
อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา LINE มองว่าประเทศไทยเป็นประเทศโมบายล์เฟิร์ส เนื่องจากคนไทยเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตครั้งแรกผ่านทางสมาร์ทโฟนมากกว่าคอมพิวเตอร์ โดยมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือที่สูงถึง 44 ล้านคน หรือประมาณ 2 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ
แอพฯ เดียว 4 ปัจจัยหลักในการใช้ชีวิตของคน
อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ด้วยจำนวนของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือที่สูงขึ้นถึง 94 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2016 LINE ตั้งเป้าในการเป็นมากกว่าแชตและต่อยอดธุรกิจสติ๊กเกอร์ ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จในหลายๆ บริการ อาทิ LINE TV สร้างการเติบโตของยอดวิวที่เพิ่มขึ้นถึง 136 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หรือ LINE Man ที่เพิ่งเปิดตัวในเดือนพฤษภาคม 2559 แต่มีผู้ใช้งานสูงถึง 400,000 คน พร้อมจำนวนร้านอาหารมากกว่า 20,000 ร้าน อีกทั้ง LINE Stickers ที่มีจำนวนดาวน์โหลดสูงกว่า 500 ล้านเซ็ต ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สติ๊กเกอร์ยังเป็นเครื่องมือสื่อสารที่คนไทยนิยมใช้ในการแสดงความรู้สึก
“จุดมุ่งหมายหลักของ LINE คือ การนำเสนอเซอร์วิสและโซลูชั่นต่างๆ ที่เปรียบเสมือนศูนย์กลางหรือช่องทางหลักในการเชื่อมโยงผู้คน ข้อมูลข่าวสาร และบริการต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการที่ใช้งานในชีวิตประจำวันได้ด้วยแอพฯ LINE เพียงแอพฯ เดียว”
สำหรับกลยุทธ์ของ LINE ถูกสร้างขึ้นจาก 4 ปัจจัยหลักในการใช้ชีวิตคือ การติดต่อสื่อสาร (Communication) โดยจากผลสำรวจของ Nielsen พบว่า คนไทยใช้เวลาเฉลี่ยบนสมาร์ทโฟนสูงถึง 234 นาทีต่อวัน และ 1 ใน 3 ของเวลาการใช้งานสมาร์ทโฟน หรือประมาณ 70 นาทีต่อวัน ถูกใช้บนแพลตฟอร์ม LINE ถัดมาคือ คอนเทนต์ (Content) ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ เพลง และสิ่งพิมพ์ ต่างถูกย้ายมาอยู่บนโลกออนไลน์ โดยคนไทยใช้เวลาดูวิดีโอออนไลน์สูงถึง 133 นาทีต่อวัน หรือคิดเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 65 นาทีต่อวัน


ต่อมาเป็น บริการ (Service) ซึ่งปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นจำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้นรวมแล้วประมาณ 2.2-2.6 ล้านแอพฯ แต่สุดท้ายจะมีเพียง 3-5 แอพฯ เท่านั้นที่ถูกเปิดใช้งานในแต่ละวัน LINE จึงได้พัฒนา Chatbot ขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทนแอพฯ โดยไม่ต้องโหลดแอพฯ อื่นๆ เพิ่ม ซึ่งปัจจุบัน ผู้ที่ใช้ Chatbot ก็มีทั้ง LINE FINANCE หรือพาร์ตเนอร์อย่าง Uber และ Wongnai รวมถึงแบรนด์สินค้าและบริการต่างๆ อาทิ Citibank, FWD, Lazada, Krungthai AXA, Maybank, Shell และ Unilever เป็นต้น
