Hyperloop : ระบบขนส่งมวลชนแห่งอนาคต

Hyperloop คือเทคโนโลยีการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางท่อด้วยความเร็วสูงในระดับเดียวกับหรือเหนือกว่าเครื่องบินพาณิชย์ ถึงแม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาและคงต้องมีการทดสอบกันอีกมาก แต่ก็มีบริษัทหลายรายที่สนใจ

ขณะที่บ้านเรากำลังเร่งรัดการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ ข้ามไปยังอีกฟากหนึ่งของโลกที่สหรัฐอเมริกา ก็มีผู้พัฒนาหลายรายกำลังให้ความสนใจกับนวัตกรรมการคมนาคมแบบใหม่ Hyperloop ระบบขนส่งทางท่อที่สามารถขนผู้โดยสารจากนครนิวยอร์ก – กรุงวอชิงตัน ดีซี (ระยะทางประมาณ 340 กิโลเมตร หรือครึ่งทางของกรุงเทพ – เชียงใหม่) โดยใช้เวลาเพียง 30 นาที! ซึ่งหัวหอกผู้เริ่มต้นไอเดียก็ไม่ใช่ใครอื่น Elon Musk ผู้ก่อตั้งบริษัท Tesla และ SpaceX อันมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกนั่นเอง

เนื้อหาในบทความนี้จึงเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของ Hyperloop ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังการทำงาน พัฒนาการล่าสุด รวมถึงประโยชน์ที่มหาชนคนทั่วไปอยางเราจะได้รับ

Hyperloop คืออะไร?

       เทคโนโลยีที่เป็นฐานการพัฒนา Hyperloop คือระบบ The Very High-speed Transit (VHST) ที่ได้มีการนำเสนอครั้งแรกเมื่อปี 2515 โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรถไฟขับเคลื่อนด้วยการยกตัวของแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic levitation – Maglev) กับท่อขนส่งแรงดันต่ำ (Low Pressure Transit Tube) และมี “แคปซูล” หรือ “พ็อด” (pod) ทำหน้าที่บรรจุวัตถุสิ่งของที่ต้องการขนส่งตามแนวเส้นทาง

Hyperloop คือการนำแนวคิดดังกล่าวมาต่อยอดการพัฒนาด้วยความคาดหวังให้มาเป็นทางเลือกหนึ่งของการเดินทางระยะสั้นแทนเครื่องบินพาณิชย์ โดยอาศัยข้อได้เปรียบด้านความเร็วที่มากกว่าเมื่อเทียบกับระบบขนส่งทางรางในปัจจุบัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเมื่อเทียบกับเครื่องบินที่สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง โดยความเร็วสูงสุดที่ได้กำหนดเป็นเป้าหมายไว้คือประมาณ 1,200 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ไทม์ไลน์เทคโนโลยี ‘Hyperloop’

The Boring Company บริษัทแสนน่าเบื่อของ Elon Musk

       ย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 Elon Musk ได้นำเสนอรายงานฉบับหนึ่งซึ่งเป็นการฉายภาพคร่าว ๆ ของนวัตกรรม Hyperloop ให้ชาวโลกได้รับรู้ พร้อมกับสนับสนุนให้องค์การและหน่วยงานต่าๆ สามารถนำแนวคิดดังกล่าวไปต่อยอดการพัฒนาได้ฟรีไม่มีปิดกั้น แต่จนแล้วจนรอดใครทำก็ไม่เท่าตัวเองลงมือ Musk จึงได้ตั้งบริษัท The Boring Company เพื่อวิจัยและพัฒนาการขุดเจาะท่อใต้ดินสำหรับเป็นการปูรากฐานให้กับระบบขนส่ง Hyperloop นั่นเอง

หัวใจสำคัญของเทคโนโลยี Hyperloop ของ The Boring Company คือการนำระบบ Air Bearings มาใช้ในการขับเคลื่อนแคปซูลผู้โดยสารแทนล้อเพื่อลดแรงเสียดทาน เป็นผลให้แคปซูลลอยอยู่ในอากาศและสามารถใช้ความเร็วสูงได้ ขณะที่อากาศในท่อจะถูกดูดออกไปภายนอกเพื่อสร้างสภาวะความกดอากาศต่ำคล้ายกับการบินที่ระดับความสูงมากๆ เพื่อให้เกิดแรงต้านกับแคปซูลน้อยที่สุด ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งในการประหยัดพลังงานที่จะสร้างขึ้นจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดอยู่ด้านบนของแนวท่อเหนือพื้นดิน

