วิธีการเริ่มต้นทำธุรกิจ ดูจะไม่ง่ายสำหรับคนที่มีเพียงไอเดียแต่ไม่มีทุนส่วนตัว เนื่องจากธนาคารก็ไม่ให้กู้เงิน จะหาเงินจากแหล่งอื่นๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดช่องทางที่เรียกว่า Crowdfunding หรือการระดมเงินทุนสาธารณะ โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นช่องทางในการระดมเงินทุน สำหรับต่างประเทศก็มีเว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จอย่าง Kickstarter และ Indiegogo
สำหรับในประเทศไทย บริการในรูปแบบของ Lending-based ไม่ได้รับอนุญาตให้ระดมทุน ส่วน Equity-based ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ก็มองเห็นความสำคัญ และกำลังอยู่ในช่วงจัดการทางด้านข้อกำหนดต่างๆ โดยคาดว่าต้นปีหน้าจะสามารถให้บริการได้
Dreamaker.co.th เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการในรูปแบบของ Donation-based กับ Reward-based ซึ่งไอเดียที่จะเกิดขึ้นต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งถ้าหากไม่ผิดข้อบังคับก็สามารถดำเนินการระดมทุนได้
และเพื่อสร้างความเข้าใจในการระดมทุนออนไลน์มากขึ้น Dreamaker จึงได้จัดงาน Crowdfunding day by Dreamaker โดยมีการให้ความรู้และแรงบันดาลใจจากทีมผู้บริหาร รวมถึงเจ้าของผลงานที่เคยประสบความสำเร็จมาบอกเล่าขั้นตอนการทำรวมถึงปัญหาที่เจอให้กับผู้ร่วมงานได้ฟังกันด้วย
อรรถพล สุขสมบูรณ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Dreamaker กล่าวว่า ข้อดีของการทำ Crowdfunding คือเรายังไม่ต้องมีของเพื่อมาลงขาย เพียงแค่มาบอกเล่าเรื่องราวของสินค้าบอกว่าดีอย่างไร การใช้งานเป็นอย่างไร ตั้งเป้าหมายงบประมาณไว้เท่าไหร่ ซึ่งถ้าคนที่มีไอเดียก็เข้ามาที่แพลตฟอร์มของ Dreamaker ได้ ซึ่งก็จะมีทีมผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา เพื่อดึงดูดให้ผู้คนมาลงทุนด้วยง่ายขึ้น เพราะก่อนหน้านี้คนไทยที่จะไปลงในแพลตฟอร์มต่างชาติก็ต้องมี บัญชีของประเทศนั้นซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก
“ผมมองว่า Crowdfunding เป็นเครื่องมือใหม่ที่ยังไม่ได้ใช้แพร่หลายในไทย แต่ระบบดีมาก และเชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยพัฒนาได้อีกขั้น จึงอยากให้เกิดขึ้นในเมืองไทย สำหรับคนที่ต้องการระดมทุนสิ่งที่ต้องมีคือความตั้งใจ บางโปรเจ็กต์เริ่มต้นแค่การขายไอเดีย ก็คิดว่าไม่มีอะไร แต่เอาเข้าจริงเมื่อได้รับเงินแล้ว งานจะตามมาอีกเยอะ ต้องพร้อมทำงานหนักในการผลิตไอเดียให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งตรงนี้ก็ต้องพร้อมรับมือให้ได้ด้วย” อรรถพล กล่าว
หลังจากที่เปิดให้บริการมา ก็มีหลายโครงการที่ได้รับเงินลงทุนตามเป้าหมายแล้วบน Dreamaker.co.th ซึ่งสำหรับใครที่ต้องการพื้นที่ก็สามารถลงทะเบียนเพื่อขายไอเดียและรับคำปรึกษาได้ทันที โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
คนไทยที่ประสบความสำเร็จจาก Crowdfunding ระดับโลก
