
สุทธา เรืองชัยไพบูลย์ ผู้อำนวยการบริหารโครงการวิสซ์ดอม วันโอวัน บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
การสร้างนวัตกรรมจำเป็นจะต้องคำนึงถึงการเข้าไปแก้ปัญหา และการเข้าถึงโอกาสที่คนอื่นยังมองไม่เห็น โดยให้ความสำคัญกับแนวคิดจากคนรุ่นใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหา
ภาพของกลุ่มอาสา ขอให้ผู้คนในสังคมร่วมกันช่วยเหลือสุนัขและแมวจรจัด ผ่านทางโซเชียลมีเดียต่างๆ อาจเป็นภาพที่เราเห็นจนชินตา จนบ่อยครั้งมองข้ามไป จึงเป็นที่มาของคำถามว่า ปัญหานี้เป็นของใคร และจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

แบ่งกลุ่มเวิร์กชอปตามประเด็นปัญหาที่สนใจ
กิจกรรมเวิร์กชอปเพื่อ “เพื่อนจรจัด” ซึ่งจัดโดย Whizdom 101 และ True Incube เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจปัญหาและต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม ร่วมระดมความคิดและเสนอไอเดีย เพื่อนำไปใช้สร้างแอพพลิเคชั่น ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเพื่อนจรจัดให้ดีขึ้น
เปิดความเห็นคนรุ่นใหม่ทำแอพฯ ช่วยสัตว์จรจัด
หลายคนอาจไม่ทราบว่า ปัจจุบันสุนัขและแมวจรจัดในไทยมีจำนวนมากถึง 5 ล้านตัว และถึงแม้ว่าจะมีหน่วยงาน หรือกลุ่มจิตอาสาที่คอยช่วยเหลือสุนัขและแมวที่บาดเจ็บ พาไปฉีดวัคซีน ทำหมัน รวมถึงจัดหาที่อยู่ให้ ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ภาระตกอยู่ที่ผู้อาสา ที่นอกจากจะใช้เงินทุนส่วนตัวแล้ว บ่อยครั้งที่ต้องระดมทุนขอรับเงินบริจาค เพื่อนำมารักษาชีวิตของสัตว์เหล่านี้ไว้
สุทธา เรืองชัยไพบูลย์ ผู้อำนวยการบริหารโครงการวิสซ์ดอม วันโอวัน บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า จาก 4 ทีมสตาร์อัพ ในงาน Techsauce ปีที่ผ่านมา เราได้ให้โจทย์ในการทำแอพพลิเคชั่นที่จะมาตอบโจทย์เรื่องของการแก้ไขปัญหาสังคม 1 แอพฯ โดยมองว่า ปัญหาสัตว์จรจัดที่มีจำนวนมากในไทย ยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก จึงต้องการสร้างแอพพลิเคชั่นขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษา สตาร์ทอัพ รวมถึงผู้ที่สนใจปัญหาดังกล่าวมาร่วมระดมความเห็น เพื่อนำ ไอเดียไปต่อยอดพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่น ที่จะส่งมอบให้กับองค์กรสาธารณะเพื่อนำไปใช้ในสังคมวงกว้างต่อไป
ต่างประเทศมีแอพพลิเคชั่นที่ช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงแล้ว ส่วนในไทยยังมีนักพัฒนาในด้านนี้บ้าง แต่น้อย และยังไม่ถูกใช้งานในวงกว้าง ซึ่งโดยส่วนใหญ่ยังเป็นการใช้โซเชียลมีเดีย เป็นศูนย์กลางในการกระจายข้อมูลข่าวสาร และช่วยเหลืออยู่
“ทั้งนี้สิ่งที่เรากำลังทำ นอกจากจะเป็นเรื่องของธุรกิจแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนช่วยเหลือสังคม ซึ่งแอพพลิเคชั่นที่จะถูกพัฒนาออกมา เราเชื่อว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาสังคม อีกทั้งยังเป็นการให้การศึกษาและชี้ให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาอีกด้วย โดยทางทีมงานของเรามองว่า ภายหลังจากที่แอพฯ สำเร็จแล้ว เราจะส่งมอบให้องค์กรสาธารณะ เพื่อกระจายสู่สังคมต่อไป”

