ถึงแม้ในปัจจุบัน AI จะช่วยให้การทำงานในองค์กรดีขึ้น แต่บริษัทต่าง ๆ ก็ยังประสบปัญหา 2 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่ 1.การหาพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI และการจัดการข้อมูล 2.การรวบรวมชุดข้อมูล (Data Collection) ให้เพียงพอสำหรับ AI และอัลกอริทึ่มมาประมวลผล
สำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องของพนักงาน มี 2 วิธีด้วยกัน ได้แก่ 1.การฝึกอบรมและพัฒนาวิศวกรภายในองค์กรให้มีความรู้ด้าน AI ผ่านหลักสูตรและสถาบันที่เกี่ยวข้อง และ 2. สรรหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้วจากภายนอกควบคู่กันไป เพื่อให้บริษัทมีทีมด้าน AI เพิ่มขึ้นและมีประสิทธิภาพในเวลาอันรวดเร็ว
โดยภายในงาน CMKL Tech Summit 2018 สัมมนาด้าน AI ได้เปิดเผยและยกตัวอย่างการนำ AI มาใช้ใน อาทิเช่น AI กับสังคมผู้สูงอายุ ที่มีเครื่องวัดความสั่นสะเทือนและรูปแบบของการเดิน โดยใช้ AI เข้ามาช่วยบอกถึงสถานะของผู้ป่วยสูงอายุในสถานบริการสุขภาพ เช่น จังหวะการเดิน น้ำหนักการเดิน มีความสามารถในการเดินเป็นอย่างไร กำลังเหน็ดเหนื่อย มึนงงหรือแข็งแรง ต้องการการดูแลเพิ่มเติมหรือไม่ และจะคอยแจ้งเตือนไปยังแพทย์และผู้ดูแลตามกำหนดเวลา
กลุ่มธุรกิจด้านอื่น ๆ ที่ใช้ AI มาช่วยธุรกิจในปัจจุบัน ได้แก่ ธุรกิจบริการสุขภาพ ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจบริการด้านการเงิน ธุรกิจโลจิสติกส์ และมีอีกหลายกลุ่มธุรกิจที่เริ่มนำ AI มาใช้อย่างเช่น โทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ และเกษตรกรรม
ตัวอย่างเช่น บริษัท เบทาโกร กับมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล มีการทดลองโครงการเกี่ยวกับ AI ได้ประมาณ 1 ปี โดยใช้ AI ในการเฝ้าดูพฤติกรรมของหมูในฟาร์ม เพื่อให้ทราบอย่างทันท่วงทีว่าหมูตัวไหนมีอาการป่วย และทำการรักษาหมูได้ทัน ลดอัตราการตายของหมู และคงผลิตภาพ รวมไปถึงงานที่จำเป็นต้องใช้ AI อย่างการตรวจสอบกับอุจจาระของหมูด้วย
ภาคอุตสาหกรรมและภาคองค์กร AI เริ่มเข้ามามีบทบาทในธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากมีข้อดีที่ช่วยให้ประหยัดต้นทุน ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดจำนวนแรงงานคนที่ไม่จำเป็น หรือมาแทนงานบางอย่างที่คนไม่สามารถทำ ซึ่งในอนาคตเราคงได้เห็นการเปลี่ยนแปลง และศักยภาพของ AI เพิ่มขึ้น