ไต้หวัน เมืองเทคโนโลยี ขับเคลื่อนประเทศ

Taiwai-digital-city

เมืองไทจงมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของไต้หวัน

แวดวงสื่อดิจิทัลยังคงมีสิ่งแปลกใหม่เกิดขึ้นมาบนโลกนี้ในทุกวันครับ ในฐานะของอาจารย์ที่สอนการเขียนโปรแกรมพัฒนาเกม ระบบเกม หรือแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ก็สามารถรับรู้ได้ถึงทักษะที่ไวขึ้นต่อการเรียนรู้ของเด็ก อาจจะเพราะมีตัวอย่างให้เลือกศึกษามากมายอยู่บนอินเทอร์เน็ต เช่น พวก Tutorials บทเรียนออนไลน์มากมายในรูปแบบ Blog หรือ Videos ประกอบกับเครื่องมือมากมายที่อำนวยความสะดวกในการหยิบจับมาพัฒนาสื่อดิจิทัลประเภทเกม หรือแอนิเมชั่น เช่น โปรแกรม Unity สำหรับสร้างเกม Blender สำหรับสร้างโมเดล 3 มิติ และชุดพัฒนาแอนิเมชั่นของ Reallution เช่น iClone สำหรับสร้างกระบวนการออกแบบ 3 มิติ แบบ Pre-Production ถึงขั้นมีการแข่งขันประกวดคลิปแอนิเมชั่นความยาว 3-3.30 นาที โดยใช้เวลาในการสร้าง 48 ชั่วโมงต่อเนื่อง ชื่อ Asiagraph Reallusion Award 2017 เพราะเครื่องมือและโอกาสที่มากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ที่ทำให้เด็กในยุคนี้ที่เป็น Digital Natives เกิดการเรียนรู้ได้เร็วขึ้น มี Learning Curve ที่สั้นลงเข้าใจอะไรได้ง่าย อาจารย์ผู้สอนอย่างเราก็เป็นได้แค่ผู้แนะแนวทาง และเป็นผู้ร่วมเรียน (Co-Learner) แทนแล้วกัน จากผลที่เด็กในยุคนี้มี Learning Curve ที่สั้น และสามารถสร้างเนื้อหารูปแบบสื่อดิจิทัลได้ง่าย ก็ทำให้เกิดความท้าทายใหม่ขึ้นนั่นคือ เกมในตอนนี้ใครๆ ก็สร้างได้ แต่จะสร้างให้สนุกต้องทำยังไง เช่นกัน แอพพลิเคชั่นมือถือ หากว่ามันสร้างง่ายแล้วทำยังไงถึงจะทำให้เกิดผู้ใช้ที่มากพอจะสร้างรายได้ นั่นต้องเป็นโจทย์ที่อาจารย์อย่างผมต้องหาทางมาช่วยเหลือลูกศิษย์

การศึกษาดูงานที่ต่างประเทศนี่แหละครับที่เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ในยุคนี้ เพราะเชื่อว่าการได้อยู่ในต่างแดน ได้เห็นสิ่งใหม่ๆ บริบทสังคม และอุตสาหกรรมในต่างประเทศ จะเป็นสิ่งที่จุดประกายความคิดของพวกเขาให้มากขึ้น แม้ว่าหลายๆ คนจะมองว่า การไปดูงานคือการไปเที่ยวก็เถอะ ผมเชื่อว่าในการไปเที่ยวหรือไปเปิดหูเปิดตาดูโลกภายนอก เป็นการเรียนรู้ที่มากกว่าการก้มหน้าอ่านหนังสือหรือบทเรียนเดิมๆ ที่หาอ่านได้จากอินเทอร์เน็ต ในสภาพแวดล้อมสังคมเก่าๆ แน่นอน

