วงการแพทย์เริ่มเดินหน้าในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสนับสนุนในการวินิจฉัยโรคร้ายได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกได้แล้ว เมื่อคณะแพทย์ของมหาวิทยาลัยโตเกียวได้นำเอาระบบปัญญาประดิษฐ์จาก IBM Watson มาใช้วินิจฉัยโรคลูคิเมียได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่ากระบวนการปกติที่ใช้เวลามาก
Arinobu Tojo ผู้เชี่ยวชาญด้านโมเลกุลในสังกัดของ University of Tokyo’s Institute of Medical Science ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าทึ่งให้กับสื่อทั่วโลกว่า พวกเขาได้ริเริ่มใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ และประสิทธิภาพของซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ IBM Watson ที่มีการรวบรวมฐานข้อมูลด้านมะเร็งและลูคีเมียมากมายจากทั่วโลกกว่า 20 ล้านเคส มาใช้งานวิเคราะห์เทียบเคียงกับข้อมูลพันธุกรรมของคนไข้ญี่ปุ่นรายหนึ่ง ที่มีอาการของลูคีเมียประเภทหาได้ยากที่ไม่สามารถสืบหาได้โดยกระบวนการทางแพทย์ปกติได้ แต่ Watson กลับสามารถตรวจเจอลักษณะยีนที่เปลี่ยนรูปซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของลูคีเมียประเภทหายากได้อย่างง่ายดายในเวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น ซึ่งผลก็คือ คณะแพทย์สามารถหาวิธีรักษาและช่วยชีวิตผู้ป่วยรายนี้ได้ในที่สุด
ทางโรงพยาบาลยังเปิดเผยอีกว่า คณะแพทย์ได้ลงมือทำงานร่วมกับ IBM Watson มาตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา และได้พึ่งพาระบบ AI เพื่อวินิจฉัยคนไข้ที่มีเปอร์เซ็นต์เป็นโรคที่เกี่ยวกับโลหิตวิทยาประมาณ 100 คน ทั้งยังพิสูจน์ความแม่นยำของ Watson ว่าสามารถวินิจฉัยผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องราวๆ 70-80 เคสจากทั้งหมดเลยทีเดียว