
ศุภชัย ปาจริยานนท์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย)
สื่อโฆษณาดิจิทัลเป็นสื่อที่มีบทบาทมากขึ้นในยุคการตลาด 4.0 อีกทั้งรูปแบบของการโฆษณาดิจิทัลก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสมขึ้นกว่าที่ผ่านมา
จากนี้ไป เราจะได้เห็นสื่อออนไลน์กลายมาเป็นสื่อหลัก ที่ใช้เป็นเครื่องมือการทำตลาดอย่างแพร่หลายในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันอย่างเช่น กลุ่มสื่อสาร หรือกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เพราะการเติบโตในแง่ของเม็ดเงินลงทุนยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
การแข่งขันที่สูงในตลาดความงาม อาจใช้งบโฆษณาแซงหน้ากลุ่มสื่อสาร
ผลสำรวจมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของปี 2559-2560 พบว่า งบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลในปี 2559 มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยมูลค่ารวมกว่า 9,477 ล้านบาท โดยประเภทกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้งบโฆษณากับสื่อดิจิทัลมากที่สุดในปี 2559 ยังคงเป็นกลุ่มสื่อสารที่ใช้งบกว่า 1,011 ล้านบาท ตามด้วยกลุ่มเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ 833 ล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว 798 ล้านบาท กลุ่มยานยนต์ 733 ล้านบาท และกลุ่มผลิตภัณฑ์แดรี่โปรดักส์ (ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากนม) 488 ล้านบาท ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลเพิ่มในมูลค่าสูงที่สุดเทียบจากปี 2558 คือ กลุ่มเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ ซึ่งใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 482 ล้านบาท ตามด้วยกลุ่มเครื่องสำอาง และกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ที่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 245 ล้านบาท และ 203 ล้านบาทตามลำดับ
และสำหรับในปี 2560 คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มที่เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลจะปรับตัวสูงขึ้นอีก 24 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้มูลค่าตลาดสื่อโฆษณาดิจิทัลแตะที่ราว 11,774 ล้านบาท ภายในเวลาเพียง 6 ปีที่เริ่มทำการสำรวจ โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวอาจมีการใช้งบโฆษณาดิจิทัลสูงเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะมีการใช้จ่ายสูงถึง 1,089 ล้านบาท แซงหน้ากลุ่มสื่อสารที่ใช้งบสูงสุดมาโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากผลิตภัณฑ์กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวมีการแข่งขันกันอย่างสูง และช่องทางโฆษณาดิจิทัลเป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีการจัดสรรงบประมาณโฆษณามาใช้ในช่องทางนี้เพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2559 และจะยังคงต่อเนื่องไปอีกในปี 2560 นี้
ปัจจุบันผู้บริโภคใช้เวลาอยู่กับดิจิทัลเกือบตลอดเวลา
ในส่วนของการสำรวจประเภทสื่อดิจิทัล ในปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่า Facebook ยังคงเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยม โดยครอบครองส่วนแบ่งงบโฆษณาดิจิทัลสูงที่สุดต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 2 อยู่ที่ราว 29 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นงบโฆษณาดิจิทัล 2,711 ล้านบาท ถัดมาคือ YouTube ที่ครองส่วนแบ่ง 16 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นงบโฆษณา1,526 ล้านบาท ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ยังคงเห็นแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องของทั้ง Facebook และ YouTube และอันดับ 3 คือ Display ที่ครองส่วนแบ่ง 15 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นงบโฆษณา 1,461 ล้านบาท ที่ถึงแม้ว่า Display จะครอบครองส่วนแบ่งงบโฆษณาดิจิทัลเป็นอันดับที่ 3 ในปี 2559 แต่แนวโน้มของการใช้สื่อประเภทนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลง
ปี 2559 สื่อโฆษณาดิจิทัลยังเติบโตเป็นเลขสองหลัก และปี 2560 เป็นปีที่สื่อโฆษณาดิจิทัลจะก้าวผ่านตัวเลขทางจิตวิทยาที่สำคัญคือ 10,000 ล้านบาท
ด้วยปัจจัยประกอบกันทั้งด้านเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ผู้บริโภคใช้เวลากับสื่อดิจิทัลมากขึ้น และแบรนด์ต่างๆ ก็ลงทุนกับสื่อดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ปีนี้จะเป็นอีกปีที่สื่อดิจิทัลจะเติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายของนักการตลาดคือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนดังกล่าวได้อย่างคุ้มค่า ในขณะที่คู่แข่งเองก็หันลงมาเล่นกับสื่อดิจิทัลมากขึ้นเช่นกัน ศุภชัย ปาจริยานนท์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าว
กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อเพิ่มจำนวนขึ้น หนุนตลาดความงามให้เติบโต
อุตสาหกรรมความงามหรือกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ถูกจับตามองว่าจะมีการใช้จ่ายงบด้านโฆษณาดิจิทัลสูงเป็นอันดับ 1 ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมนี้อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากประชากรวัยทำงานอันเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงได้เพิ่มจำนวนขึ้น ส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคด้านสุขภาพและความงามได้รับความนิยมมากขึ้นตามความต้องการของกลุ่มคนที่อยู่ในวัยที่กำลังดูแลรักษาสุขภาพมากที่สุด โดยพบว่าอุตสาหกรรมความงามของไทยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 ต่อปี

อนุชนา วิชเวช ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด
อนุชนา วิชเวช ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดงานแสดงสินค้าความงามและสินค้าเพื่อสุขภาพ หรืออาเซียนบิวตี้ กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจความงามมีมูลค่าสูงถึง 2.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 60 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1.68 แสนล้านบาท และตลาดส่งออกที่ทำรายได้ให้ประเทศถึง 40 เปอร์เซ็นต์ หรือกว่า 1.12 แสนล้านบาท โดยประเทศไทยยังเป็นผู้ผลิตและส่งออกเครื่องสำอางรายสำคัญ ทั้งยังรั้งที่ 1 ในระดับอาเซียนอีกด้วย
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผมอันดับ 1 ของโลก เป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางอันดับที่ 17 ของโลก และยังเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าอันดับที่ 12 ของโลก โดยประเทศที่ไทยส่งออกเครื่องสำอางไปจำหน่ายมากที่สุด คือญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย มาเลเซีย และอินโดนีเซียตามลำดับ ซึ่งสินค้าความงามไทยนั้นได้รับความไว้วางใจในคุณภาพและมาตรฐานจากนานาประเทศมาโดยตลอด ขณะเดียวกันกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ของอุตสาหกรรมความงามไทย เป็นผู้ผลิตแบบ SMEs จึงกล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมศักยภาพของประเทศไทย
แบรนด์ต้องสร้างจุดยืน พร้อมปรับตัวในการใช้สื่ออย่างเหมาะสม
กรกมล เตชะโต ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท สยามสเนล จำกัด หรือแบรนด์ Snail 8 (สเนล เอท) เล่าว่า ตลาดความงามเป็นตลาดเดียวที่ยังอยู่ได้ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะไม่ค่อยดี เหตุผลเพราะผู้หญิงจะไม่หยุดสวย และจะมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงามมากระตุ้นความอยากได้ของผู้หญิงอยู่เสมอ หรือยังมีความต้องการจากตลาดตลอดเวลา อีกทั้งผลการสำรวจที่ออกมาอยู่เรื่อยๆ ว่าตลาดนี้เป็นตลาดที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งเมื่อพูดถึงแบรนด์ Snail 8 ในตอนแรกที่ยังเป็นแบรนด์เล็กๆ การเข้าสู่ตลาดเมื่อเทียบกับผู้นำรายใหญ่นับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ฉะนั้นช่องทางในการขายจึงเน้นไปที่ออนไลน์เพียงอย่างเดียว โดยเป็นเว็บไซต์กับ Facebook และเมื่อเริ่มเป็นรู้จักของตลาดได้แล้วจึงเพิ่มช่องทางที่เป็น Modern Trade ในการเข้าถึงให้มากขึ้น และในขณะเดียวกันที่ออนไลน์มีการเติบโตสูง การมีแค่เว็บไซต์กับ Facebook นั้นยังไม่เพียงพอ แต่ต้องพาร์ทเนอร์กับเว็บไซต์อื่นๆ ด้วย
“การทำตลาดผ่านออนไลน์เป็นสิ่งที่ทุกแบรนด์ควรทำ ณ ตอนนี้ เราต้องไปออนไลน์ให้ได้มากที่สุด เพราะทุกวันนี้การทำธุรกิจไม่ใช่การนั่งรอให้ลูกค้าเดินเข้ามาซื้อของในร้านอีกต่อไป แต่ช่วงเริ่มต้นสร้างแบรนด์เราอาจจะยังต้องใช้สื่อที่เป็น Mass Media ไม่ว่าจะเป็นสื่อตามรถไฟฟ้า สปอตโฆษณา ฯลฯ เพื่อให้คนจดจำเราได้ การลงทุนในช่วงแรกจึงค่อนข้างเยอะ แต่เมื่อเริ่มแบรนด์เป็นที่รู้จัก เราก็ผันมาใช้ช่องทางที่เป็นดิจิทัล”
“ในแง่ของการตลาด เราไม่สามารถหยุดการเรียนรู้เทรนด์ของตลาดได้เลย เราต้องดูว่ากลุ่มผู้บริโภคว่าเขาใช้สื่ออะไร เรามี New Media อีกมากมายที่ผู้บริโภคนิยมใช้ นั่นจึงทำให้เราก็ต้องปรับตัวตามความนิยมของผู้บริโภคด้วยเช่นเดียวกัน อีกทั้งแบรนด์ก็ต้องพัฒนาอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ และกลยุทธ์ทางการตลาดในบางแบรนด์ก็จะมีรีวิวบล็อกเกอร์ เพราะเราต้องใช้คนกลางที่เป็นกระบอกเสียงในการที่จะทำให้ลูกค้าเชื่อ เพราะถ้าแบรนด์พูดเองลูกค้าก็ไม่เชื่อ”