ในยุคของการใช้งานโมบายล์และคลาวด์ เทคโนโลยีได้เปลี่ยนให้ทุกสิ่งรอบตัวเรากลายเป็นแหล่งข้อมูลที่ทั้งมีปริมาณมหาศาลและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยนับตั้งแต่ตอนนี้ไปยังอนาคตที่ทุกอุปกรณ์กำลังจะเชื่อมโยงกัน มีพื้นที่เก็บข้อมูลที่ปลอดภัยและน่าเชื่อถือ
ไมโครซอฟท์ เป็นหนึ่งผู้ให้บริการที่ต้องการสนับสนุนการทำงานและการเชื่อมต่อของข้อมูล โดยมีแพลตฟอร์มคลาวด์อย่าง “ไมโครซอฟท์ อาชัวร์” เพื่อช่วยให้การบริหารจัดการข้อมูล และเชื่อมต่ออุปกรณ์ เป็นไปได้ง่ายขึ้น
ระบบคลาวด์ที่รองรับทุกแพลตฟอร์มสนับสนุนการทำงานบุคคลจนถึงองค์กร
ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติระบุว่า ธุรกิจซอฟต์แวร์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราสูงถึง 11.1 เปอร์เซ็นต์ จนมีมูลค่ารวมกว่า 61,096 ล้านบาท และยังคาดการณ์อีกว่า ตลาดซอฟต์แวร์จะขยายตัวขึ้นอีก 12.8 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2559 โดยมีความเคลื่อนไหวที่คึกคักในด้านการนำเทคโนโลยีโมบายล์และคลาวด์มาประยุกต์ใช้ โดยในปี 2560 องค์กรชั้นนำในประเทศไทยกว่าครึ่งจะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นกลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยนธุรกิจ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
ศิริพร พัชรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การทำความเข้าใจกับระบบข้อมูลจำนวนมากไม่สามารถใช้ได้แค่ความสามารถของมนุษย์เท่านั้น ไมโครซอฟท์จึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคลาวด์อัจฉริยะ (Build the Intelligent Cloud) อย่าง ไมโครซอฟท์ อาชัวร์ ขึ้นมาเพื่อเป็นกำลังสำคัญและมอบพลังให้ผู้ใช้งาน ตั้งแต่ระดับบุคคลจนไปถึงระดับองค์กร
การเชื่อมต่อต่างๆ มากกว่า 1 อุปกรณ์ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถขยายตลาด หรือเริ่มทดลองธุรกิจใหม่จากเดิมที่มีได้ เพราะมีฐานข้อมูลที่แชร์ และอัพเดตผ่านคลาวด์โดยตรง
ไมโครซอฟท์ อาชัวร์ มีศูนย์ข้อมูลครอบคลุม 19 ภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งถือว่ามากที่สุดในตลาด และยังรองรับการใช้งานในรูปแบบไฮบริด คลาวด์ ผสมผสานกับโครงสร้างพื้นฐานเดิมของระบบไอทีในองค์กรได้ตามความต้องการของผู้ใช้ นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ อาชัวร์ ยังเป็นระบบคลาวด์ที่เปิดกว้างและมีความยืดหยุ่น รองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับทุกแพลตฟอร์ม ทั้งพีซี สมาร์ทโฟน เว็บแอพฯ และทุกมาตรฐานเทคโนโลยีชั้นนำ ทั้งยังเพียบพร้อมด้วยมาตรฐานระดับโลกด้านความปลอดภัยของข้อมูล
อาชัวร์ รองรับการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีอื่นๆ
อาชัวร์ มีจุดเด่นในเรื่องของจัดการระบบการทำงาน และควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยการเชื่อมต่อที่สะดวกและปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบการทำงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่าง Internet of Things เนื่องจากผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่อแพลตฟอร์มต่างๆ เข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในอนาคตทุกธุรกิจ สามารถรองรับรูปแบบประเภทของโปรแกรมได้หลากหลาย และขนาดของโปรเซสของโปรแกรมและปริมาณข้อมูล โดยบริการหลัก ๆ ก็เช่น Web Sites, Virtual, Cloud, Mobile Services และอื่นๆ โดย Service ทั้งหมดจะตั้งอยู่ที่ดาต้าเซ็นเตอร์ของไมโครซอฟต์ ทำให้มีความน่าเชื่อถือ เสถียรในการใช้งานและความปลอดภัยสูง
นักพัฒนาสามารถเริ่มต้นจากการใช้ซอฟต์แวร์ที่คุ้นเคย และใช้ทักษะที่ถนัด และเปิดรับการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีอื่นๆ ทำให้สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นบนความหลากหลายของแพลตฟอร์ม และซอฟต์แวร์ต่างๆ เช่น ภาษา Java และ .Net ที่เป็นที่นิยมใช้ในหมู่นักพัฒนาแอพฯ ขณะเดียวกันก็ยังสามารถใช้งาน PHP, Python และภาษาอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ยังสนับสนุนการทำงานบน CoreOS Linux อีกด้วย โดยปัจจุบันกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งานอาชัวร์ ล้วนทำงานอยู่บนลีนุกซ์
![]() |
ฉบับที่ 211 เดือนกรกฏาคมแพลตฟอร์ม IoT หัวใจของข้อมูล |
เชอร์ลีย์ สตราคัน ผู้จัดการทั่วไป บริษัทไมโครซอฟท์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน การประยุกต์ใช้ข้อมูลของแต่ละองค์กรจะอยู่ที่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ส่วน 99 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นข้อมูลที่ถูกเก็บ แต่ไม่มีการบริหารจัดการ หรือนำมาใช้ การนำ Azure IoT Suite เข้ามาใช้จะช่วยให้การจัดการต่างๆ เป็นไปได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์ และการค้าที่จะมีโอกาสมากขึ้น เนื่องจากสามารถส่งต่อข้อมูลได้รวดเร็วและมากยิ่งขึ้น
“เนื่องจากการเชื่อมต่อต่างๆ จะมีมากกว่า 1 อุปกรณ์ ความเสถียรจึงมากขึ้นกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถขยายตลาดหรือเริ่มทดลองธุรกิจใหม่จากเดิมที่มีได้ เพราะมีฐานข้อมูลที่แชร์และอัพเดตผ่านคลาวด์โดยตรง ซึ่งส่วนนี้จะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันแบบโคบิสสิเนสได้มากขึ้นด้วย”
ผู้พัฒนาจำเป็นต้องมองถึงอนาคต เพื่อวางแผนการทำงานแบบ IoT
ในปัจจุบันวินโดวส์ 10 มีการใช้งานที่แพร่หลาย ในการดูแลระบบที่ใหญ่ระดับองค์กรหรือมากกว่านั้น โดยหลายแห่งมีการเชื่อมต่อกันระหว่างพีซี แท็บเล็ต และโมบายล์ ซึ่งทางไมโครซอฟท์เองมีดาต้าเซ็นเตอร์อยู่ 24 ประเทศทั่วโลก เพื่อรองรับผู้ใช้บริการ ซึ่งจะมีความพร้อมและเพียงพอต่อการรองรับข้อมูลที่จะเกิดขึ้นมหาศาลอย่างแน่นอน
“80 เปอร์เซ็นต์ ของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ใช้งานไมโครซอฟต์อาชัวร์ ซึ่งกระบวนการคิดสร้างสรรค์ผลงานในปัจจุบันจะไม่ใช่การกำหนดขนาดของผลงานให้เล็ก แต่งานนั้นๆ ต้องมีความอัจฉริยะที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับเทรนด์ต่างๆ ที่จะให้ทุกอย่างเชื่อมกันอย่างอัจฉริยะ อาทิ สมาร์ทซิตี้ อุปกรณ์สวมใส่ และอื่นๆ ดังนั้น การเสริมสร้างให้บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ หรือ ISV มีศักยภาพและกระบวนการคิดที่มองไปยังอนาคตจะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเทคโนโลยีไปได้อีกทางหนึ่ง” เชอร์ลีย์ กล่าว
โซลูชั่นที่สนับสนุนการทำงานกับ IoT ของไมโครซอฟท์อย่าง Azure นับว่าเป็นก้าวใหม่ที่จะทำให้เกิดระบบการทำงานที่ดีขึ้นในอนาคต ซึ่งจากข้อมูลพบว่าโอกาสของการเติบโตกับธุรกิจด้านนี้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จะมาจากธุรกิจในรูปแบบ Business to Business (B2B)
โดยทั้งนี้ ในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีอยู่อย่างต่อเนื่อง การมองหาแนวทางเติบโตในอนาคตจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น ไมโครซอฟท์เองก็พร้อมที่จะสนับสนุนทางด้านซอฟต์แวร์ครอบคลุมทุกด้านเพื่อจะเป็นประโยชน์กับการขับเคลื่อนสังคมในครั้งนี้