ViaBus แอพฯ ติดตามตำแหน่งรถเมล์ไม่ต้องรอนาน

1รถเมล์เป็นหนึ่งในบริการขนส่งสาธารณะยอดนิยมในกรุงเทพฯ มีผู้ใช้บริการเป็นหลักล้านคนต่อวัน แต่ปัญหาที่พบเจออย่างปฏิเสธไม่ได้คือ ความไม่แน่นอนของการมาถึง หลายครั้งที่ผู้คนยืนรอรถเป็นชั่วโมง เพราะไม่ทราบตำแหน่งของรถ ทำให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ หรือบางครั้งก็ไม่ทราบเส้นทางการวิ่งรถของสายนั้นๆ และหาคนที่ให้คำตอบไม่ได้เช่นกัน

ทำให้นิสิตจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่าง อินทัช มาศวงษ์ปกรณ์, ธนัทเศรษฐ์ หอวัฒนพันธ์ และธนิษฐ์ ซึ้งหทัยพร ได้สร้างสรรค์ผลงาน ViaBus แอพพลิเคชั่นนำทางและติดตามรถโดยสารประจำทาง ที่จะเข้ามาช่วยให้การใช้งานรถเมล์ของคนกรุงเทพฯ ไม่ยากอีกต่อไป

ฉบับที่ 216 เดือนธันวาคม

ใช้ App ช่วยสังคม ลดช่องว่างคนที่ลำบาก

พัฒนาจากระบบเล็กๆ ขยายผลเพื่อช่วยเหลือสังคม
คนที่เข้ามาใช้รถเมล์ไม่ได้มีแต่คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ยังมีคนต่างจังหวัดที่ไม่ชินเส้นทาง รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งทาง ขสมก. มีบริการสายด่วน 1348 ที่จะบอกเส้นทางการเดินรถ แต่ก็มีหลายคนที่ยังไม่รู้และไม่เคยใช้บริการ

โดยนอกจากการไม่รู้เส้นทางแล้ว ผู้ใช้บริการก็มักจะประสบปัญหาการรอคอยรถที่เมล์ที่ไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไร และมีความต้องการให้มีวิธีการจัดการกับปัญหานี้ โดยแอพฯ ViaBus จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้วยการบอกตำแหน่งของรถเมล์ และทำให้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ สะดวกมากยิ่งขึ้น

vb_fbusstop
vb_fdirec

อินทัช มาศวงษ์ปกรณ์ ตัวแทนของทีม เล่าว่า ก่อนจะมาเป็น ViaBus น้องๆ ได้มีผลงานในลักษณะเดียวกันที่ชื่อว่า CU Pop Bus เป็นการติดตามรถโดยสารที่ให้บริการในจุฬาฯ ซึ่งประสบความสำเร็จและมีการดาวน์โหลดแล้วกว่า 100,000 ครั้ง ซึ่งมากกว่าจำนวนของนิสิตที่มี จึงต้องการนำโครงการนี้มาขยายผล เพื่อแก้ปัญหาในวงที่กว้างยิ่งขึ้นอย่างปัญหาการรอรถเมล์

“หลังจาก CU Pop Bus ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนในจุฬาฯ แล้ว ด้วยความที่เป็นคนใช้รถเมล์บ่อย เราก็มีความคิดว่า ทำไมเมืองไทยถึงยังไม่มีแอพฯ หรือการบอกตำแหน่งของรถเมล์ เหมือนอย่างในต่างประเทศ จึงอยากนำความสำเร็จจากโครงการที่เคยทำ เข้ามาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง โดยได้รับการสนับสนุนจาก Chula Innovation Hub และความร่วมมือจาก ขสมก. ที่ทำให้แอพฯ ViaBus เกิดขึ้นมาได้”

เลิกรอคอยอย่างไร้จุดหมายเมื่อรู้ตำแหน่งของรถเมล์
หลังจากเกิดไอเดียในการสร้างสรรค์ผลงาน น้องๆ มีกระบวนการเริ่มต้นด้วยการออกไปสัมภาษณ์ถึงปัญหาและความต้องการจากผู้ใช้งานขนส่งสาธารณะมากกว่าพันคน แล้วพบว่า สิ่งที่ผู้คนต้องการคือ อยากทราบว่าเมื่อไรรถจะมาถึง ซึ่งคำตอบเหล่านี้ก็ได้เป็นประเด็นหลักในการใช้งานของแอพฯ นี้

อย่างที่ทราบกันว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่รถติดมากระดับโลก ทำให้ระบบไม่สามารถจะกำหนดเวลาการมาถึงของรถได้เหมือนในต่างประเทศว่าจะมาภายในกี่นาที สิ่งที่ทำได้คือ การบอกตำแหน่งของรถด้วยระบบ GPS เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถคำนวณเวลาได้ด้วยตัวเอง และไม่ต้องรอคอยอย่างไร้จุดหมายอีกต่อไป

2

ระบบไม่สามารถจะกำหนดเวลาการมาถึงของรถได้ สิ่งที่ทำได้คือ การบอกตำแหน่งของรถด้วยระบบ GPS เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถคำนวณเวลาได้ด้วยตัวเอง และไม่ต้องรอคอยอย่างไร้จุดหมาย