Taiwai-digital-city

ไลฟ์สไตล์วัยรุ่น

ไม่มีการเรียนรู้ไหนดีกว่าการออกไปเดินทาง
บังเอิญประจวบเหมาะพอดีที่ทางวิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่ผมสังกัดอยู่นั้น มีโครงการพานักศึกษาไปดูงานด้านเทคโนโลยีที่ประเทศไต้หวัน ก็เลยได้โอกาสไปดูสิว่าประเทศไต้หวันนั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งจากที่ทางผมได้สังเกตคร่าวๆ แล้วก็จะพอทราบดีว่า ธุรกิจหลักของประเทศไต้หวันที่ดูเหมือนจะเป็นอนุรักษ์นิยมนั้น ก็แอบมีอุตสาหกรรมหลักในส่วนไอทีอยู่มากพอดู

การเดินทางเนื่องจากมีผู้เข้าร่วมทริปรวมอาจารย์ นักศึกษา เจ้าหน้าที่ ผู้ติดตาม แล้วเบ็ดเสร็จเกือบ 50 ชีวิต ทำให้เกิดอาการหัวเสียเล็กน้อยตอนเช็กอินเข้าเกทสนามบิน แต่พอผ่าน 3 ชั่วโมง อันน่าหงุดหงิดใจก็เป็นการพยายามทำยังไงดีให้ตัวเองหลับให้ได้ เพราะเวลาบินของวันคือตี 2 และถึงสนามบินที่ประเทศไต้หวันเวลา 6 โมงเช้าของที่นั่น ซึ่งก็ตรงกับตี 4 กว่าๆ ของประเทศไทย นั่นหมายความว่าผมมีเวลานอนแค่ 2 ชั่วโมงกว่าๆ บนเครื่องบิน สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นไปตามคาดครับ อาการเจ็ทแล็กที่ผมไม่เคยเป็นเลยในชีวิตนี้ก็เกิดขึ้นกับผมจนได้กับทริปนี้

อาจจะเพราะปรับเวลาไม่ทัน ผสมกับการนอนน้อยก็เป็นไปได้ ทำให้กิจกรรมในวันแรกคือ การนั่งรถเข้าเมืองไปดูอุตสาหกรรมหลักคือ การเกษตร และไหว้พระวัดสำคัญนั้นเป็นไปแบบมึนงงเล็กน้อย พอจับใจความได้ว่า วัดแรกที่พบคือ “วัดจงไถซาน” ซึ่งถือว่าเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง วัดจงไถซานนั้นมีงบประมาณสร้างโดยงบประมาณที่สูงมากกว่าหมื่นล้านบาท มีโครงสร้างที่แข็งแกร่ง และตำแหน่งที่ตั้งที่ทรงพลัง จากคำบอกเล่าของผู้นำเที่ยว มีเหตุการณ์ประหลาดเมื่อปี 1999 ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงที่มณฑลหนานโถว แผ่นดินแยกเป็นรอยแตกมหึมา หมู่บ้านถูกสูบหายไปในรอยแยกตัวของแผ่นดิน แต่วัดจงไถซาน กลับไม่เป็นอะไรเลย ก็เกิดเป็นความศรัทธาของชาวไต้หวันกับความศักดิ์สิทธิ์ครั้งนั้นมากขึ้น

Taiwai-digital-city

วัดเหวินหวู่

ทริปของวัดยังคงไม่จบในวันแรกมีคิวกราบพระในวัดอีก 2 วัดดัง ถือว่ามาสร้างกุศลก่อนจะไปดูอะไรใหม่ๆ แล้วกัน วัดต่อมาคือ “วัดเหวินหวู่” โดยจุดเด่นคือ การกราบไหว้เทพเจ้าขงจื๊อตัวแทนแห่งผู้มีปัญญาและเทพเจ้ากวนอู ตัวแทนแห่งความซื่อสัตย์ แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดกลับเป็น “ทะเลสาบสุริยัน – จันทรา” ทะเลสาบแห่งนี้นับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมของชาวไต้หวัน มีระยะทางยาวถึง 33 กิโลเมตร โดยสถานที่โดยรอบของทะเลสาบแห่งนี้จะมีจุดสำคัญที่ท่องเที่ยวมากมาย เช่น หมู่บ้านชาวประมง เกาะรูปร่างแปลกที่มีการเล่าเรื่องความเป็นมามากมายแทบทุกเกาะ ยิงยาวไปกับทริปไหว้พระทั้งวันไปจบที่การนมัสการพระอัฐิของพระถังซัมจั๋ง ที่ “วัดพระถังซัมจั๋ง” ตามตำนานที่ว่ามีการอัญเชิญจากชมพูทวีป

