ปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและรวดเร็ว ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น ส่งผลให้ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมถูก Disrupt ทำให้เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่หลายอาชีพ แต่เทคโนโลยีได้สร้างงานประเภทใหม่ๆขึ้นเช่นกัน
เกรเกอร์ ธีเสน ประธานอาวุโสกลุ่มธุรกิจดิจิทัล แมคคินซี่และแอดวานซ์ อะนาลิติกส์ ประจำภาคพื้นเอเชีย บริษัท แมคคินซี่ แอนด์คอมปานี กล่าวว่า จากการศึกษากิจกรรมต่างๆ กว่า 2,000 กิจกรรมที่คนใน 800 อาชีพทำอยู่ทั่วโลก พบว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถเข้ามาแทนกิจกรรมต่างๆ นี้ได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่ต้องทำซ้ำๆ และมีรูปแบบค่อนข้างตายตัว เช่น การเก็บและบันทึกข้อมูล เป็นต้น
แต่เมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ แล้ว พบว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือประมาณปีค.ศ. 2030 จะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้แทนได้จริงๆ เพียงประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยที่มีส่วนในการตัดสินใจ เช่น ต้นทุนของเทคโนโลยีที่ค่อนข้างสูง ไม่คุ้มที่จะนำมาใช้ สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป
สำหรับประเทศไทยที่มีกิจกรรมด้านการผลิตที่ใช้พนักงานจำนวนมาก พบว่าประเภทงานที่เทคโนโลยีสามารถแทนได้ในปัจจุบันมีประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์ของกิจกรรมทั้งหมด แต่คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้แทนเพียงประมาณร้อยละ 17 เท่านั้น หรือคิดเป็นประมาณ 6 ล้านตำแหน่ง แต่ในขณะเดียวกัน ตลาดจะต้องการแรงงานที่มีความสามารถหรือทักษะใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 6 ล้านตำแหน่ง
นพมาศ ศิวะกฤษณ์กุล ประธานกลุ่มธุรกิจดิจิทัล บริษัท แมคคินซี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า องค์กรที่กำลังก้าวไปสู่ Digital กำลังประสบปัญหาขาดคนทำงาน ดังนั้นจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในด้านการสร้างทักษะให้กับพนักงาน เช่น จัดคอร์สเทรนด์ทักษะใหม่ เข้าไปพาร์ทเนอร์กับมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมกับงานในอนาคต
ซึ่งงานที่เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น เช่น Data Scientist ซึ่งในปัจจุบันทั่วโลกยังขาดแคลนอยู่อีก 30 ล้านตำแหน่ง เป็นต้น รวมถึงกิจกรรมที่ต้องอาศัยการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่น งานขาย งานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ งานที่เกี่ยวกับการบริหารองค์กร จะยังคงต้องอาศัยคนทำต่อไป และยังไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาแทนได้ในอนาคตอันใกล้นี้