ภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะเป็นภาษาสากลในอนาคต

ว่าด้วยเรื่องของภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เมื่อกฎขึ้นมาในวงสนทนาเมื่อไร มักจะถูกคนทั่วไปมองหน้าเอาว่า นี่มันคือพวกเนิร์ด (Nerd) หรือกี๊ก (Geek) บ้าคอมฯ และพูดอะไรเข้าใจอยากแบบมนุษย์ต่างดาวแน่นอน ไม่ต้องแปลกใจครับ หลายคนมักเข้าใจว่าภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นเป็นภาษาที่คนทั่วไปไม่น่าจะเข้าใจได้ง่าย และเป็นภาษาที่เจาะจงเฉพาะผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพ อย่างนักพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์มือถือเท่านั้น

ประมาณว่าถ้าคนทั่วไปที่อยู่สายกฎหมาย สายการเงิน สายบริหารที่ไม่ได้มีโอกาสใช้งานเทคโนโลยีใกล้ตัวในเชิงวิเคราะห์ระบบเชิงลึก ก็มักจะมองว่า “พวกนี้คุยอะไรกันพูดไม่รู้เรื่อง” หรือ “กรุณาพูดภาษาไทยหน่อยสิครับ” แต่ตอนนี้อาจจะต้องปรับมุมมองกับเจ้าภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นี้กันใหม่แล้วล่ะครับ โดยเฉพาะประเทศไทยของเรา เพราะแนวโน้มของโลกตอนนี้ภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์กำลังจะกลายเป็นภาษาสากลในอนาคตที่ใช้ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก

ยังไงก็ขอออกตัวก่อนนะครับว่า ผมไม่ได้จั่วหัวมาเพื่อบอกว่า “มาเรียนเขียนโปรแกรมกันเถอะ” หรือยกย่องเชิดชูคนสายไอที อย่างสายงานอาชีพโปรแกรมเมอร์ว่าเป็นอาชีพที่สูงส่งกว่าอาชีพอื่นแต่อย่างใด ทุกสายงานอาชีพยังคงมีความสำคัญเท่าเทียมกันและยังต้องอาศัยผู้ชำนาญการในสาขาทั้งหลายมารวมพลังเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติอยู่เช่นเดิมครับ เพียงแค่ในประเด็นที่ยกมาเขียนนี้ต้องการเพียงจะสื่อว่าแนวโน้มของการขับเคลื่อนนวัตกรรมของโลกนั้น สายงานที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองของเศรษฐกิจในยุคนี้ที่ขาดไม่ได้เลยคือนักพัฒนาโปรแกรม

เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เป็นสิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยผลักดันและให้ความสำคัญตามวาระแห่งชาติคือ ประเทศไทย 4.0 ประกอบกับความก้าวหน้าของนวัตกรรมทางด้านอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีที่มีการเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจในแต่ละประเทศเกิดการตื่นตัว ประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกัน เพราะหากว่า ประเทศใดที่ไม่เกิดการตื่นตัว ประเทศนั้นก็จะวิ่งรั้งท้าย ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศนั้นครับ และตัวเศรษฐกิจดิจิทัลนี่เอง มันมีผลโดยตรงกับตลาดแรงงานในศตวรรษที่ 21 หรือ Digital Natives อย่างที่ผมเคยพูดถึงก่อนหน้านี้ที่ใช้เทคโนโลยีได้คล่องและสามารถทำความเข้าใจได้ดีกว่าคนใน GenX, GenY ที่กำลังย่างกรายเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ทักษะและองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศนั้น นอกจากองค์ความรู้เดิมจากผู้ชำนาญการในสายงานแต่ละอาชีพ และประสบการณ์การทำงานในอุตสาหกรรมที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ในตอนนี้และแนวโน้มในอนาคตบ่งชี้ว่า เราต้องพึ่งพาทักษะเพิ่มเติมคือ การใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งลองวิเคราะห์กันดู เพียงแค่การติดต่อประสานงาน หรือการสนับสนุนการขายเบื้องต้นการใช้เครื่องมือก็เป็นสิ่งที่พอเพียงแก่คนทำงาน หรือบุคลากรในองค์กร แต่ถ้าลงลึกไปถึงเรื่องของสายการผลิต หรือการบริการสินค้าที่ซับซ้อนอาจจะต้องใช้ทักษะหรือความชำนาญด้านเทคโนโลยีที่ลึกกว่าการใช้งานเบื้องต้น

ผู้มีทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งต้องการในท้องตลาด
อันที่จริงแล้วการผลิตบุคลากรในอนาคตเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาที่ต้องปรับการเรียนการสอนให้บูรณาการความสู้ 4 ด้านคือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM- Science Technology Engineering Math) ให้กับคนรุ่นใหม่ และหนึ่งในรูปแบบการเรียนการสอนแบบ STEM นั้น ต้องรวมองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมเบื้องต้นลงไป และเน้นที่การเรียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

อย่างเพิ่งตกใจไปครับ การเรียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไม่ใช่เรื่องที่ยากเท่าไร และผมไม่ได้หมายความว่าผู้อ่านจะต้องเข้าใจภาษาโปรแกรมหรือ Source Code ภาษาโปรแกรมมากมายหลายภาษาแบบลึกซึ้ง การเรียนรู้ภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในความหมายของผมคือ การเข้าใจลำดับการทำงาน และเข้าใจภาพรวมแบบกว้าง และรู้ว่ามันทำงานยังไง มีข้อจำกัดอะไร และภาษาโปรแกรมแต่ละภาษาเหมาะกับเทคโนโลยีแบบไหน เช่น

CHATBOT

ภาษา Java เหมาะกับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นระบบปฏิบัติการ Android และสามารถเขียนโปรแกรมสำหรับองค์กรได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภาษา PHP และ NodeJS สร้างเว็บไซต์ และระบบการทำงานเบื้องต้นของ AI (ระบบปัญญาประดิษฐ์) อย่าง Chatbot ที่กำลังเข้ามาแย่งงานด้าน Customer Services ไปทีละหน่อยได้ เป็นต้น

การเข้าใจภาพรวมของภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เข้าใจข้อจำกัด และเข้าใจการเขียน การทำงาน การประมวลผลจะทำให้เราสามารถควบคุมการทำงานของผู้ชำนาญการด้านนี้ และสามารถประเมินความเป็นไปได้ในแง่ของระยะเวลาต้นทุนสำหรับพัฒนาและออกแบบระบบการผลิตได้ในอนาคต

Chatbot และ Machine Learning ผลลัพธ์ที่ใกล้ตัว
พูดถึงเรื่องของ Chatbot หลายคนเคยได้รู้จักและได้ยินเกี่ยวกับเจ้า Chatbot มาบ้างแล้ว ซึ่งมักจะมาพร้อมกับ Machine Learning พอหลายๆ คนที่อยู่ในสายงานที่ไม่เกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีก็มักจะไม่สนใจ รู้แค่ว่ามันชื่ออะไร แต่ไม่รู้ว่ามันทำงานอะไรเท่านั้นเอง ก็จะเสียโอกาสที่จะเรียนรู้มัน และยังเสียโอกาสในการทำงาน เพราะมันเข้ามาแย่งงาน

Chatbot คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์รูปแบบหนึ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับสื่อสารโต้ตอบผ่านการสนทนาพูดคุยกับมนุษย์ คล้ายกับว่าหากเราถามสิ่งใดเรื่องอะไรไป เจ้า Chatbot ก็จะตอบกลับมายังเราได้ตรงกับสิ่งที่เราคาดหวังไว้ทันที คล้ายกับ Customer Services หรือพนักงานบริการดูแลลูกค้า สิ่งที่ Chatbot ตอบกลับมายังผู้สนทนาด้วยนั้นไม่ใช่ความฉลาดหรือสมองกลที่ทำงานเกินมนุษย์ครับ แต่เป็นกลไกของการกำหนดสิ่งที่เรียกว่า “Rule” หรือกฎให้กับมัน เช่น เรากำหนด Rule จากประโยคของผู้สนทนาที่น่าจะเป็นลูกค้าของเราพิมพ์สอบถามในโปรแกรม Chatbot ว่า