สุดท้ายคือ การขายสินค้าและบริการ (Commerce) การขายสินค้าออนไลน์หรือ e-Commerce ยังคงมีสัดส่วนที่เล็กมากเพียง 3.8 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการค้าปลีกทั้งหมด ซึ่ง LINE ก็ได้เห็นโอกาสในการเชื่อมต่อโลกออฟไลน์และออนไลน์มาไว้ด้วยกัน หรือที่เรียกว่า บริการในรูปแบบ O2O (Offline to Online)
![]() |
ฉบับที่ 220 เดือนเมษายนจับตลาดในยุคโมบายล์เฟิร์ส
|
แบรนด์ใช้ Chatbot แทนการใช้แอพฯ
LINE FINANCE นับเป็นจุดเริ่มต้นของบริการจาก LINE ที่มีการนำ Chatbot มาใช้ โดยเป็นบริการผู้ช่วยทางการเงินในรูปแบบ Official Account ซึ่งเปิดให้เชื่อมระบบของธุรกิจเข้ากับ API โดยทั่วไปจะรู้จักในชื่อบริการ Messaging API จะมีการให้ข้อมูลด้านการเงิน อาทิ หุ้น กองทุน การเงินและการลงทุน
โดยพิมพ์คำค้นเป็นชื่อตัวย่อหุ้น ชื่อผู้ถือหุ้น (ชื่อหรือนามสกุลบุคคล) ชื่อหมวดหุ้น เช่น พลังงาน ขนม ก่อสร้าง เป็นต้น หรือจะพิมพ์คำว่าผู้ถือหุ้น ตามด้วยชื่อบริษัทเข้าไป Chatbot ก็จะทำการค้นหาข้อมูลการเงิน การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับคำค้นหานั้นๆ ขึ้นมาแบบเรียลไทม์ในทันที
ทั้งนี้ผู้ใช้ก็สามารถตั้งค่าเพื่อเลือกรับข้อมูลตามระดับความรู้และความสนในแต่ละด้านได้
“จุดประสงค์ของ Chatbot คือ ผู้ใช้งานไม่ต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นอื่นๆ หรืออย่างวันนี้เราสามารถใช้ Wongnai ได้โดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอพฯ หรือไปที่เว็บไซต์ของ Wongnai ซึ่งตอนนี้ Wongnai มีผู้ติดตามอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านคนใน Official Account และมีการส่งข้อความคุยกับ Bot ของ Wongnai กว่า 2.5 ล้านคน หรือมีคนแชร์ Location เพื่อหาร้านอาหารใกล้เคียงกว่า 400,000 ครั้ง”
อริยะ กล่าวอีกด้วยว่า ตอนนี้ไม่ว่าใครก็สามารถสร้าง Bot บนแพลตฟอร์มของ LINE ได้ แม้แต่แบรนด์คนอร์ของ Unilever ที่ได้นำเอา Chatbot ของ LINE มาใช้ โดยยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีคนเข้ามาสอบถามถึงวิธีการทำอาหารเมนูต่างๆ ใน Official Account ของคนอร์ (Knorr ไอเดียอร่อย) จากนั้นระบบก็จะตอบกลับมาให้เลยว่า สูตรของการทำอาหารเมนูนั้นคืออะไรและเป็นอย่างไร ซึ่งฟังดูเหมือนเป็นบริการง่ายๆ แต่มีผู้ใช้งานกว่า 1.5 ล้านคน ที่เข้าไปใช้บริการ และนับตั้งแต่ที่คนอร์ได้หันมาใช้ Chatbot นี้ ยังสามารถสร้างยอดขายได้มากขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์


