ศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวแอปพลิเคชั่น ในชื่อ Thai Tuner แอปพลิเคชั่นเทียบเสียงเครื่องดนตรีไทยให้เป็นมาตราฐาน
ผศ.ดร.สุรพงษ์ เลิศสิทธิชัย อดีตผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ริเริ่มโครงการ Thai Tuner กล่าวว่า นำองค์ความรู้จากโครงการวิจัยค่าความถี่เสียงดนตรีไทย ซึ่งเป็นพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 มาพัฒนาเป็นโปรแกรมเทียบเสียงดนตรีไทย โดยมีเป้าหมายหลักคือ นำพาอุตสาหกรรมดนตรีไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้ได้เครื่องดนตรีไทยที่มีมาตรฐาน ได้ค่าความถี่เสียงถูกต้อง
ปกรณ์ หนูยี่ คีตศิลปิน สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ผู้วิจัยโครงการวิจัยค่าความถี่เสียงดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้าน กล่าวว่า วงดนตรีไทยภาคกลางส่วนใหญ่ยังคงยึดความถี่เสียงแบบเดิมอยู่ โดยจะยึดเอามาตรฐานเสียงของกรมศิลปากรเป็นหลักในการเทียบเสียง โดยจะแสดงผลค่าความถี่มาตรฐานจากการวิจัยใน Thai Tuner จะทำให้เสียงของเครื่องดนตรีของแต่ละภาคมีมาตรฐานไปในทิศทางเดียวกัน
สำหรับแอปพลิเคชั่น Thai Tuner สามารถเปรียบเทียบเสียงเครื่องดนตรีไทยได้ 89 ชิ้น โดยแบ่งเป็นรูปแบบ ดีด สี ตี เป่า และเสียงร้องชาย-หญิง โดยเทียบเสียงและตั้งค่าเสียงเครื่องดนตรีได้อย่างมาตรฐาน พร้อมทั้งระบบบันทึกค่าเสียงในรูปแบบตัวเลข และมีข้อมูลของเครื่องดนตรีชนิดนั้นๆ ภายในแอปฯ สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android
นอกจากนี้โครงการยังมีการวิจัยผลิตเครื่องดนตรีด้วยนวัตกรรมดิจิตอล โดยนำเทคโนโลยี CAD/CAM มาใช้ทำให้การผลิตเครื่องดนตรีให้ได้เสียงเป็นมาตรฐาน โดยสามารถควบคุมมาตรฐานของเสียงได้ 100 % สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเครื่องดนตรีไทย
ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีรายล้อม แต่ในอนาคตหากมีแอปพลิเคชั่นที่ส่งเสริมความเป็นไทยแบบนี้มากขึ้น คงจะดีไม่น้อยเลยทีเดียว เพื่อให้รู้จักและสืบต่อความเป็นไทยในรูปแบบที่เข้าถึงง่ายผ่านและตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป