Google หวังต่อยอด กับสตาร์ทอัพไทย

เบน คิง หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ
Google ประเทศไทย

กระแสของ Startup ยังคงเป็นเทรนด์มาแรงต่อเนื่อง ภาครัฐและภาคเอกชนหันมาให้ความสนใจและคอยให้การสนับสนุน มีการจัดตั้งกองทุน โครงการบ่มเพาะธุรกิจ การจัด Accelerate หรือ Bootcamp ต่างๆ ซึ่งส่งผลทำให้มี Startup หน้าใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

Google ได้จัดงาน Bootcamp ในไทย มีจุดประสงค์หลักคือ เพื่อเป็นการแนะนำสตาร์ทอัพไทยให้แก่บริษัทร่วมลงทุน พร้อมกับนำเสนอข้อมูลเชิงลึก เพื่อใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนให้ประสบความสำเร็จ

3 ธุรกิจสำคัญที่จะสร้างมูลค่ามหาศาลในอนาคต
จากการเปิดเผยรายงานที่จัดทำขึ้นโดย Google และ Temasek ที่ระบุว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ธุรกิจดิจิทัลในประเทศไทยมีโอกาสเติบโตถึง 37 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.33 ล้านล้านบาท) ขณะเดียวกัน มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2025 ตลาดดิจิทัลในไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 6.5 เท่า ของมูลค่าตลาดในปัจจุบัน เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเติบโตของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ที่มีความโดดเด่นคือ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ และสื่อออนไลน์ต่างๆ ในขณะที่ Startup ก็นับว่าสามารถอยู่ในส่วนนี้ได้เช่นเดียวกัน

เบน คิง หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ Google ประเทศไทย กล่าวไว้ภายในงานว่า Google มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของ Startup เพราะแม้แต่ Google เองก็เคยเป็นเพียง Startup เล็กๆ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากโรงรถในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้มีความเชื่อในความสามารถของเหล่าสตาร์ทอัพที่กำลังเกิดขึ้นมาใหม่ๆ ในเมืองไทย ที่จะเป็นผู้เข้ามาปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมต่างๆ พร้อมทั้งเปิดตลาดไปสู่กลุ่มใหม่ๆ และขับเคลื่อนการเติบโตด้วยไอเดียที่สร้างสรรค์

ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่อินเทอร์เน็ตมีการเติบโตไปอย่างรวดเร็ว และจากการคาดการณ์ว่า ในอีก 3 ปี จะมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงแตะระดับ 59 ล้านคน ซึ่งถ้าหากนับเฉพาะประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยเป็นรองเพียงแค่สิงคโปร์เท่านั้นในด้านความเร็วอินเทอร์เน็ต โดยที่ประเทศไทยมีพื้นที่มากกว่าถึง 700 เท่า ของพื้นที่ตารางกิโลเมตรเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ จึงนับว่าเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ

ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย หัวหน้าฝ่ายการตลาดภาคธุรกิจประเทศไทย Google ประเทศไทย

สร้างช่องทางการติดต่อให้เข้ากันระหว่างกันได้ง่ายขึ้น
ทางด้าน ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย หัวหน้าฝ่ายการตลาดภาคธุรกิจประเทศไทย Google ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า Google ได้จัดงานสัมมนา Google Thailand’s Startup Bootcamp 2017 ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยเน้นย้ำใน 2 ธีมหลักคือ Grow การเติบโต และ Build and Earn การสร้างและเก็บเกี่ยว ซึ่ง Google ต้องการสร้าง Connection กับนักลงทุนในเมืองไทย เพราะนักลงทุนเหล่านี้เป็นคนที่มีข้อมูลของ Startup ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมต่อไปยัง Startup ต่างๆ ได้ และ Google เองก็เป็นบริษัทที่มีโปรดักส์อยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ Startup ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะต้องคุยกับใครสำหรับตัวโปรดักส์ที่ต้องการ โดยที่ Google จะช่วยเหลือโดยการให้ช่องทางในการติดต่อกับคนของ Google ในทุกๆ โปรดักส์กับนักลงทุน เพราะฉะนั้นในอนาคต Google จะมีการทำงานร่วมกับนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการจัดกิจกรรมทั่วๆ ไปในลักษณะของเวิร์กชอป หรืออีเวนต์

“คนที่ดูแลโปรดักส์ของ Google ส่วนใหญ่คนพวกนี้อยู่ที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างยากที่ Startup คนไทยจะไปติดต่อกับเขา ทีนี้เราจะสร้างเหมือนกับเป็นช่องทางการติดต่อที่ชัดเจนมากขึ้นให้กับคนดูแลโปรดักส์ทุกๆ ส่วนเข้ามารู้จักกับนักลงทุนคนไทย และเราก็จะคอยส่งข่าวสารอัพเดตต่างๆ กับนักลงทุนอยู่เสมอ ซึ่งก็หวังว่า Google จะสามารถเข้ามารู้จักกับ Startup คนไทยได้ดีขึ้น”

อย่างไรก็ตาม Google ก็ให้ความสนใจ Startup ในทุกๆ ระดับ ตั้งแต่กลุ่มที่เริ่มสร้าง กลุ่มที่กำลังเติบโต และกลุ่มที่สามารถสร้างรายได้ด้วยตนเอง อีกทั้งไม่มีข้อจำกัดว่าจะเป็น Startup ในอุตสาหกรรมใดก็ตาม เพราะเชื่อว่าในเมืองไทยยังอยู่ในช่วงที่กำลังไล่ตามให้ทันกับหลายๆ ประเทศ ซึ่งถ้า Startup สามารถโตแบบก้าวกระโดดได้ ก็จะทำให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ฉบับที่ 218 เดือนกุมภาพันธ์

ร้านค้าขนาดเล็ก ไม่ต้องใช้เงินสด

 

หวังช่วย Startup เติบโตได้ด้วยโปรดักส์ที่มี
สำหรับในประเทศไทยนั้น ทีม Google ที่ทำงานร่วมกับ Startup ยังถือว่าค่อนข้างเล็ก เพราะมีจำนวนคนเพียงไม่กี่คน ซึ่งจะแตกต่างกับที่ประเทศสิงคโปร์ที่มีการเปิดเป็น Hub (ฮับ) ซึ่งจะมีทุกหน่วยงานอยู่ที่สิงคโปร์ โดยทางสิงคโปร์ได้เริ่มทำงานกับ Startup มาเป็นระยะเวลานานกว่าของไทย และถ้าดูจากรายงานของ Temasek ก็จะเห็นว่า ในแง่ของทั้งจำนวน Startup ที่เกิดขึ้น รวมถึง Startup ที่ประสบความสำเร็จมีปริมาณมากกว่าประเทศไทย และมีจำนวนไม่น้อยของนักลงทุนที่ได้ไปลงทุนในสิงคโปร์ และขยายผลมาที่เมืองไทย

“สำหรับเมืองไทยต้องบอกว่าเราเพิ่งเริ่มที่จะทำงานกับ Startup เมื่อไม่กี่ปีมานี้ และตอนนี้จึงเป็นโอกาสที่เราอยากจะสร้าง Connection กับ Startup โดยตรง สิ่งที่เราอยากทำคือ”

อยากให้ Startup เห็นว่า Google เป็น 1 บริษัทที่มีหลายแผนก สามารถช่วยเขาได้ตั้งแต่เริ่มคิดไอเดีย ไปจนวันที่เขาประสบความสำเร็จในธุรกิจ เราอยากจะเปิดโอกาสให้รู้จักกันแบบนั้น และสามารถที่จะต่อยอดบนโปรดักส์ที่เรามีได้

เปิดมุมมองของผู้ที่ผ่านการเป็น Startup จนมาสู่นักลงทุน
ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งกองทุน 500 TukTuks (500 ตุ๊กตุ๊ก) และผู้ก่อตั้งบริษัท อุ๊คบี ได้เล่าถึงประสบการณ์ทั้งการเริ่มต้นมาจากเป็น Startup จนกลายมาเป็นนักลงทุนด้วยว่า ปัจจุบันอุ๊คบี กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 ซึ่งตลอดระยะเวลาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ได้รับเงินลงทุนประมาณกว่าพันล้านบาท โดยที่ล่าสุดเป็นการขยายธุรกิจด้วยการจัดตั้งบริษัท อุ๊คบี ยู จำกัด (Ookbee U) ซึ่งได้ผู้ร่วมลงทุนคือ บริษัท เทนเซ็นต์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ด้วยเงินลงทุนเบื้องต้น 19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งกองทุน 500 TukTuks (500 ตุ๊กตุ๊ก) และผู้ก่อตั้งบริษัท อุ๊คบี

“การที่บริษัทบางบริษัทเติบโตขึ้นมาเร็วๆ ในล็อตแรกๆ อย่างของอุ๊คบี ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เราจะไม่ค่อยมีนักลงทุนมาลงทุนด้วยมากนัก ผมเองก็ต้องบินออกไปนอกประเทศเพื่อที่จะไปหานักลงทุน เพราะว่าตัว Ecosystem ของ Startup ในประเทศไทยมันยังไปไม่ถึงตรงนั้น มีเงินลงทุนไปที่อินโดนีเซียเยอะมาก แต่ของที่อยู่ในเมืองไทยปัจจุบันสำหรับนักลงทุนก็คือ ของดีราคาถูก ซึ่งปัญหาที่เราเจอทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าเราไม่มีเงินทุน แต่กลับกันในอีกแง่มุมหนึ่งคือ เราอาจจะมีเงินทุนมากเกินไป นั่นคือมากกว่า Startup ดีๆ ที่จะให้เราลงทุนได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นแบบนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับ Startup”

เมื่อมองว่า การเป็น Startup ซึ่งเป็นบริษัทที่เปิดขึ้นมาจากคนไม่กี่คน และต้องใช้เงินลงทุนกันเป็นพันล้านในช่วงเวลาแค่ไม่กี่ปีใช่หรือไม่ ในส่วนนี้ก็จะเป็นเรื่องมุมมองของนักลงทุน อย่างกองทุน 500 TukTuks ในตอนแรกได้ตั้งเป้าการลงทุนไว้ที่ 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ก็ได้รับเงินลงทุนที่อยากลงทุนในเมืองไทย ทำให้ปัจจุบันเงินลงทุนมีอยู่ประมาณ 15.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 500 ล้านบาท) ซึ่งจะถูกนำมาแบ่งลงทุนให้กับ Startup บริษัทละประมาณ 3-5 ล้านบาท และในตอนนี้ 500 TukTuks ได้ลงทุนไปแล้วกว่า 30 บริษัทในประเทศไทย ตลอดช่วงระยะเวลา 18 เดือนที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายที่จะลงทุนให้ได้เป็น 100 บริษัท ภายในระยะเวลาอีก 18 เดือนข้างหน้า ซึ่ง Startup ส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะอยู่ในระดับ Seed ส่วนที่เป็น Series A หรือ Series B ยังมีน้อยมาก

“เราเชื่อในหลักการที่ชื่อว่า Lots of Little Bets คือเราลงทุนเยอะๆ สมมติเรามีเงิน 10 บาท ลงทุนบริษัทละ 1 บาท 5 บริษัทแรกอาจจะเจ๊ง 3 บริษัทต่อมากลายเป็นซอมบี้ ก็คือยังไม่ตายแต่เลี้ยงไม่โต เพราะฉะนั้นเงินที่เราลงทุนไป 5 บาทแรกเป็นศูนย์ 3 บาทต่อมาก็อาจจะเหลือ 3 บาทเท่าเดิม แต่เราหวังว่า 2 บาทสุดท้ายจะสามารถกลับมาเป็น 10 หรือ 100 บาทได้ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดของการลงทุนใน Startup ช่วงแรกๆ คือ ทำยังไงให้เราเจอบริษัทอย่าง 2 บริษัทหลัง ถ้าจะให้มั่นใจเราลงเป็น 100 บริษัทย่อมดีกว่า ซึ่งเราอาจจะได้เจอ 5-10 บริษัทที่ประสบความสำเร็จ”

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

ธนาคารกรุงเทพรับสมัครสตาร์ตอัพ เข้าโครงการ Bangkok Bank InnoHub Season 2

ธนาคารกรุงเทพร่วมกับบริษัท Nest ที่มากด้วยประสบการณ์ด้านสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทค ค้นหาธุรกิจสตาร์ทอัพ 5 กลุ่ม …