ช่วงนี้มีข่าวปลอมหรือ “ข่าวดัก” ระบาดหนักในเครือข่ายสังคมออนไลน์ไทย โดยเฉพาะด้านการเมือง
ทาง Digital Age เราจึงขอสรุปคำแนะนำจากทางเฟสบุ้ค และจากประสบการณ์ของทีมงาน ในการสังเกตแยกแยะว่าข่าวไหนจริงข่าวไหนปลอม มาฝากกัน…
1. อย่าอ่านแค่พาดหัวข่าว
ควรอ่านบทความจนจบก่อนที่จะแชร์ต่อ เพราะข่าวปลอมมักเน้นแต่พาดหัวข่าวที่กระตุ้นความรู้สึก อาจใช้คำรุนแรง และหลายครั้งก็ไม่ตรงกับรายละเอียดข้างในข่าวแต่อย่างใด หรืออาจจะเลือกมาเฉพาะบางจุดโดยบอกความจริงไม่หมด
2. สังเกตข้อมูลผิดๆ การระบุชื่อคนผิดๆโดยไม่ตรงกับบุคคลในรูป หรือการสะกดผิด ซึ่งมักพบได้ในข่าวปลอม และล่าสุดก็ทำเพื่อสร้างความตลกของผู้ที่ทำขึ้นและคนบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งพบได้มากในคำคมต่างๆ
3. ดูแหล่งที่มาของข่าวหรือข้อมูล
ถ้าข่าวนั้น หรือคำพูดนั้นๆ ระบุชื่อผู้เขียน หรือผู้พูดไว้ ก็ควรตรวจสอบการมีอยู่จริงของคนนั้นๆ หรือตรวจสอบว่าคนนั้นๆเคยพูดไว้ดังกล่าวจริงๆจากแหล่งอื่นๆด้วย
และรวมทั้งตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลว่ามาจากองค์กรหรือสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือหรือไม่ ? …แม้ชื่อเว็บดูเหมือนหนังสือพิมพ์หรือสถานีโทรทัศน์ดังๆ แต่ก็อาจเป็นเว็บปลอมได้ โดยใช้วิธีเปลี่ยนตัวสะกด หรือใช้โดเมนเนมแปลกๆที่ไม่ใช่ .com หรือ .co.th
4. ระวังข่าวที่มีสำนวนภาษาใส่อารมณ์ การตัดสิน การสรุปแบบไม่เป็นกลาง หรือความคิดเห็นลงในพาดหัวข่าวและเนื้อข่าว
5. สังเกตวันที่ ว่าอาจเป็นข่าวเก่าที่ถูก “ขุด” ขึ้นมาอีกครั้ง สร้างความตื่นตกใจ หรือเข้าใจผิดได้
6. ระวังรูปภาพหรือคลิปที่ถูกแต่งถูกแก้ไขมา ควรค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับรูปหรือคลิปนั้นเพิ่มเติมเพื่อยืนยันความถูกต้อง
…
จากทุกข้อที่ว่าไป สรุปได้ว่าผู้อ่านไม่ควรเชื่อข่าวใดๆทันทีจากแค่พาดหัวและจากแหล่งเดียวเท่านั้น
และถ้าผู้อ่านท่านไหนมีวิธีสังเกตและป้องกันอื่นๆเพิ่มเติม …เชิญเสนอแนะกันมาได้ที่เพจ Digital Age Magazine ของเรา ( facebook.com/DigitalAgeMag )
เรียบเรียงบางส่วนจาก
facebook.com/help/188118808357379
ภาพประกอบจาก
pixabay.com/illustrations/hoax-news-false-concept-2097359