แม้ว่าแนวคิด Hyperloop จะสามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก แต่การแปลงทฤษฎีมาสู่ภาคปฏิบัติกลับไม่ใช่เรื่องง่าย ปัจจุบัน Musk ยังไม่สามารถให้คำมั่นได้ว่าเราจะสามารถเดินทางโดยใช้ระบบดังกล่าวได้เมื่อไร ขณะที่ The Boring Company ก็กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาเครื่องขุดเจาะ Godot ที่สามารถเจาะและเสริมผนังอุโมงค์ใต้ดินไปพร้อมกัน ช่วยประหยัดต้นทุนด้านเวลากับค่าใช้จ่าย

โดยล่าสุดได้ประสบความสำเร็จในการเจาะอุโมงค์ใกล้ที่จอดรถสำนักงาน SpaceX เมืองฮาวธอร์น รัฐแคลิฟอร์เนีย และสามารถเจรจากับทางการในการขยายความยาวต่อไปได้อีก 3.2 กิโลเมตร เพื่อสำหรับใช้ในการทดสอบระบบขนส่งความเร็วสูงอย่าง Hyperloop นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการกำหนดเส้นทางในเบื้องต้นไว้บ้างแล้ว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเส้นทางเชื่อมระหว่างลอสแอนเจลิส – ซานฟรานซิสโก ระยะทาง 570 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้างราว 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับระบบขนส่งคนโดยสาร และจะพุ่งไปเป็น 7.5 พันล้านดอลลาร์ สำหรับการพัฒนาให้เป็นระบบขนส่งสินค้า นอกจากนี้ เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา The Boring Company ได้รับการอนุมัติอย่างไม่เป็นทางการให้สามารถสร้าง Hyperloop เชื่อมนครนิวยอร์ก – กรุงวอชิงตัน ดีซี โดยให้มีจุดแวะรับ/ส่งผู้โดยสารยังเมืองต่าง ๆ ตามแนวเส้นทางอีกด้วย

Virgin Hyperloop One : คู่แข่งคนสำคัญ

เนื่องจาก Musk อนุญาตให้ผู้สนใจสามารถนำแนวคิด Hyperloop ไปต่อยอดการพัฒนาได้ตามสบาย จึงพบว่ามีบริษัทอื่นไม่น้อยที่ตั้งมั่นพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวให้กลายเป็นจริง หนึ่งในนั้นคือ Virgin Hyperloop One ซึ่งได้ Virgin Group ของมหาเศรษฐี Richard Branson เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ และได้นาย Branson เข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารด้วย จึงทำให้การแข่งขันระหว่าง Virgin Hyperloop One กับ The Boring Company เป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

เทคโนโลยีส่วนใหญ่ที่ใช้ในการขับเคลื่อน Hyperloop One ไม่ใช่ของใหม่ โดยมีหลักการทำงานคือแคปซูลที่บรรจุผู้โดยสารจะถูกเร่งความเร็วด้วยแรงขับไฟฟ้าในท่อขนส่งแรงดันต่ำ ซึ่งแคปซูลจะลอยขึ้นเล็กน้อยด้วยแรงยกตัวของแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้ปลอดแรงเสียดทานและสามารถเร่งความเร็วได้เทียบเท่าหรือมากกว่าเครื่องบินพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม Hyperloop One มีความคืบหน้าเป็นระยะ บริษัทประสบความสำเร็จในการทดสอบระบบแรงขับในที่โล่งแจ้ง (open-air) ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ขณะที่ได้ทำการทดสอบทั้งระบบ (full-systems test) เฟสแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และทดสอบเฟสที่สองเมื่อเดือนกรกฎาคม โดยได้มีการตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2564 จะต้องสามารถพัฒนาระบบขนส่ง Hyperloop ที่สามารถเคลื่อนย้ายผู้โดยสารและรองรับการใช้งานแบบ mix-use ให้สำเร็จ โดยกำหนดค่าตั๋วจากลอสแอนเจลิส – ซานฟรานซิสโก ประมาณ 30 เหรียญ (ราว 1,000 บาท) ซึ่งคาดว่าจะคืนทุนได้ภายใน 8 ปี

