ทว่า หากท่านผู้อ่านคิดเช่นนั้นล่ะก็ ผิดถนัด! เพราะเชื่อหรือไม่ว่าภาคธุรกิจที่สร้างผลกำไรให้ Amazon มากที่สุดกลับกลายเป็น Amazon Web Services (AWS) บริการคอมพิวเตอร์ระบบคลาวด์ ซึ่งผลกำไรที่เกิดขึ้นจากบริการนี้อย่างเดียวคิดเป็นร้อยละ 89 จากผลกำไรทั้งหมดของไตรมาสแรกของปีนี้ซึ่งอยู่ที่ราว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
และไม่เพียงแต่ Amazon เท่านั้น อีกบริษัทที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง Microsoft ก็สามารถสร้างผลกำไรจากภาคธุรกิจดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน โดยข้อมูลผลประกอบการไตรมาสล่าสุดระบุว่า แผนก Intelligent Cloud ของบริษัทสามารถสร้างยอดรายรับได้ทั้งสิ้นราว 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ส่วน Google ก็เริ่มหันมาเอาจริงกับธุรกิจนี้ หลังจากหากินกับระบบโฆษณาออนไลน์มาอย่างยาวนาน โดยหวังว่าจะสามารถพัฒนาให้แพลตฟอร์มคลาวด์ของตนได้รับความนิยม เช่นเดียวกันที่ระบบปฏิบัติการ Android ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก
อะไรที่ทำให้บริษัทไอทียักษ์ใหญ่หันมาสนใจแพลตฟอร์มก้อนเมฆเช่นนี้? บทความนี้จะพาไปพบคำตอบครับ
จุดเริ่มต้นของคลาวด์วอร์
การแข่งขันด้านการให้บริการระบบคลาวด์มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ข้างต้น มีความต้องการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานไอทีเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานเว็บไซต์และบริการออนไลน์ต่าง
ๆ จากผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ครั้นจะไปจ้างให้บริษัทอื่นพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ก็ดูเหมือนจะยุ่งยากและไม่ได้ประสิทธิภาพมากเท่าที่ต้องการ ส่งผลให้ต้องมีการลงทุนพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์และระบบที่เกี่ยวข้องขึ้นมาด้วยตัวเอง ซึ่งต้องเป็นการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale)
เมื่อเป็นเช่นนี้ บริษัทเหล่านั้นก็พบว่าโครงสร้างที่ตนได้พัฒนาลงไปนั้นยังมีพื้นที่หรือสมรรถนะเหลือพอที่จะนำไปทำอย่างอื่นได้อีก จึงหัวใสเกิดแนวคิดให้บริษัทใหญ่น้อยต่างๆ เข้ามา “เช่า” ใช้บริการระบบดังกล่าว ประโยชน์ก็จะได้กับทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ บริษัทที่มาใช้บริการก็ไม่ต้องเสียทรัพยากรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบไอทีด้วยตัวเอง แถมยังได้ใช้เทคโนโลยีทันสมัยเช่นเดียวกับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ส่วนบริษัทผู้ให้เช่าก็มีหน้าที่รับเงินและนำไปต่อยอดพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
และนี่คือจุดเริ่มต้นของคลาวด์วอร์!
โดยทั่วไปแล้วแพลตฟอร์มคลาวด์ที่ให้เช่าใช้บริการส่วนใหญ่จะมีด้วยกัน 2 รูปแบบ ได้แก่ Infrastructure as a Service (IaaS) ซึ่งเป็นรูปแบบพื้นฐานที่สุด ประกอบด้วยระบบเซิร์ฟเวอร์เสมือนและพื้นที่เก็บข้อมูล และ Platform as a Service (PaaS) ซึ่งนอกจากจะมีลูกเล่นเหมือนกับแบบแรกแล้ว ยังเพิ่มเครื่องมือและบริการเสริมอื่นช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักพัฒนาแอฟพลิเคชันทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งนั่นคือ Software as a Service (Saas) ซึ่งมักจะหมายถึงแอปพลิเคชันที่รันอยู่บนคลาวด์ อาทิ Microsoft Office 365 หรือ Google G Suite ไม่ใช่ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เรากำลังพูดถึง
