หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความตื่นตัวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นระยะ เชื่อได้ว่าหลายๆ คนคงได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับอาเซียนผ่านหูผ่านตามาบ้าง และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เมื่อเข้าสู่อาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ก็ยังมีคำถามตามมาว่า อะไรคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะว่าการรวมตัวนี้จุดประสงค์ในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จึงส่งผลให้ถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว ซึ่งอันที่จริงแล้วเรื่องต่างๆ เหล่านี้ก็มีผลกระทบกับตัวเราในปัจจุบันและอนาคตทั้งสิ้น

ณัฐกนก โภคทรัพย์ไพบูลย์, นันทนัช สกาวุฒานุเดช และณัฐณิชา เดชะเอื้ออารีย์ จากโรงเรียนเซนต์ฟรัง- ซีสซาเวียร์คอนแวนต์
ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การเตรียมความพร้อมในการเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ ให้มากยิ่งขึ้น และปัจจัยที่จะทำให้การติดต่อต่างๆ เป็นไปได้ด้วยดีนั้น นั่นคือการปรับตัวในเรื่องของภาษาที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความพร้อมของเรายังไม่มากเท่าที่ควร อีกส่วนที่สำคัญคือ ต้องเรียนรู้และเปิดรับพฤติกรรม วัฒนธรรมของชาติอื่นๆ ซึ่งแม้ว่าประเทศที่ใกล้เคียงกันจะมีความคล้ายคลึงกันอยู่มาก แต่แน่นอนว่าก็มีความแตกต่างที่มากด้วยเช่นกัน
แอพพลิเคชั่นจตุรม่อล (Chaturamal) ผลงานของณัฐกนก โภคทรัพย์ไพบูลย์, นันทนัช สกาวุฒานุเดช และณัฐณิชา เดชะเอื้ออารีย์ จากโรงเรียนเซนต์ฟรัง- ซีสซาเวียร์คอนแวนต์ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเป็นสื่อการสอน สามารถเข้าใจในเรื่องพื้นฐานของอาเซียนได้มากยิ่งขึ้น
เปลี่ยนความคิดให้อาเซียนไม่ไกลตัว
น้องๆ เล่าว่า ตอนที่เริ่มทำอาเซียนกำลังเป็นเรื่องที่ทุกคนพูดถึงว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ความจริงแล้วหลายคนก็ยังไม่ได้รู้ว่ามีความสำคัญอย่างไร ข้อมูลของแต่ละประเทศเป็นยังไงบ้าง ซึ่งถึงแม้ว่าจะสามารถค้นหาได้จากอินเทอร์เน็ต แต่ด้วยเนื้อหาที่มีเยอะและเป็นรายละเอียดที่ลึกก็เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ
“อาเซียนคือเรื่องที่ไกลตัว เพราะดูเป็นภาพใหญ่ๆ ที่ไม่จำเป็นที่เราต้องรู้ แต่จริงๆ หลายโรงเรียนก็มีการบรรจุอาเซียนศึกษาให้เป็นวิชาในหลักสูตร ถึงแม้ว่าเป็นวิชาบังคับเรียน แต่ว่าเนื้อหาไม่ได้น่าสนใจ ยังไงเด็กก็ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรมาก แล้วด้วยความที่มีตั้ง 10 ประเทศ ทุกอย่างดูเยอะแยะไปหมด มันต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ บางทีเรียนประเทศนั้นก็ลืมประเทศนี้ มันก็ส่งผลให้ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ จึงจัดนำเนื้อหาพื้นฐานที่ควรรู้มาเปลี่ยนให้เป็นรูปแบบอินโฟกราฟิก เพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างการจดจำให้กับผู้ใช้งานได้มากยิ่งขึ้น ทั้งยังมีแบบทดสอบเพื่อเป็นการทบทวนความเข้าใจในแต่ละเรื่องอีกด้วย”
ด้วยความที่มีตั้ง 10 ประเทศ มันต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ จึงจัดนำเนื้อหาพื้นฐานที่ควรรู้มาเปลี่ยนให้เป็นรูปแบบอินโฟกราฟิก เพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างการจดจำให้กับผู้ใช้งานได้มากยิ่งขึ้น
เน้นเนื้อหาสำคัญแต่ครอบคลุม
เมื่อต้องการจะสร้างสรรค์ผลงานเพื่อให้ความรู้กับผู้ใช้งาน ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือ การรวบรวมข้อมูลเนื้อหาที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์และทำให้เป็นเรื่องที่ไม่หนักจนเกินไป ภายในแอพฯ จตุรม่อลจึงคัดเนื้อหาที่สำคัญ อาทิ ความเป็นมาของประชาคมอาเซียน บทบาทต่างๆ และข้อมูลพื้นฐานของแต่ละประเทศ แบ่งออกเป็นทั้งหมด 9 บทด้วยกัน โดยสามารถใช้งานได้ทั้งในระบบออนไลน์และออฟไลน์
“ช่วงเริ่มเกมผู้เล่นจะถูกสุ่มตัวละคนให้เป็นสิงโต นกอินทรีย์ ช้าง เสือ ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติของประเทศในอาเซียน เพื่อเป็นตัวแทนของผู้เล่นนั้นๆ โดยในการเรียนแต่ละบทจะมีเกมเพื่อทดสอบความเข้าใจ อาทิ เกมจับคู่ ตอบคำถาม เติมคำ เพื่อเป็นการทบทวนและเก็บสะสมคะแนน”
ทั้งนี้ ยังมีฟังก์ชั่นเกมที่ถูกแยกออกมาจากเนื้อหาที่ผู้เล่นสามารถเล่นได้กับเพื่อนๆ โดยใช้สมาร์ทโฟนเป็นพื้นที่ให้คำถามและตัวเลือก ผู้แข่งขันต้องแย่งกันกดเพื่อตอบคำถาม โดยจุดประสงค์ของเกมกระดานนี้เพื่อกระตุ้นความรู้สึกของผู้เรียนให้มากขึ้นเพื่อจะได้เอาชนะฝั่งตรงข้าม
![]() |
ฉบับที่ 207 เดือนมีนาคมแพลตฟอร์มต่อไปของอีคอมเมิร์ซ |
ใช้ประสบการณ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
กลุ่มเป้าหมายของแอพฯ คือ เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6-17 ปี คือช่วงที่มีการเรียนรู้และรับรู้พร้อมที่จะนำไปประยุกต์ใช้ได้ โดยน้องๆ ได้มีการทดลองกับผู้ใช้งานจำนวน 200 คน รวมทั้งอาจารย์ที่โรงเรียนก็ได้นำไปเป็นสื่อการสอนอีกด้วย ผลตอบรับที่ได้มาพบว่า ช่วยทำให้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้นด้วยเนื้อหาที่สำคัญจริงๆ และยังมีเกมที่ช่วยสร้างความสนุกสนาน เป็นการทำให้ไม่เครียดกับการเรียนรู้จนเกินไป
ตลอดระยะเวลาการพัฒนามากว่า 1 ปี แอพฯ จตุรม่อลผ่านการเข้าประกวดมาหลายเวที ทำให้ได้รับโอกาสเข้าเวิร์กชอปและนำเทคนิคที่ได้รับเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานต่างๆ ให้กับแอพฯ ด้วย
“ปัญหาและการพัฒนาก็มีอยู่อย่างต่อเนื่องในช่วงแรกที่เราทำก็จัดทำ แต่ระบบออนไลน์ทำให้ผู้ใช้งานต้องมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลา มันก็ส่งผลหลายอย่างด้วย โดยตอนนี้ก็สามารถใช้งานได้ในส่วนของเนื้อหาเท่านั้น แต่การเก็บคะแนนและเล่นเกมยังคงต้องใช้การเชื่อมต่ออยู่”
ตอนนี้แอพฯ พัฒนาให้มีระบบการใช้งาน 2 ภาษา แต่ยังมีบางส่วนที่เป็นภาษาไทย ทำให้ต้องมีการพัฒนาให้สมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีหลายคำแนะนำที่ต้องการให้เพิ่มภาษาอื่น เช่น จีน ตากาล็อก หรือบาฮาซา ซึ่งน้องๆ คิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะพัฒนาในส่วนนี้ แต่ต้องมีการศึกษาการใช้ภาษาที่ถูกต้อง ซึ่งคิดว่าต้องใช้เวลาอย่างมาก
ความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานนี้เพื่อให้เป็นสื่อการสอนและให้ความรู้อย่างถูกต้องและนำไปใช้ได้อย่างแท้จริง น้องๆ ยังต้องการให้ทุกคนตระหนักว่า อาเซียนนั้นเป็นสิ่งสำคัญ อย่างน้อยก็ทางใดหรือทางหนึ่ง การหาข้อมูลไม่ใช่เรื่องที่ยาก แต่การเปิดรับเนื้อหา และประยุกต์ใช้เป็นสิ่งสำคัญ หากใครต้องการเรียนรู้เรื่องอาเซียนผ่านแอพฯ จตุรม่อล ก็สามารถดาวน์โหลดได้แล้วทั้งในกูเกิลเพลย์และแอพสโตร์