เช้ารุ่งขึ้น คณะของวิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี ได้เดินทางไปยังเมืองไทจง เมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไต้หวัน เป็นเมืองศูนย์กลางของการศึกษา วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ โดยมีกิจกรรมการทำพายสับปะรดและดูโรงงานผลิตที่มีลูกเล่นของการนำเทคโนโลยีเพื่อความบันเทิงมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับผู้มาเยี่ยมชม เช่น การใช้ Motion Sensor ของอุปกรณ์ Kinect สร้างมินิเกมเล็กๆ ที่ทางเข้าเยี่ยมชม ไปจนถึงการทำ Sensation Marketing ที่นำนวัตกรรมด้านกลิ่นของสับปะรด

ในส่วนนี้เองที่ทำให้ผมได้รับรู้ถึงกลิ่นไอของเทคโนโลยีหนักๆ ที่ผสมอยู่ในอนุรักษ์นิยมของประเทศไต้หวัน หากลองสังเกตให้ดีแล้ว

ประเทศไต้หวัน นับว่าเป็นอุตสาหกรรมหนักประเทศหนึ่งในเรื่องของคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ด้านไอที ไปจนถึงธุรกิจประเทศกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ eSports

สังเกตจากสินค้าอุปกรณ์สำหรับกีฬา eSports จำพวก Gaming Gear อย่าง MSI ที่กลายเป็นคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับคอเกมตัวจริง หรือ Notebook for Gamers ที่หากสืบประวัติมายาวนานก็จะทราบว่า MSI ก่อนหน้าคือ หนึ่งในผู้ผลิตเมนบอร์ดรายใหญ่ในไต้หวัน ที่เริ่มขยายสเกลสินค้าเพิ่มมาผลิตเครื่องอุปกรณ์ไอทีครบวงจร และกลายมาเป็นอุปกรณ์ Notebook for Gamers ที่หลายคนชอบใจ ลูกเล่นด้านดิจิทัล และเทคโนโลยีเองก็กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนออกมาให้เราได้เห็น เช่น กระบวนการผลิตของโรงงาน ที่ใช้รูปแบบของ IoT (Internet of Things) เป็นหลักในการควบคุม โดยเน้นที่พื้นที่และการออกแบบให้ลงตัวกับแบรนด์และตึกบริษัท แตกต่างจากประเทศของเราที่กระบวนการผลิตในรูปแบบนี้ยังอยู่ในโรงงานขนาดใหญ่ และใช้แรงงานคนจำนวนมากอยู่ จบลงที่การแช่น้ำอุ่นในบ่อน้ำแร่ พร้อมกับการนั่งปั่นงานที่ประเดประดังเข้ามา เนื่องจากตัวผมเองในช่วงที่เดินทางจำเป็นต้องมีการติดต่อระหว่างประเทศอยู่

digital-age-magazine-220-april

ฉบับที่ 220 เดือนเมษายน

จับตลาดในยุคโมบายล์เฟิร์ส

 

ทำงานได้ทุกที่ ไม่ขาดการติดต่อ
ความโชคดีของคนในยุคนี้คือ การมีบริการ Wi-Fi Calling ผ่าน แอพพลิเคชั่นในแต่ละเครื่องสมาร์ทโฟนแล้วแต่เครือข่าย พร้อมกับ Pocket Wi-Fi ที่สามารถเช่าใช้งานได้จากสนามบินก่อนที่เราจะเดินทาง ทำให้เราไม่ต้องกังวลในการโทรศัพท์ติดต่อสนทนากันระหว่างเดินทาง ที่สำคัญรถบัสโดยสารเองก็ถูกใจคือ ทำงานแบบผมนั่นคือ Bus Wi-Fi ดังนั้นสิ่งที่น่ากังวลที่สุดหากใครจะเดินทางมาที่นี่คือ การลืม Power Bank สำหรับชาร์จไฟอุปกรณ์พกพาของเราเท่านั้นเอง

วันที่สามของการเดินทางคือ อุทยานแห่งชาติเย่หลิว บังเอิญการเดินทางในวันนี้คือ สภาพของฝนและลมที่หนาวพอดู อุทยานแห่งชาติเย่หลิว แห่งนี้ตั้งอยู่ทางส่วนเหนือสุดของเกาะไต้หวัน มีลักษณะพื้นที่เป็นแหลมยื่นไปในทะเล การเซาะกร่อนของน้า ทะเลและลมทะเล ทำให้เกิดโขดหินงอกเป็นรูปร่างลักษณะต่างๆ ที่แปลกประหลาด หินบางก้อนเองก็มีระยะเวลาอยู่ได้ตามเวลาที่จำกัด เพราะโดนน้ำซัดเซาะอยู่ตลอด เป็นทริปวันเดียวที่ทำเอาผมเองต้องเปียกหนักอยู่พอดู การเดินทางในวันนี้ด้วยเหตุผลฝนที่ตกหนักแต่เช้า ทำให้พลาดโอกาสในการเดินทางไปยังตึกไทเป 101 ได้เพียงแค่ถ่ายรูปยอดตึกในระยะไกลเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง หากใครมีข้อมูลอะไรมากมายกว่านี้ก็บอกหน่อยนะครับ เพราะมีแววน่าจะได้มาอีกแน่นอน

ช่วงเย็นแก่ๆ คณะเดินทางก็ได้มีโอกาสไปยังอนุสรณ์สถานเจียงไคเช็ค ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงอดีตประธานาธิบดีเจียงไคเช็ค ใช้เวลาในการสร้างถึง 3 ปี สร้างแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2523 มีพื้นที่ประมาณ 205 แสนตารางเมตร

ที่นี่เราจะได้ชมภาพถ่ายและชีวประวัติของท่านผู้นำ เจียงไคเช็ค ที่ปรากฏในรูปแบบของ Documentary เชิงประวัติศาสตร์สำคัญที่หาดูได้ยาก และวิวสวยงามจากแสงแดด และต้นซากุระที่รายล้อมบริเวณของอนุสรณ์สถานแห่งนี้ จบทริปของวันเย็นแก่ๆ ที่การนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดหลงซันซื่อ หรือวัดเขามังกร วัดที่แม้แต่เสียงพูดก็ห้ามเอ่ย

Taiwai-digital-city

3D Printing

ถนนดิจิทัล มหานครแห่งเทคโนโลยี
จุดที่ทำให้เห็นว่า ไต้หวันคือประเทศที่มีเทคโนโลยีสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจนั่นคือ สภาพแวดล้อมของประชากรที่นี่ ถนนเส้นหนึ่งที่เป็นการผสมผสานเอกลักษณ์ของความเป็นดิจิทัล และไลฟ์สไตล์วัยรุ่นเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ถนนซีเหมินติง แหล่งช้อปปิ้งขนาดใหญ่และขับเคลื่อนด้วยสื่อดิจิทัล และเทคโนโลยีที่หลากหลาย ถนนซีเหมินติงเส้นนี้ก็เปรียบเสมือนสยามสแควร์ ของกรุงเทพฯ ที่เป็นแหล่งที่วัยรุ่นมาแสดงแฟชั่นกันแบบจัดเต็ม และสินค้าแฟชั่นมากมายก็อยู่ในย่านนี้ เกม โมเดลแอ็คชั่นฟิกเกอร์ หุ่นยนต์ของเล่น ไปจนถึงการแสดงที่หลากหลาย มีการจัดมาแสดงโชว์กลางถนนตลอดช่วงเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน

หากพูดถึงเรื่องของเทคโนโลยี ประเทศไต้หวันนั้นมีการจัดงานดังๆ มากมายในกรุงไทเป อย่างงาน Computex ที่จะเป็นการรวบรวมรุ่นใหม่ๆ ของอุปกรณ์ Gaming Gear มาประชันโฉมจนกลายเป็นงานที่ต้องมาชมสำหรับสายไฮเทคที่ชื่นชอบอุปกรณ์ไอทีล้ำสมัย อันที่จริงตลาดของสินค้าไอที Gadgets, Gaming Gear และ Notebook for Gamers ก็ขึ้นชื่อในเรื่องของราคาที่ถูกกว่า หากเปรียบเทียบกับการไปซื้อที่บูธในประเทศไทย ประกอบกับทางด้านวิทยาลัยเองก็มีแผนที่จะซื้ออุปกรณ์สำหรับการเรียนรู้มาประกอบการพัฒนาเนื้อหาการศึกษาอยู่แล้ว เช่น VR, 360 Camera และ 3D Printing หรือเครื่องพิมพ์สามมิติ ห้างฯ หนึ่งที่ขึ้นชื่อในย่านนี้คือ Syntrend ครับ

Taiwai-digital-city

อุปกรณ์ Game ราคาถูกกว่าไทย

ห้าง Syntrend Creative Park และย่านใกล้เคียงนั้นมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยแห่งชาติประเทศไต้หวัน เราจะเห็นอุตสาหกรรมด้านนี้ได้อย่างชัดเจนไปจนถึงรายได้มหาศาลจากสินค้าไอที ก็ไม่น่าแปลกใจครับ ตามที่บอกไว้อยู่แล้วว่าประเทศไต้หวันเป็นประเทศที่เด่นเรื่องไอทีอันดับต้นๆ สิ่งที่ได้มาจากการเดินไปซื้อสินค้าทั้ง 2 วัน ของผมเองนั้นก็ได้ทำให้ทราบว่า เทคโนโลยี VR นั้นเริ่มเข้าใกล้กับชีวิตของผู้ใช้งานมากขึ้น เพราะราคาที่ถูกมากของ PlayStation VR นั้นทำให้อุปกรณ์ชุดนี้ทุกร้านต่างตอบกับผมเหมือนกันว่า “Sold Out” ขายหมด แต่ก็โชคยังดีที่ยังพอซื้อ HTC Vive เครื่องสุดท้ายของห้าง Syntrend กลับมาทันอยู่ ที่สำคัญคือ ตั้งใจไปถามในงาน Vive Land x Syntrend ที่จัดเกม VR โชว์อยู่ที่ห้างชั้น 3 แบบตั้งใจไปเล่นอยู่พอดีครับ หลังจากนั้นก็ไปดูนิทรรศการ Sony World Photography Awards 2017 กับภาพถ่ายสวยๆ

Taiwai-digital-city

ห้าง Syntrend Creative Park

ในวันที่ 2 ที่อยู่ห้างฯ Syntrend เป็นวันหยุดพอดี เราจะเห็นกิจกรรมการฝึกซ้อมกีฬา eSports ที่เด็กๆ ให้ความสำคัญ ในเวลาว่างเข้ามาฝึกฝนการเล่นเป็นทีมมากมาย ตามกลุ่มของแบรนด์สินค้าไอทีที่เป็นสปอนเซอร์ผู้สนับสนุน

แน่นอนว่า ประเด็นนี้ยังคงเป็นข้อถกเถียงในประเทศไทยที่ว่า กีฬา eSports นั้นเป็นแค่วิดีโอเกม และถ้าผลักดันเป็นกีฬาแล้วจะเป็นการผูกขาดและเพิ่มผลประโยชน์ให้กับบริษัทฮาร์ดแวร์ และคอมพิวเตอร์

ตรงประเด็นนี้แหละครับ ถ้าหากมองเทียบดูแล้วหากมีการจัดการให้ดีและมีการสนับสนุนแบบจริงจังเหมือนประเทศไต้หวัน จะเป็นการเปลี่ยน Mindset ของคนที่มองต่างออกไป แต่ก็ว่าไม่ได้ครับ เพราะว่า หากเปรียบเทียบในเรื่องของความรับผิดชอบ และการมีความสมารถในการทำบางสิ่ง แยกแยะกีฬา การเรียน และเล่นได้ ผมก็ยังมองว่า ในเอเชียเด็กไทยเรายังต้องมีการปรับอีกมากอยู่พอดี ดังนั้น ถ้าอยากจะให้กีฬา eSports เป็นกีฬาจริงๆ ปล่อยผู้ใหญ่เถียงกันไป แต่สำหรับเด็กๆ ในประเทศไทย ต้องทำให้โลกภายนอกเห็นว่า เราปรับปรุงแล้ว ไม่ใช่แค่เด็กวัยรุ่นติดเกมเสียการเรียนเหมือนที่หลายๆ คนมองก็พอครับ

Taiwai-digital-city

นิทรรศการ Sony World Photography Awards 2017

ใน 2 วันสุดท้ายเป็นบรรยากาศแบบ Free Day อยากจะไปทำอะไรก็ได้ตามใจของแต่ละคนครับ ก็แน่นอนว่า การหอบหิ้วอุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่ๆ จากที่นี่กลับไปเป็นสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กให้ลองใช้ก็คือ หน้าที่หลักของครูแบบผมและทุกท่านที่มาในทริปนี้

สรุป ทริปนี้หากมองในเชิงการท่องเที่ยวก็อาจจะเป็นการมาดูประเทศอนุรักษ์นิยม ที่โดดเด่นด้านเทคโนโลยี และเกษตรกรรม แต่ถ้าเป็นสายไอที หรือ Geeks ก็น่าจะถูกใจสุดๆ กับถนนซีเหมินติง แหล่งรวมวัยรุ่นและ Syntrend Creative Park ศูนย์ไอทีครบวงจร ภาพรวมแล้วก็รู้สึกเสียดายที่ไม่ได้มีโอกาสมางานไอทีใหญ่ๆ ที่จัดที่นี่สักที เพราะขนาดที่ว่าไม่มีงานอะไรใหญ่โตจัดในช่วงที่ผมไปยังรู้สึกตระการตาขนาดนี้เลย

กลับมาประเทศไทย ก็ถือว่าได้เห็นรูปแบบของสังคมในประเทศไต้หวัน และการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี อุตสาหกรรม ที่ขับเคลื่อนประเทศทั้งในแง่ของการผลิตและใช้งาน ถามว่าได้อะไรจากการไปครั้งนี้ นักศึกษาและอาจารย์ในทริปได้เปิดประสบการณ์และเห็นมุมมองในด้านนี้เต็มๆ ทีนี้จะบอกว่าการไปสัมมนาคือ การไปเที่ยว ผมว่าต้องคิดดูใหม่นะ เพราะกลับมาจากต่างประเทศแต่ละที วิทยาลัยของผมก็มีอะไรใหม่ๆ มาสอนทุกครั้งเลย

Contributor

banyapol2

บัญญพนต์ พูนสวัสดิ์

อาจารย์ประจำสาขาการออกแบบเชิงโต้ตอบและการพัฒนาเกม คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์,นักเทคโนโลยีการศึกษา ชำนาญการด้าน Blended Learning และ Game-Based Learning ควบตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท เดย์เดฟ จำกัด ที่ปรึกษาด้านธุรกิจดิจิทัลด้วยประสบการณ์ในสายงานมากกว่า 10 ปี

Facebook: banyapon

Website: www.daydev.com

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

future car
รถอัจฉริยะกับอุบัติเหตุ

รถอัจฉริยะของกูเกิล จะมีมนุษย์นั่งไปด้วยเพื่อเข้ามาควบคุมรถแทนในสถานการณ์ที่รถอัจฉริยะยังทำเองไม่ได้ ในบทความที่แล้วผมได้นำเสนอประเด็นเรื่องรูปแบบการจราจร และการใช้รถอัจฉริยะร่วมกับระบบขนส่งมวลชนไปแล้ว บทความนี้ ผมจะนำเสนอเรื่องของรถอัจฉริยะต่อในอีกมุมหนึ่ง นั่นคือ...