รู้จักกับเพื่อนหุ่นยนต์ยุคใหม่ Chatbot ของคนไทย
จะเห็นได้ว่า LINE ได้ให้ความสนใจในตัว Chatbot อย่างจริงจัง โดยเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้มีการจัดการประกวด LINE BOT Awards ขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีนักพัฒนาจากประเทศไทยได้รับรางวัลจากเวทีนี้ นั่นคือ บอทน้อย (BotNoi) ซึ่งได้รับรางวัลมาให้หมวดโปรแกรมเพื่อนคุย โดยบอทน้อยนั้นสามารถพูดคุยโต้ตอบได้ตลอดเวลาแบบ เรียลไทม์ เปรียบเสมือนกับการได้คุยกับเพื่อนจริงๆ และจะเลือกคุยแบบส่วนตัวหรือคุยแบบกลุ่มก็ได้ ปัจจุบันรองรับภาษาทั้งไทย อังกฤษ จีน และเนปาล ซึ่งนอกจากการแชตพูดคุยด้วยแล้ว ยังสามารถให้บอทน้อยช่วยค้นหาร้านอาหารใกล้บ้าน ดูดวงรายวัน แปลภาษา หรือให้ช่วยค้นหาข้อมูลต่างๆ ได้ เป็นต้น


ดร. วินน์ วรวุฒิคุณชัย ผู้พัฒนาบอทน้อย (BotNoi) เล่าว่า จากการที่ตนเองได้เรียนจบมาทางด้าน AI (Artificial Intelligence) หรือระบบปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งก็ได้ทำเกี่ยวกับ Natural Language Processing หรือการประมวลผลภาษาธรรมชาติ จนได้มาเจอกับ LINE ที่เปิดโอกาสให้นักพัฒนาเข้าถึง API และทำ Chatbot ได้ จากที่เพียงแค่ศึกษาและทดลองทำเล่นๆ แต่สุดท้ายก็อยากให้บอทน้อยเก่งและฉลาดกว่านี้ ซึ่งตอนแรกๆ บอทน้อยก็ยังพูดคุยไม่ค่อยรู้เรื่อง และกว่าจะมีคนยอมแอดมาเป็นเพื่อนก็ค่อนข้างยาก ปัจจัยสำคัญคือ ถ้าอยากจะให้ Bot ฉลาดก็ต้องมีคนมาใช้ แต่คนที่อยากมาใช้ก็จะมีความคาดหวังในตัวของ Bot อีกเช่นเดียวกัน
เหตุผลในการสร้างบอทน้อย เป็นคำถามยอดฮิตจากคนรอบข้างของ ดร. วินน์ รวมทั้งคนในครอบครัวที่ต้องตกใจว่าจะลงทุนเป็นแสนเพื่อทำ Bot แต่ด้วยแรงบันดาลใจจากคนแค่เพียง 1 ใน 10 ที่ชื่นชอบ บอทน้อย จึงยังทำให้มีกำลังใจในการพัฒนาบอทน้อยมาถึงทุกวันนี้ ที่มีคนเป็นเพื่อนบอทน้อยแล้วเกือบ 450,000 คน และแม้ระหว่างทางจะพบกับอุปสรรคหรือปัญหามากมาย ทั้งระบบล่ม ดาต้าเบสเต็ม บักในโค้ด ฯลฯ ฟีดเข้ามาเป็นพันๆ ข้อความ ก็ต้องพยายามแก้ไขปัญหาอยู่ตลอดเวลา จากตอนแรกที่ทำขึ้นมาใช้ระบบฟรี พอมีคนใช้งานเพิ่มขึ้น ก็ต้องอัพเกรดระบบทุกส่วนเพื่อรองรับให้บอทน้อยทำงานได้ จนทุนวันนี้ต้องออกเงินส่วนตัวหลักแสนต่อเดือน เพื่อให้บอทน้อยอยู่รอด
“วันนี้บอทน้อยอาจจะยังไม่ได้เก่งพอที่จะเป็นประโยชน์กับทุกคน แต่บอทน้อยจะดีกว่านี้ และเป็นประโยชน์กว่านี้
บอทน้อยจะแนะนำหนัง ละคร ซีรี่ส์ บอกผลบอล บอกโปรโมชั่น รีวิวอาหาร บอทน้อยจะช่วยเรื่องการศึกษา การแพทย์ หรือเป็นที่ปรึกษาเรื่องการใช้ชีวิต
ผมอยากจะทำให้บอทน้อยได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ว่าคนไทยก็สร้างพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ได้” ดร. วินน์ กล่าวทิ้งท้าย