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในการสร้างนวัตกรรมนอกจากจะต้องมองหาทางออกของปัญหาอย่างยั่งยืนแล้ว โจทย์สำคัญที่เป็นสิ่งท้าทายสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพคือ การคิดโมเดลธุรกิจที่สอดรับ และโตตามทันกับฝั่งที่ต้องการรับความช่วยเหลือ
“วันนี้มีคนมาเสนอไอเดียในการทำแอพฯ เลี้ยงสัตว์กับผม เช่น หากคุณอยากเลี้ยงสัตว์อะไร ก่อนที่จะตัดสินใจไปซื้อสัตว์เลี้ยงมาจริง ให้ทดลองเลี้ยงในแอพฯ ก่อน 1 อาทิตย์ เพราะสัตว์จะมีพฤติกรรม รวมไปถึงความต้องการต่างๆ ที่เรายังไม่รู้ และยังเป็นการทดสอบผู้เลี้ยงว่า จะสามารถจัดการ และรับมือกับพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงได้หรือไหม ซึ่งถ้าหากไม่ผ่าน นั่นอาจหมายถึงว่า คุณมีความรับผิดชอบไม่มากพอ ซึ่งผมฟังไอเดียนี้ ผมก็สนใจแล้ว และเชื่อว่าในการระดมความเห็นครั้งนี้จะมีไอเดียอื่นๆ ที่น่าสนใจอยู่อีกมาก”
ดร.ธีระพล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในต่างประเทศ มีการแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักการเดียวกับการรับเด็กมาอุปการะ ซึ่งจะต้องดูความพร้อมของผู้อุปการะ ขณะที่เมืองไทย เมื่อต้องการรับสุนัขมาเลี้ยง ยังไม่มีระบบการจัดการ หรือขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ เมื่อผู้เลี้ยงรู้สึกว่ารับภาระหรือดูแลไม่ไหว ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา จะเห็นว่า ปัญหาสัตว์จรจัด มีปัญหาย่อยแฝงอยู่เยอะมาก แต่เราก็ไม่ได้คาดหวังว่า แอพพลิเคชั่นที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเป็นยาครอบจักรวาล ที่กินเม็ดเดียวแล้วสุนัขจรจัดลดลง แต่อย่างน้อยเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาได้บางมุม ก็ช่วยเหลือพวกเขาได้เยอะแล้ว

สุทัศน์ รงรอง ผู้ก่อตั้งบริษัท Do in Thai
สร้างกระบวนความคิดหาทางร่วมมือทุกภาคส่วน
สุทัศน์ รงรอง ผู้ก่อตั้งบริษัท Do in Thai หน่วยงานคิดค้น วิจัย ออกแบบ และพัฒนานวัตกรรมเชิงสังคม และพัฒนานวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของผู้คนในโลกยุคใหม่ กล่าวว่า ในฐานะที่รับหน้าที่เป็นผู้จัดกระบวนการเวิร์กชอปมองว่า การจะได้มาซึ่งไอเดียที่จะสามารถนำไปต่อยอดเพื่อใช้งานได้จริงนั้น จะต้องสามารถระบุถึงปัญหาและแนวทางแก้ไข รวมถึงต้องตอบคำถามได้ว่า สร้างคุณค่าอะไรให้กับสังคมบ้าง ผ่านกระบวนการความคิดที่เรียกว่า Appreciative Inquiry หรือ AI รู้จักกันในชื่อภาษาไทยว่า “สุนทรียสาธก” ได้แก่ Discovery การค้นพบ, Dream การสร้างฝัน, Design การออกแบบ และ Destiny การทำให้เป็นจริง
![]() |
ฉบับที่ 218 เดือนกุมภาพันธ์ร้านค้าขนาดเล็ก ไม่ต้องใช้เงินสด
|
ยกตัวอย่างเช่น เราพบว่า สุนัขที่มีอาการไอบ่อยๆ มีโอกาสเป็นโรคหัวใจสูง เราจึงมีความฝันว่าจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นจับเสียงไอของสุนัข ที่สามารถบันทึกและส่งต่อให้กับเครือข่ายสัตว์แพทย์อาสา ที่สามารถฟังเสียง ตรวจสอบผ่านแอพฯ ก็สามารถบอกได้ว่า สุนัขตัวนั้นเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจกี่เปอร์เซ็นต์ จากนั้นเริ่มลงรายละเอียดว่าแอพพลิเคชั่นจะออกมาในลักษณะใด และการลงมือทำให้เป็นจริง
“ไอเดียทั้งหมดที่ได้ในวันนี้เราจะมีการนำไปประชุมเพื่อสรุปอีกครั้ง เมื่อได้ข้อสรุปแล้วเราจึงจะพัฒนาซอฟต์แวร์ และจัดหาพาร์ตเนอร์ต่อไป อย่างไรก็ตาม นอกจากการร่วมมือกับภาคเอกชน ที่เข้าใจปัญหาและมีจิตอาสาในการแก้ไขปัญหาสัตว์จรจัดในเมืองแล้ว เราต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่เข้าใจปัญหานี้อย่างแท้จริงและเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้การทำงานง่ายขึ้น เช่น การออกนโยบาย รวมไปถึงคนในสังคม ที่ต้องมาร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ และให้ความสำคัญกับปัญหานี้มากกว่าการทำเป็นแคมเปญ หรือโครงการที่ทำแล้วจบไป”

ผู้ดำเนินกิจกรรมเวิร์กชอปเล่าประสบการณ์และปัญหาในการช่วยเหลือสุนัขและแมวจรจัด
ปลุกกระแส-สร้างจิตสำนึก แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
สุทัศน์ กล่าวต่อว่า นอกจากการทำแอพพลิเคชั่นที่จะช่วยแก้ไขปัญหาแล้ว การจะทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จะต้องกลับไปสร้างจิตสำนึกของคนในสังคม ให้มีความรับผิดชอบในการเลี้ยงสัตว์ และมีจิตเมตตาเห็นพวกเขาเป็นเพื่อนร่วมสังคมมากขึ้น
“ประเด็นหนึ่งที่จับได้ในวันนี้คือ ปัญหาสัตว์จรจัดเป็นปัญหาของคนที่เลี้ยงสัตว์ กับคนที่ไม่เลี้ยงสัตว์ ซึ่งสุดท้ายจะต้องเผยแพร่แอพพลิเคชั่นนี้ออกสู่สาธารณะ เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากคนทุกคน ไม่เพียงแต่เฉพาะคนเลี้ยงสัตว์ แต่ยังหมายถึงทุกคนที่สามารถยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือได้ ซึ่งผมมองว่า แอพฯ ที่จะเกิดขึ้น ควรทำหน้าที่เป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้ใช้งาน เปลี่ยนความคิดจากที่ไม่สนใจปัญหาสุนัขและแมวจรจัด มาเป็นคนที่สนใจ สามารถให้ความช่วยเหลือ และยังสามารถแบ่งปันความรู้ต่อไปยังผู้อื่นได้ อย่างไรก็ตามด้วยพันธมิตรที่มีอยู่ เชื่อว่า เราสามารถใช้ช่องทางต่างๆ ที่มีเข้ามาช่วยสื่อสารกับสังคมวงกว้างได้”
อย่างไรก็ตาม การสร้างความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาสัตว์จรจัด ควรแก้ไขทั้งห่วงโซ่ระบบ โดยอาศัยความช่วยเหลือและสนับสนุนจากหลายๆ ฝ่าย ไม่ใช่ทำแค่เฉพาะกลุ่มคนที่เห็นปัญหาเท่านั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นได้จริง และถึงแม้ในวันนี้จะยังเป็นเพียงแนวคิด แต่น่าติดตามว่าหลังจากนี้ปัญหาเพื่อนจรจัดจะถูกแก้ไขอย่างไร และแอพพลิเคชั่นที่จะเกิดขึ้นจะสร้างประโยชน์ได้อย่างแท้จริงหรือไม่