เพราะฉะนั้น ความสามารถในการขยายขนาดในระดับ hyperscale และการประหยัดต่อขนาดคือกลยุทธ์สำคัญที่ผู้ให้บริการคลาวด์ใช้ในการร้องเรียกลูกค้า กล่าวคือ เมื่อมีลูกค้าใช้บริการมากขึ้น รายได้ก็จะสูงขึ้น และเมื่อรายได้สูงขึ้น ก็มีเม็ดเงินลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งผู้ให้บริการก็จะใช้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาดในการลดแลกแจกแถมผู้ใช้บริการ รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้ายิ่งขึ้นไป และเมื่อลูกค้าเห็นของดีราคาถูก ก็ย่อมต้องแห่แหนกันมาสมัครใช้บริการมากยิ่งขึ้น วิ่งวนเวียนเป็นวงกลมแบบนี้เรื่อยไป ซึ่งนี่ล่ะครับคือสาเหตุที่บริการคลาวด์มีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้น
Amazon มาก่อนได้ก่อน
Amazon เริ่มขยับเข้าสู่ตลาดคลาวด์เป็นรายแรกด้วยระบบ AWS เมื่อประมาณกลางทศวรรษ 2000s โดยเริ่มจากการให้บริการในรูปแบบ IaaS อย่างระบบให้เช่าใช้เซิร์ฟเวอร์เสมือน หรือ Elastic Compute Cloud (EC2) และระบบพื้นที่เก็บข้อมูล หรือ Simple Storage Service (S3) ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จึงมักเป็นนักพัฒนารายเล็กที่ต้องการระบบเสมือนไว้ทดลองรันเว็บไซต์ที่ไม่มีความซับซ้อนอะไรมากนัก
ต่อมาวงจรหาเงินของบริการดังกล่าวก็เริ่มทำงาน โดยเมื่อมีผู้ใช้บริการมากขึ้น บริษัทก็กล้าเพิ่มเม็ดเงินลงทุนพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพและศักยภาพมากขึ้น ส่งผลให้สามารถประมวลระบบที่มีความซับซ้อนและรองรับการใช้งานเว็บรูปแบบใหม่ได้อย่างรวดเร็ว จึงไม่น่าแปลกใจที่ในปัจจุบัน Amazon AWS มีลูกค้ารายใหญ่อย่าง Netflix, Airbnb และ Comcast มั่นใจใช้บริการอย่างเหนียวแน่น
และจากการเป็น “ผู้เบิกทาง” ในหมู่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มคลาวด์เช่นนี้นั่นเอง ที่ทำให้ Amazon AWS ได้เปรียบเหนือคู่แข่งรายอื่น ไม่เพียงแต่แบรนด์ที่คุ้นหูลูกค้ามากกว่าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสามารถในการรองรับการใช้บริการปริมาณมาก ฟีเจอร์ต่างๆ และประสบการณ์ในธุรกิจ ที่ช่วยสร้างความต่างให้เด่นกว่าคู่แข่งรายอื่น
Microsoft เบอร์สองที่น่าเกรงขาม
ตามจริงแล้ว Microsoft ไม่ใช่น้องใหม่ในแพลตฟอร์มนี้แต่อย่างใด เพราะได้เริ่มทดลองให้บริการในลักษณะเดียวกับ Amazon AWS มาแล้วในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เพียงแต่มาเริ่มเอาจริงในช่วงประมาณ ค.ศ. 2010 เมื่อบริษัทได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม Azure อย่างเป็นทางการ ทำให้ช้ากว่าคู่แข่งประมาณ 5 ปี
สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะก่อนหน้านี้ ทั้ง Microsoft และบริษัทผู้ให้บริการซอฟต์แวร์สำหรับภาคธุรกิจ (enterprise software) มองแพลตฟอร์มคลาวด์เป็นศัตรูคู่แข่งโดยตรงกับผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์สำหรับเซิร์ฟเวอร์อย่าง Windows Server ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักนั่นเอง
Microsoft Azure เริ่มเปิดตัวในฐานะ Platform as a Service (PaaS) ประกอบด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือที่จำเป็นต่อการพัฒนาแอปพลิเคชัน ซึ่งสร้างรายได้ให้กับบริษัทเรื่อยมา Satya Nadella ซีอีโอคนปัจจุบันของบริษัทก็เคยเป็นหัวหน้าแผนก Azure ด้วยเช่นกัน ซึ่งความสำเร็จของแพลตฟอร์มดังกล่าวก็ช่วยนำพาสู่ตำแหน่งผู้กุมบังเหียนของบริษัทได้อย่างไม่ยากเย็น
โดยที่ผ่านมา Microsoft ได้พยายามเน้นย้ำจุดเด่นของ Azure ว่าสามารถใช้งานร่วมกับ Windows Server และผลิตภัณฑ์อื่นซึ่งลูกค้ามีความคุ้นเคยได้อย่างไม่ยากเย็น โดยล่าสุดได้เปิดตัว Azure Stack ที่ให้ลูกค้าสามารถติดตั้งระบบ Azure ลงในระบบดาต้าเซ็นเตอร์ของตนเองได้