ประโยชน์ของ Hyperloop

ข้อได้เปรียบที่ Hyperloop มีเหนือระบบขนส่งสาธารณะอื่นคือ ความเร็วและการประหยัดพลังงานที่มากกว่า ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก Hyperloop One ได้วิเคราะห์คุณประโยชน์ของเทคโนโลยีดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

2. ผู้โดยสารสามารถร่นเวลาเดินทาง ทำให้มีเวลามากขึ้น ตัวอย่างขอให้ลองคิดดูเล่น ๆ ว่า การ
เดินทางด้วยเครื่องบินแต่ครั้งต้องใช้เวลามากแค่ไหน เริ่มจากซื้อตั๋ว เดินทางไปสนามบิน เช็คอิน โหลดกระเป๋า ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับการดำเนินชีวิตของเราทั้งสิ้น Hyperloop สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เพราะสามารถก่อสร้างสถานีเดินทางได้ภายในเขตเมือง สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น และเดินทางได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ปัญหาการโหลดกระเป๋าสามารถแก้ได้ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ เพราะสามารถพัฒนาให้บริเวณที่นั่งผู้โดยสารสามารถเก็บกระเป๋าขนาดใหญ่ได้

3. สามารถขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะในอนาคตแคปซูลของ Hyperloop อาจสามารถออกแบบให้รองรับการขนส่งสินค้าได้ปริมาณมาก แล้วการขนส่งทางท่อก็ไม่ต้องกังวลปัญหารถติดอีกด้วย

4.Hyperloop สามารถก่อสร้างใต้ดินและใต้น้ำ ช่วยเพิ่มโอกาสในการจนส่งสินค้าจากท่าแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งที่อยู่ใกล้กัน นอกจากนี้ การก่อสร้างยังใช้พื้นที่น้อยกว่าและไม่ไปบดบังทัศนียภาพใกล้เคียง

5.สร้างงานใหม่ ลองคิดดูว่าในอนาคตจะดีเพียงใดหากคนนอกเมืองสามารถเข้ามาในเมืองได้แบบเช้าไปเย็นกลับ? ผลที่จะเกิดขึ้นคือ ความคับคั่งในเมืองจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งรวมไปถึงปัญหาอาชญากรรม มลพิษ และปัญหารถติดก็จะน้อยลงไปด้วยเพราะคนทำงานต่างถิ่นไม่จำเป็นต้องพักอาศัยใกล้สถานที่ทำงานอีกต่อไป นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นายจ้างสามารถจ้างแรงงานมีฝีมือจากท้องที่อื่น เช่นเดียวกับลูกจ้างที่มีตัวเลือกในการหางานมากขึ้น เพราะไม่ต้องจำกัดอยู่เฉพาะสถานที่ละแวกบ้านอีกต่อไป

6. Hyperloop จะสามารถเชื่อมเราให้เข้าหากันได้มากขึ้น ในอนาคตเราอาจไม่ต้องเสียเวลาเดินทางนาน ๆ เพื่อกลับไปพบญาติ ๆ ที่บ้านเกิด เพราะ Hyperloop จะช่วยร่นเวลาเดินทางให้สั้นลง ทำให้ครอบครัวมีเวลาประกอบกิจกรรมร่วมกันได้มากขึ้น และไม่ต้องแช็ตคุยกันอย่างเดียว

สรุป

Hyperloop คือเทคโนโลยีการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางท่อด้วยความเร็วสูงในระดับเดียวกับหรือเหนือกว่าเครื่องบินพาณิชย์ ถึงแม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาและคงต้องมีการทดสอบกันอีกมาก แต่ก็มีบริษัทหลายรายที่สนใจ เช่น The Boring Company ของ Elon Musk และ Virgin Hyperloop One ของ Richard Branson ที่หมายมั่นพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้เป็นอีกทางเลือกของการขนส่งให้ได้ เพราะประโยชน์ที่จะได้รับไม่เพียงแต่จะเป็นการประหยัดเวลาเดินทางเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถเข้าถึงทรัพยากรและแหล่งทุนได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศต่อไปครับ

You may be interested in

Latest post from Facebook