ก่อนที่จะมีแพลตฟอร์มในประเทศไทย เหล่าคนมีไอเดียที่เห็นข้อดีของแพลตฟอร์มเหล่านี้ ได้นำไอเดียไประดมทุนเงินจากประเทศสหรัฐอเมริกากันมาแล้วหลายราย ซึ่งก็มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว แต่ก็ยังมองว่า Crowdfunding เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับทุกคน
คชา ทองศรี เจ้าของแบรนด์ AKO DICE กล่าวว่า ได้เริ่มทดลองทำโปรเจ็กต์บน Kickstarter ตอนปี 2011 ล้มเหลวถึง 3 ครั้ง กว่าจะได้รับเงินลงทุนครั้งแรก ซึ่งหลังจากประสบความสำเร็จแล้วก็พบว่าผู้ที่มาสนับสนุน (Backer) ไม่ใช่กลุ่มที่เรียกว่าลูกค้า (Buyer) คนเหล่านี้ลงเงินมาแล้วจะได้ของตอบแทนไหมก็ไม่รู้ แถมยังต้องรอนาน เลยต้องคิดหลายชั้นและมาจบที่การทำลูกเต๋า เพราะคนเล่นเกมกระดานยังมีจำนวนมากทั่วโลก และลูกเต๋าทั่วไปก็มีแต่แบบเดิมๆจึงเริ่มเข้าไปในกลุ่มเฟสบุ๊กต่างๆ ที่ชื่นชอบการเล่นลูกเต๋ากันเพื่อสำรวจพฤติกรรมของคนเหล่านั้น
“หลายคนเห็นว่าแค่ทำ Prototype แล้วเขียนเรื่องลงบนเว็บ อาจจะดูเหมือนง่าย แต่เบื้องหลังมีปัญหาเยอะ เริ่มแรกคือ แพลตฟอร์มเป็นภาษาอังกฤษ การสื่อสารเรื่องราว ผมต้องหาคนมาช่วยเพื่อทำคอนเทนต์ให้ดึงดูดคนมาสนใจ และหลังจากนั้นพอมีผู้สนับสนุนเยอะๆ เราต้องมาคำนึงถึงขั้นตอนการผลิต อย่างที่ผมได้มาแสนกว่าเหรียญ ผู้สนับสนุนคือ 6,564 คน แต่ละคนมีสั่งหลายเซท ต้องผลิต แพคของจัดส่ง กระบวนการต่างๆ มันมีอีกเยอะมาก ไม่ใช่ได้เงินแล้วปัญหาจะหมดไป” คชา กล่าว
บุญโชค วงศ์ดีเลิศ เจ้าของโปรเจ็กต์เข็มขัดดีไซน์ใหม่ใส่ง่าย “Min Belt” บน Kickstarter ( ที่ kickstarter.com/projects/minbelt/min-belt-less-is-really-more ) กล่าวว่า การสร้างโปรเจ็กต์บน Crowdfunding ถือว่าเป็นการทำธุรกิจในรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น จึงควรศึกษารายละเอียดให้ดี คำนวณต้นทุนการผลิต ค่าใช้จ่ายให้ครบถ้วนก่อนตั้งราคา ซึ่งพบว่าหลายโปรเจ็กต์ที่ได้รับเงินลงทุนหลักล้านแล้วขาดทุน ก็ยังมี เพราะไม่ได้ใส่ใจต้นทุนที่มองไม่เห็น
“การโพสต์ไอเดียลงบนแพลตฟอร์มถือว่าเป็นการเปิดโอกาสของธุรกิจ ให้เราได้ลองไอเดีย รับฟังข้อเสนอแนะ โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก จากที่ผมศึกษามาเห็นว่าสิ่งที่ผู้ขายไอเดียจำเป็นต้องมีคือการทำให้สินค้าหรือบริการให้ผู้สนับสนุนเข้าใจได้ง่าย และไม่ซับซ้อนในมุมผู้ผลิต รวมถึงต้องมีความน่าสนใจเกิดเป็น WOW Factor ไม่ใช่แค่สินค้าธรรมดา” บุญโชค กล่าว
เมื่อเห็นประสบการณ์ของผู้ที่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนแล้ว เรียกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่มีไอเดียใหม่ หรือสตาร์ทอัพที่ต้องการเงินทุน การระดมทุนผ่านออนไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะทำให้คนได้รู้จักสินค้าเพิ่มมากขึ้น และโดยเฉพาะการที่มีแพลตฟอร์มเพื่อคนไทยเกิดขึ้นและมีทีมที่ให้คำปรึกษา ก็ทำให้เห็นว่าหนทางของการประกอบธุรกิจใหม่ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป