะต้องคำนึกเกี่ยวกับเรื่องการจัดส่งมากขึ้นนอกเหนือจากการขายสินค้า เพราะลูกค้าอยากได้สินค้าเร็วขึ้น ในราคาขนส่งที่ถูกลง หรือจัดส่งฟรี ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับการทำธุรกิจ ยิ่งมีทางเลือกการรับสินค้าที่หลากหลายก็จะเป็นการสร้างประสบกาณ์ที่ดีแก่ผู้บริโภค