“สวัสดี ฉันมีเรื่องจะสอบถามนิดหน่อยเกี่ยวกับบริการ”

เราจะหยิบ Rule ข้างต้นมาประมวลผลผ่านสิ่งที่เรียกว่า Machine Learning ประมวลผลคำ เมื่อ Machine Learning คำนวณเห็นคำว่า “สอบถาม” และ “บริการ” ระบบจะประมวลผลหาข้อมูลที่ตรงกับ Rule ที่มีคำว่า สอบถามบริการโต้ตอบกลับไปทันทีว่า

“สินค้าหรือบริการตัวไหน ระบุรุ่นมาได้เลยค่ะ”

และเจ้า Machine Learning นี่เองจะเป็นตัวที่เรียนรู้สถิติของผู้บริโภค หรือผู้สนทนาข้างต้นว่า มีการสอบถามบริการเกี่ยวกับสินค้าดังกล่าวมาแล้ว ในครั้งต่อๆ ไปเมื่อเกิดการสอบถามในคำถามเดิม แต่รวมกับประวัติและพฤติกรรมความถี่ของลูกค้าคนนี้โต้ตอบกับระบบ รวมไปถึงประวัติการใช้บริการตลอดมามันจะเข้าใจทางเลือกได้ฉลาดกว่าเดิม เช่น

“สวัสดี ฉันมีเรื่องจะสอบถามนิดหน่อยเกี่ยวกับบริการ”

เจ้า Chatbot จะโต้ตอบทันทีว่า

“เกี่ยวกับข้อมูลประกันหมายเลข XXX-XXXX ใช่หรือไม่?”

แน่นอนว่า ตอนนี้ Chatbot ถูกใช้ในการทำหน้าที่แทนสายงานด้านบริการอย่าง Customer Services เพราะ Chatbot ไม่มีเรื่องอารมณ์มาเกี่ยวข้องในการทำงาน ทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องพบกับสภาวะทางอารมณ์ของพนักงาน ซ้ำการติดต่อสื่อสารในปัจจุบันนั้นก็ผ่านทาง Social Network เครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยตอนนี้มีบริการยอดนิยมอย่าง LINE Message API ที่นักพัฒนาหลายคน และองค์กรหลากหลายองค์กรเริ่มนำ API ตัวนี้มาสร้าง Chatbot ผ่านแอพพลิเคชั่น LINE มากขึ้น ในต่างประเทศอาชีพด้านลูกค้าสัมพันธ์หรือ Customer Service ถูกทดแทนด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์หรือเจ้า Chatbot ซึ่งลามไปถึงอาชีพที่ซับซ้อนอย่างทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย และการเงินการบัญชี ในต่างประเทศ สาขาธนาคารมีการลดจำนวนสาขาลงไปเยอะมาก เพราะใช้ Chatbot ในการแก้ปัญหาลูกค้า ลดต้นทุนการจ้างพนักงานลง

คนในสายงานด้านกฎหมายและบัญชีการเงินอาจจะเล็งเห็นว่า มีการถูกแย่งงานจากเทคโนโลยี แต่เอาเข้าจริงผมว่าไม่สามารถถูกแย่งได้ครับ ถ้าคุณมีการพัฒนาทักษะองค์ความรู้เพิ่มเติม อย่างทางด้านกฎหมาย ที่หลายคนถอดใจว่า วันหนึ่ง Machine Learning จะเข้ามาเพราะระบบคอมพิวเตอร์ประมวลกฎหมายได้แม่นยำกว่าคนหลายเท่า อาชีพที่ปรึกษาด้านกฎหมายก็ลงจะหมดไป อย่าลืมนะครับว่า Chatbot หรือเจ้า Machine Learning นี้มันทำงานแบบ Based on Rules ความฉลาดของมันและการเรียนรู้ของมันขึ้นอยู่กับ Rule ที่เราเพิ่มเข้าไปหรือเราไปสอนมัน หากสายงานด้านกฎหมายยังมีเคสใหม่ๆ ปรากฏขึ้นก็ยังสามารถที่จะสร้างสรรค์ Rule เพิ่มเติมและทำงานควบคู่กับเจ้า Chatbot และ Machine Learning เพราะโอกาสและความท้าทาย การเรียนรู้ของคนก็ยังคงสำคัญ และยังเกิดใหม่ได้เรื่อยๆ มากกว่าเจ้า Chatbot หรือ Machine Learning ที่ยังไงเราก็ต้องเข้าไปสอนและกำหนดให้กับมันอยู่ดี

วิทยาการคอมพิวเตอร์กลายเป็นวิชาพื้นฐานให้กับทุกหลักสูตร
จากเมื่อก่อนนี้ วิชาพื้นฐานอาจมีหลากหลายวิชา วิชายอดฮิตคือ วิชาภาษาอังกฤษ แต่ในยุคนี้ วิชาพื้นฐานอาจจะเป็นการเพิ่มเติมวิชาในศาสตร์ของวิทยาการคอมพิวเตอร์เข้าไป ก่อนหน้านี้ที่ สหรัฐอเมริกาฯ ในสมัยของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เคยมีนโยบาย Computer Science For All เป็นโครงการส่งเสริมให้นักเรียนชาวอเมริกันทุกคนมีโอกาสเรียนวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เพื่อฝึกทักษะการเป็น “ผู้สร้าง” ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล แทนการเป็นผู้บริโภคแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยแนวคิดข้างต้นเป็นการวางแผนเริ่มนโยบายที่บ่งชี้ว่า ในอนาคต “วิทยาการคอมพิวเตอร์” หรือ Computer Science จะกลายเป็นทักษะพื้นฐานที่ทุกคนต้องมีติดตัว

CHATBOT

โครงการดังกล่าวได้เกิดการลงทุน 4 พันล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาการนวัตกรรมการสอนในสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนหลายแห่งให้มีการเขียนโปรแกรม และให้ทุนสนับสนุน National Science Foundation (NSF) เพื่อพัฒนาหลักสูตรและฝึกอบรมครูที่สอนวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ให้มีทักษะการเขียนโปรแกรมเพิ่มขึ้นด้วย นโยบายดังกล่าวเริ่มเห็นผลลัพธ์ในแง่ของนวัตกรรมมากขึ้น ทำให้หลายประเทศอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเวียดนาม เริ่มมีการวางแผนพัฒนาบุคลากรด้านนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามได้กลายเป็นประเทศที่เป็นอุตสาหกรรมต้นๆ ของการเขียนโปรแกรมในเขตเอเชียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นภาษาสากลของโลกในอนาคต
จากตัวอย่างข้างต้นที่ว่ามา ทำให้การเขียนโปรแกรมกลายเป็นสิ่งที่จะจำเป็น และเป็นทักษะพื้นฐานที่เทียบเท่ากับภาษาอังกฤษ นั่นคืออย่างน้อยก็อยู่ในระดับที่ควรจะรู้ไว้ ในอนาคตอันใกล้

เพราะการเขียนโปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์นั้นมีระดับการเรียนรู้ตั้งแต่ง่ายที่สุด ไปถึงยากที่สุด บางภาษาโปรแกรมผู้ที่ไม่มีความชำนาญด้านคอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้และทำตามได้อย่างง่าย

การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยเพิ่มทักษะที่ใกล้เคียงกับการทำโจทย์คณิตศาสตร์ เพิ่มเติมระบบกระบวนการวางแผน ความคิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญในตอนนี้แพลตฟอร์มในการสร้างแอพพลิเคชั่น บนมือถือนั้นสามารถสร้างได้ง่าย ในรูปแบบการลากวาง Drag and Drop หากทำความเข้าใจเงื่อนไขการทำงานของภาษาโปรแกรมได้เล็กน้อยในภาพรวม โอกาสที่จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นมือถือก็จะสูงและง่ายขึ้น

ผู้ที่รู้ภาษาคอมพิวเตอร์หรือเข้าใจข้อจำกัดและการทำงานของมันจะมีความได้เปรียบ
โอกาสมักจะเกิดกับผู้ที่ใฝ่เรียนรู้ และไม่เป็นน้ำที่เต็มแก้วครับ การเรียนรู้ภาษาโปรแกรมระดับง่ายสักตัวสามารถเรียนรู้ได้ตามบทเรียนออนไลน์มากมายทั้งฟรีและเสียเงิน การเรียนรู้คือ การลงทุน และไม่มีใครแก่เกินที่จะเรียนรู้ หากมีการเรียนรู้ภาษาโปรแกรมได้ในตอนนี้โอกาสที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมก็จะมีเพิ่มมากขึ้น ในเรื่องของช่องโหว่ด้านทุนสำหรับดำเนินการ

สำหรับ Digital Natives ทั้งหลายที่กำลังอยู่ในวัยเรียนรู้ หากการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นหนึ่งในวิชาพื้นฐานก็จะมีโอกาสในการสร้างสรรค์แนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจเดิมของตนเองให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลได้มากขึ้น อีกทั้งเข้าข่ายการเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาสู่แรงงานในศตวรรษที่ 21 นั่นคือ ทักษะที่หลากหลายในคนคนหนึ่ง (Multi Skills) ที่แน่นอนว่า หากเยาวชนในประเทศไทยมีทักษะที่หลากหลายตัวนี้ โดยเฉพาะการเข้าใจการทำงานของภาษาโปรแกรม เราจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติไปข้างหน้าได้อย่างดีเลยครับ เพราะภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นกำลังจะเป็นภาษาสากล ก็เหมือนภาษาอังกฤษครับ ซึ่งถ้าเราเข้าใจมันก็มีผลดีต่อเรา ถ้าเราเข้าใจมันเล็กน้อยก็ยังเกิดผลดีอยู่บ้าง แต่ถ้าเราไม่เข้าใจมัน หรือไม่คิดจะเข้าใจมันเลย ก็จะเป็นเพียงผู้ที่น้ำเต็มแก้วพูดเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล พูดเรื่องการทำ Startups พูดเรื่อง IoT ที่รู้ว่าทุกสิ่งที่ว่ามามันชื่ออะไร แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ลองเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ดูบ้างคงไม่เสียหายอะไร

Contributor

banyapol2

บัญญพนต์ พูนสวัสดิ์

อาจารย์ประจำสาขาการออกแบบเชิงโต้ตอบและการพัฒนาเกม คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์,นักเทคโนโลยีการศึกษา ชำนาญการด้าน Blended Learning และ Game-Based Learning ควบตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท เดย์เดฟ จำกัด ที่ปรึกษาด้านธุรกิจดิจิทัลด้วยประสบการณ์ในสายงานมากกว่า 10 ปี

Facebook: banyapon

Website: www.daydev.com

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

IT Brief 2 / ไอทีอัพเดต พ.ย. 60

อุ่นเครื่องอีสปอร์ตที่เกาหลีใต้ ก่อนถึงโอลิมปิก

  • ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ 21-25 ส.ค. 60

    อัพเดตใหม่ พร้อมคุ้มครองความเสียหายจากการใช้แอพฯ อีกไม่นานการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือจะกลายเป็นธุรกรรมหลักของธนาคาร SCB จึงปรับโฉมใหม่เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า โดยมีจุดเด่น...

  • future-smart-car
    รถอัจฉริยะกับสังคมในอนาคต

    แท็กซี่ไร้คนขับ ที่มารับ-ส่งผู้โดยสารตามคำร้องขอผ่านแอพพลิเคชั่น รถอัจฉริยะหรือรถขับขี่อัตโนมัติ (Self-Driving Car) เป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจและผลักดันจากหลายฝ่าย ทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี การมาถึงของรถอัจฉริยะนั้นอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน...

  • VR-Virtual-Reality
    อนาคตของ VR

    ปีที่แล้วดูเหมือนจะเป็นปีแห่งการกำเนิดใหม่ของเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน หรือ VR (Virtual Reality) เพราะบรรดาผู้ผลิตต่างพร้อมใจกันวางจำหน่ายอุปกรณ์ VR กันอย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็น...