รถยนต์ในปัจจุบันได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไม่แพ้สิ่งประดิษฐ์อื่น โดยเฉพาะเครื่องยนต์พลังงานต่ำและนวัตกรรมที่ช่วยให้การขับขี่มีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ในช่วงที่ผ่านมาได้มีกระแสการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความตื่นเต้นให้แก่อุตสาหกรรมนี้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นของตลาดรถไฟฟ้าและรถไร้คนขับ เทคโนโลยีการควบคุมด้วยเสียง ตลอดจนโอกาสทางธุรกิจของบริการ “ไรด์แชร์ริ่ง” (Ridesharing) ที่มีแนวโน้มว่าจะมีผู้เล่นหน้าใหม่กระโดดเข้าร่วมวงมากขึ้น ดังนั้น อีกสักหนึ่งทศวรรษจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์คงแตกต่างจากที่เราเห็นในปัจจุบันอย่างยิ่ง
1. รถไฟฟ้าและรถไร้คนขับ ความหวังของคนเมือง
เทคโนโลยีแบตเตอรี่และเครื่องยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องช่วยให้ผู้ผลิตสามารถสร้างรถไฟฟ้าได้หลายรูปแบบด้วยราคาที่ถูกลง ตั้งแต่ยานพาหนะขนาดเล็กอย่างรถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าสำหรับคนเมือง ไปจนถึงรถประจำทางไฟฟ้าขนาดใหญ่ ยกตัวอย่าง บริษัท โตโยต้า ที่ได้เปิดตัว i-Road รถไฟฟ้าขนาดเล็ก ตั้งแต่เมื่อปี 2558 และรถนั่งส่วนบุคคลไฟฟ้าของบริษัท เทสล่า ที่เราคุ้นเคยกันดี สำหรับประเทศไทยนั้น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ประกาศแผนส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าสามระยะ โดยระยะแรก (2559 – 2560) จะเป็นการเตรียมความพร้อมในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบ การสนับสนุนด้านภาษี และด้านสาธารณูปโภค ระยะที่สอง (2561 – 2563) จะมีการขยายผลไปยังกลุ่มรถโดยสารสาธารณะและเตรียมความพร้อมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล และระยะที่สาม (2564 – 2579) ก็จะเป็นการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลอย่างเต็มรูปแบบ
![]() |
ฉบับที่ 219 เดือนมีนาคมยุค IoT ของพลเมืองสูงวัย
|
ในปีนี้ค่ายรถยนต์ชั้นนำต่างก็มีแผนการทดสอบรถยนต์ไร้คนขับกันอย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็นวอลโว ที่ประกาศจะทดสอบรถไร้คนขับกว่า 100 คัน บนถนนจริงในประเทศสวีเดนและจีน ขณะที่ฟอร์ด ก็มีแผนการเพิ่มปริมาณรถในโครงการทดลองรถไร้คนขับในปีนี้เช่นกัน ส่วนบีเอ็มดับเบิลยู ก็จะทดลองรถไร้คนขับในเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเข้าสู่ธุรกิจไรด์แชร์ริ่งในอนาคตของบริษัท สิ่งที่น่าสนใจที่สุดที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้คือ เวย์โม (Waymo) บริษัทลูกของอัลฟาเบท (Alphabet) ได้ประกาศว่าสามารถลดราคาขายของอุปกรณ์ไลดาร์ (Lidar) เทคโนโลยีเลเซอร์ที่ช่วยให้รถไร้คนขับสามารถวิ่งได้ จากราว 75,000 เหรียญสหรัฐ (ราวสองล้านกว่าบาท) เหลือเพียง 7,500 เหรียญ (ราวสองแสนกว่าบาท) และมีแนวโน้มจะลดลงอีกหากตลาดมีความต้องการมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตรถขับเคลื่อนเองมีราคาถูกลง ช่วยดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค และสามารถต่อยอดบริการที่เกี่ยวข้องได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งสาธารณะ ไรด์แชร์ริ่ง หรือกระทั่งการใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้า ทั้งนี้ เวย์โม ได้ทำความตกลงร่วมกับเฟียต ไครสเลอร์ ในการนำอุปกรณ์ไลดาร์ไปใช้กับรถมินิแวน โดยจะมีการทดลองวิ่งภายในปีนี้

อีกไม่นานผู้ใช้รถฟอร์ดจะสามารถสั่งด้วยเสียงผ่านอเล็กซาได้แล้ว
2. ระบบสั่งด้วยเสียงที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เทคโนโลยีสั่งด้วยเสียงในรถก็มีแนวโน้มได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน แม้ว่าลูกเล่นดังกล่าวจะไม่ใช่ของใหม่ เพราะถูกนำมาใช้ในรถยนต์นานแล้ว แต่ก็ได้รับการครหาว่าไม่ได้เรื่อง เนื่องจากระบบไม่สามารถเข้าใจคำสั่งที่ซับซ้อนได้ แต่ในงานแสดงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค (CES) ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา ก็ได้มีบริษัทรถยนต์หลายรายเปิดตัวเทคโนโลยีสั่งด้วยเสียงที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ ยกตัวอย่าง
ฟอร์ด ได้ประกาศว่าผู้ใช้รถของค่ายจะสามารถใช้อเล็กซา ผู้ช่วยดิจิทัลของบริษัทแอมะซอน ในการสั่งการต่างๆ ภายในรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการสอบถามสภาพอากาศ สั่งให้เล่นเพลงจากบริการแอมะซอนมิวสิค เพิ่มนัดหมายลงปฏิทิน และสั่งให้เปิดประตูบ้านจากภายในรถ เป็นต้น

คาร์เพลย์ จากแอปเปิล
บริษัทเทคโนโลยีอื่นก็กำลังคร่ำเคร่งกับการพัฒนาเทคโนโลยีลักษณะเดียวกันด้วยเช่นกัน อาทิ แอปเปิล ที่ได้นำผู้ช่วยดิจิทัล “สิริ” มาให้ผู้ใช้สั่งด้วยเสียงในรถผ่านซอฟต์แวร์คาร์เพลย์ เจ้าของรถจึงสามารถใช้เสียงสั่งการให้สิริส่งข้อความไปยังผู้รับที่อยู่ในรายชื่อผู้ติดต่อ แจ้งจุดหมายปลายทางไปยังแอปเปิล Map และให้แสดงผลบนหน้าจอ LCD บนรถ ขณะที่แอนดรอยด์ออโต้จากกูเกิล ก็มีความสามารถคล้ายกัน เพียงแต่ใช้บนคนละระบบปฏิบัติการ
แบล็คเบอรี่ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนมีปุ่มอันโด่งดังในอดีต ก็กำลังโลดแล่นอยู่ในอุตสาหกรรมนี้อยู่อย่างเงียบๆ ข้อมูลจากบริษัทระบุว่า ปัจจุบันระบบปฏิบัติการคิวเอ็นเอ็กซ์ (QNX) ที่ตนเป็นเจ้าของนั้น ได้เป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนระบบอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์กว่า 60 ล้านคัน จากผู้ผลิตกว่า 40 รายทั่วโลก ซึ่งรวมถึงค่ายดังอย่างฟอร์ด เจเนรัลมอเตอร์ และเอาดี้ เป็นต้น โดยมีจุดเด่นที่การมีเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยอันเป็นเลิศ การันตีด้วยมาตรฐาน ISO 26262 และอัตราการตอบสนองต่อผู้ใช้ที่ยอดเยี่ยม ทำให้สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้กว่าร้อยละ 47 โดยบริษัทมีแผนการพัฒนาระบบปฏิบัติการดังกล่าวให้สามารถรองรับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของรถยนต์อีกด้วย ล่าสุดได้เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมรถยนต์อัตโนมัติ ในรัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา สำหรับใช้ทดสอบระบบดังกล่าว ซึ่งถ้าหากสำเร็จอุตสาหกรรมนี้ก็จะมีคู่แข่งรายสำคัญเพิ่มขึ้น
3. ไรด์แชร์ริ่ง ขานรับสมาร์ทซิตี้
รถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอาจทำให้การขนส่งสาธารณะได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่บริการอย่าง Uber กับ GrabTaxi ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปเป็นที่เรียบร้อย โดยบริษัทเหล่านี้ต่างกำลังหาทางนำรถไฟฟ้าไร้คนขับมาให้บริการแทน โดย Uber ได้เริ่มโครงการทดลองรถไร้คนขับไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วในเมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งหากสามารถขยายการบริการออกไปได้ทั่วโลก ก็เป็นไปได้ว่าอาจกระทบกับจำนวนยอดขายรถยนต์ส่วนตัวอย่างแน่นอน เนื่องจากบริการรถสาธารณะที่มีประสิทธิภาพย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับการเดินทางในเขตเมือง แล้วยังเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตรถยนต์ก็กำลังพลิกเกมด้วยการหันมาเป็นผู้ให้บริการไรด์แชร์ริ่งเสียเอง
ยกตัวอย่าง ฟอร์ด ได้เปิดตัวบริการ ชาริออต (Chariot) สำหรับให้เช่ารสบัส ส่วนคาดิลแลค ก็เพิ่งเริ่มต้นบริการให้เช่ารถผ่านการสมัครสมาชิกเมื่อเร็วๆ นี้ ในด้านของบีเอ็มดับเบิลยู ก็ได้ขยายบริการคาร์แชร์ริ่งไปยังเมืองต่างๆ มากขึ้น
ส่วนฮอนด้า ได้เปิดตัวคอนเซ็ปต์รถยนต์ที่ออกแบบมาเพื่อบริการดังกล่าวโดยเฉพาะ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า บริการไรด์แชร์ริ่งจะต้องมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น

บริการไรด์แชร์ริ่ง กำลังจะมีคู่แข่งมากขึ้น เมื่อผู้ผลิตรถหันมาร่วมวงด้วยซะเอง
ทั้งนี้ บริการดังกล่าวยังต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องได้รับการพัฒนาให้รองรับรถไร้คนขับได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งในมิติของถนนหนทางและกฎหมายกับระเบียบที่ยังต้องใช้เวลาในการปรับปรุง การรักษาความปลอดภัยจากนักเจาะระบบ ตลอดจนการยอมรับจากสังคมคนใช้รถใช้ถนน นอกจากนี้ สตาร์ทอัพไรด์แชร์ริ่งอย่าง Uber กับลิฟต์ก็ยังประสบปัญหาการสร้างผลกำไรให้กับองค์กร เพราะทั้งคู่ต้องสูญเสียเงินลงทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์ไปกับการแข่งขันกันเองและกับผู้ให้บริการแท็กซี่ดั้งเดิม เอกสารภายในที่รั่วออกมาเผยว่า ลิฟต์สามารถสร้างรายรับได้มากถึง 700 ล้านเหรียญ เมื่อปีที่แล้ว แต่ก็ต้องสูญเงินไปถึง 600 ล้านเหรียญ ขณะที่ Uber ต้องสูญเงินไปมากถึงสามพันล้านเหรียญเมื่อปีที่แล้ว อันเป็นผลมาจากการทำสงครามราคาแข่งกับคู่แข่งในตลาดประเทศจีน จนในที่สุดต้องยอมยกธงขาว
สรุปได้ว่า ปี 2560 จะเป็นปีที่อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดรถไฟฟ้าและรถไร้คนขับ เทคโนโลยีอินโฟเทนเมนต์ในรถที่จะใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย และสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ตลอดจนการที่ผู้ผลิตรถหันมาเป็นผู้ให้บริการเช่ารถเสียเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ยังต้องพบกับความท้าทายหลายประการ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ การยอมรับจากผู้ใช้นั่นเองครับ
Contributor
falcon_mach_v
สรนาถ รัตนโรจน์มงคล
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 48 และปริญญาโทจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รหัส 55 ปัจจุบันประกอบอาชีพที่ไม่เกี่ยวกับด้านไอที แต่ด้วยความชอบจึงได้มีงานเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้เสมอ สามารถติดตามอ่านได้ที่ www.bitwiredblog.com และชมเว็บไซต์ผลงานภาพถ่ายได้ที่ http://iviewphoto.me
Facebook: sorranart
Website: ontechz.blogspot.com