การรับคนที่ไม่รู้จักเป็นเพื่อน การพูดคุยกับคนแปลกหน้า การออกไปพบกับคนแปลกหน้า การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว การอัดคลิปตัวเองโพสต์ลงออนไลน์ รวมถึงการให้คนอื่นรู้รหัสส่วนตัว ล้วนเป็นพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่ปลอดภัย และมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ หรือ Cyberbully ได้ง่าย
และ 1 ใน 3 ของเด็กไทยมีประสบการณ์กลั่นแกล้งและถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์
รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากงานวิจัยเรื่อง การกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ในนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 13 ประเทศทั่วโลก พบว่า 1 ใน 3 ของเด็กไทยมีประสบการณ์กลั่นแกล้งและถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 34.6 เปอร์เซ็นต์ เคยแกล้งผู้อื่น และ 37.8 เปอร์เซ็นต์ เคยถูกกลั่นแกล้ง และ 39 เปอร์เซ็นต์ เข้าไปร่วมวงในเหตุการณ์กลั่นแกล้งนั้นด้วย ทำให้พฤติกรรม Cyberbullying ขยายวงกว้าง
Cyberbully เป็นพฤติกรรมที่แปรผันตรงกับพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งเด็กไทยใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตถึง 4.8 ชั่วโมงต่อวันโดยเฉลี่ย โดยใช้ youtube มากที่สุด รองลงมาคือ Line และ Facebook
แม้ว่าที่ผ่านมาสังคมวงกว้างได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว แต่หัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชน รวมถึงประชาชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการ Cyberbully ขึ้น หรือหากเกิดขึ้นแล้ว ก็รู้ว่าจะต้องปฏิบัติและแก้ไขอย่างไร
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ปัจจุบัน Social Network เข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น โดยข้อมูลจากงาน Thailand Social Award 2017 พบว่า คนไทยใช้ Facebook จำนวน 47 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการเติบโต 15 เปอร์เซ็นต์) , Line 41 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการเติบโต 41 เปอร์เซ็นต์) , Instagram 11 ล้านคน และ Twitter 9 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการเติบโต 70 เปอร์เซ็นต์)
และจากผลสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ.2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เด็กอายุระหว่าง 15-24 ปี มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงถึง 89.8 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่าการใช้งานโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา หรือวัยรุ่น โดยกลุ่มดังกล่าว มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวและเปิดเผยความเป็นตัวตนชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงในการถูกล่อลวงทางโลกออนไลน์มากขึ้น
ทั้งนี้รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อให้สังคมไทยมีระบบและกลไกในการขับเคลื่อน ส่งเสริม และปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันสื่อออนไลน์และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ โดยเป็นพันธมิตรภาคีร่วมโครงการ Stop Bullying เลิฟแคร์ไม่รังแกกัน และเปิดตัวบริการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนผ่าน Stop Bullying Chat Line เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา Cyberbully
ด้าน Dtac กล่าวว่า บริการห้องแชท Child Chat Line ที่เว็บไซต์ stopbullying.lovecarestation.com หลังจากเริ่มให้บริการอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ขอคำปรึกษาจำนวน 278 คนและมีผู้เข้าชมเว็บไซต์กว่า 40,000 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม จากโครงการ Safe internet ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ดีแทคได้สนับสนุนและส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมทางอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยต่อเด็กและเยาวชน โดยวางแผนการดำเนินงานออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1. สร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาทางอินเทอร์เน็ตที่มีต่อเด็ก 2. ผสานเข้าไปกับผลิตภัณฑ์และบริการ 3. สร้างความร่วมมือทางอินเทอร์เน็ตเพื่อระบบนิเวศที่ดีขึ้น และ 4. ร่วมสร้างนโยบายและการกำกับที่ดี