อย่างไรก็ดี จุดแข็งที่แท้จริงของ Microsoft กลับอยู่ที่ความคุ้นเคยและองค์ความรู้เกี่ยวกับลูกค้าภาคธุรกิจและฐานข้อมูลลูกค้าที่มีอยู่มากมายมหาศาล ทำให้สามารถนำข้อผิดพลาดในอดีตและแนวโน้มความต้องการของลูกค้ามาวิเคราะห์พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ได้ นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มมูลค่าการบริการด้วยการมอบส่วนลดให้กับลูกค้าตามสัญญาการใช้งาน ซึ่งก็จะเป็นแรงจูงใจสำคัญแก่การเชื้อเชิญให้ลูกค้ารายเดิมให้หันมาใช้บริการ Azure นอกจากนี้ Microsoft ยังมีแนวโน้มสนับสนุนระบบปฏิบัติการเปิดมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะ Linux ซึ่งก็ยิ่งได้ใจนักพัฒนามากขึ้นไปอีก
Google เบอร์สามที่น่าจับตา
ปฏิเสธไม่ได้ว่า Google คือผู้ให้บริการระบบออนไลน์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกและมีความเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของผู้คนมากมาย แต่เมื่อพูดถึงการให้บริการแพลตฟอร์มคลาวด์นั้น Google กลับกลายเป็นเบอร์สามที่ตามหลังสองรายใหญ่ก่อนหน้า
แม้ว่า Google จะเปิดตัว Google Cloud (ชื่อเดิมคือ Google App Engine) เมื่อ ค.ศ. 2008 ซึ่งใกล้เคียงกับสองบริษัทก่อนหน้า แต่ผลตอบรับกลับไม่สู้ดีนักเนื่องจากไม่สามารถหาลูกค้ารายใหญ่ได้ ยิ่งรายรับและผลกำไรไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่สามารถเทียบกับที่จากภาคส่วนอื่น เช่น การขายโฆษณา ได้เลย
เมื่อเป็นเช่นนี้บริษัทจึงได้ว่าจ้าง Diane Greene ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท VMware และได้ฉายาว่า “ราชินีแห่งซิลิคอนวัลเลย์” มากุมบังเหียนภาคธุรกิจคลาวด์ เป็นผลให้ภาคธุรกิจนี้ของ Google มีแนวโน้มดีขึ้น เพราะได้มีการรวบรวมผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันให้เป็นเอกภาพ มีการกำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อให้สามารถเข้าตีตลาดและสามารถสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การร่วมมือกับนักพัฒนาเพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการใหม่ๆ ที่คู่แข่งไม่มี อาทิ ระบบปัญญาประดิษฐ์และ Vachine Vision เป็นผลให้นักพัฒนาสามารถลิ้มรสทดลองใช้สุดยอดนวัตกรรมได้ก่อนใคร
คู่แข่งรายย่อยและบทสรุป
ที่กล่าวไปทั้งหมดคือผู้ให้บริการสามรายหลัก แต่ตามจริงแล้วในสมรภูมินี้ยังมีรายย่อยอีกมากที่คุ้นเคยกันดี Oracle ผู้ให้บริการฐานข้อมูลรายใหญ่ ได้มีการเปิดตัว Oracle Cloud โดยหมายมั่นให้เป็นคู่แข่ง Amazon AWS โดยตรง แต่ยังไม่สามารถเทียบเคียงคุณสมบัติได้ ซ้ำร้ายทั้ง Amazon และ Microsoft ยังอนุญาตให้ลูกค้าย้ายฐานข้อมูล Oracle เข้าไปไว้บนระบบคลาวด์ของตนได้อีกต่างหาก ทำให้ไม่มีจุดเด่นอะไรที่เหนือกว่าคู่แข่ง
IBM ก็เป็นอีกรายที่พยายามเข้ามาเจาะตลาดนี้ด้วย IBM Bluemix ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบนคลาวด์สำหรับนักพัฒนาแอปพลิเคชัน แล้วยังมี Watson ซึ่งเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถใช้บริการผ่านคลาวด์ได้เช่นกัน นอกจากนี้ บริษัทได้พยายามสร้างความแตกต่างด้วยการนำเสนอบริการให้คำปรึกษาด้านการติดตั้งและการผนวกใช้งานแอปพลิเคชันบนระบบคลาวด์ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้วก็ยังไม่สามารถสู้ยักษ์ใหญ่ทั้งสามได้เลย
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสมรภูมินี้จะไม่มีรายย่อยเสียทีเดียว เพราะก็ยังมีหลายบริษัทพยายามเจาะตลาดแพลตฟอร์มคลาวด์เฉพาะกลุ่ม อาทิ Alibaba ที่มีบริการ Alibaba Cloud โดยเน้นตลาดในประเทศจีน หรือ DigitalOcean ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักพัฒนารายย่อย เป็นต้น
แต่ ณ ตอนนี้ Amazon ยังคงเป็นหมายเลขหนึ่งอยู่ครับ