การใช้งาน ViaBus มีดีไซน์ที่ใช้งานง่าย โดยจะแสดงให้เห็นถึงป้ายรถเมล์ทั้งหมดที่มีอยู่ สายรถเมล์ที่ผ่านป้ายนั้นๆ และตำแหน่งของรถแต่ละคันว่าอยู่บริเวณไหน การจราจรเป็นอย่างไร ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเลือกป้ายพร้อมใส่ปลายทางที่ต้องการ ระบบก็จะแสดงสายรถเมล์ที่สามารถไปได้ หรือจะเลือกใส่ต้นทางและปลายทางด้วยตัวเองก็ได้ ซึ่งนอกจากนี้ยังสามารถเลือกแสดงเฉพาะรถโดยสารปรับอากาศได้

“หลายครั้งที่คนรอรถเมล์นานๆ จนไม่รอ และเลือกใช้บริการแท็กซี่ที่มีราคาแพงกว่า หรืออย่างรถคันสุดท้ายที่ผู้ใช้งานไม่รู้ว่าออกมากี่โมง ออกมาแล้วหรือยัง ซึ่งถ้าเรารู้ว่ารถอยู่ตรงไหนมันก็จะช่วยได้ อีกทางหนึ่งเมื่อสามารถคำนวณเวลาได้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องยืนรอในบางป้ายที่มืดหรือเปลี่ยว ซึ่งอาจจะเกิดความเสี่ยง ViaBus ก็จะช่วยลดตรงนี้ไปได้ด้วย”

ได้รับความสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต
แอพฯ ViaBus เป็นการทำงานที่น้องๆ ต้องประสานงานกับหลายหน่วยงานทั้งทาง ขสมก., มูลนิธิการจราจร และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้ก็ได้เปิดรับและให้ความร่วมมือ เพื่อที่จะช่วยให้เกิดนวัตกรรมเพื่อสร้างสรรค์สังคม และอำนวยความสะดวกอย่างแท้จริง

vb_frealtime
vb_fdirec2

ปัจจุบัน รถเมล์ในกรุงเทพฯ มีอยู่ 200 กว่าสาย ซึ่งตามกฎหมายแล้วรถทุกคันต้องมีการติดตั้ง GPS ที่ตัวรถ โดยทาง ขสมก. ก็เร่งติดตั้งจนใกล้เสร็จสมบูรณ์ และ ViaBus ก็ได้ใช้คลาวด์ในการเก็บข้อมูล ซึ่งหากมีข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น ระบบก็จะสามารถเพิ่มและรองรับได้อย่างแน่นอน โดยทั้งนี้เมื่อต้นปีได้มีการเปิดให้ทดลองใช้ก็มีเสียงตอบรับที่ดีมาก และเห็นผลจริง ซึ่งก็นับว่าเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของผลงานชิ้นนี้

“จริงๆ ViaBus ไม่ได้ช่วยแค่คนที่รอรถ แต่ยังช่วยผู้ประกอบการอีกด้วย หลายครั้งที่มีปัญหารถเต็ม รถไม่พอ หรือทิ้งระยะเกินไป คนที่คุมรถเองก็จะสามารถรับรู้ได้ด้วยแอพฯ เช่นกัน ซึ่งตรงนี้ก็จะช่วยให้การจัดการระบบดีมากยิ่งขึ้น หรือครั้งที่มีรถมากเกินความต้องการอย่างวันเสาร์-อาทิตย์ ก็สามารถชะลอการปล่อยรถ ซึ่งก็จะลดเชื่อเพลิงและต้นทุนลงได้อีกทางหนึ่ง”

สำหรับระยะเริ่มต้นนี้จะให้บริการเฉพาะรถโดยสารในกรุงเทพฯ ซึ่งในอนาคตอาจจะพัฒนาไปสู่เมืองใหญ่ๆ ในประเทศไทยที่มีการให้บริการรถสาธารณะเพื่ออำนวยความสะดวกอย่างทั่วถึง

โดยแอพฯ ตัวเต็มของ ViaBus ไม่ได้จะบอกถึงการมาของรถเมล์เพียงอย่างเดียว แต่จะรวมถึงการบอกตำแหน่งของบริการสาธารณะอย่าง BTS และ MRT เข้ามาร่วมอีกด้วย โดยจะให้บริการทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยน้องๆ บอกว่าในต้นปีนี้จะเปิดให้ผู้ใช้งานได้ดาวน์โหลดกันอย่างแน่นอน

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

ทอ-ไอ-ยอ-ไทย-applicaition
ทอ-ไอ-ยอ-ไทย สอนน้องอ่านภาษาไทย เบื้องต้น

ช่วงเริ่มต้นในการเรียนรู้ภาษา ยังคงเป็นเรื่องที่ยากที่สุดเสมอ โดยเฉพาะกับเด็กๆ ทีเริ่มเข้าโรงเรียนและเรียนรู้ภาษาอย่างจริงจังที่มาก กว่าการพูด ปัญหาการอ่านเขียนภาษาไทยของเด็กเล็ก ยังคงมีให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากมีการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุด...