Magical Lands แก้ไขปริศนา ผ่านทักษะการคำนวณ

หากมีคำถามถึงวิชาที่น่าเบื่อที่สุดในการเรียน คณิตศาสตร์คงเป็นคำตอบลำดับต้นๆ ของเด็กหลายคน เนื่องจากกระบวนการคิดที่เป็นระบบ มีวิธีคิดและคำตอบที่ชัดเจนจนทำให้เกิดข้อสงสัยว่าจะนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไรในชีวิตจริง ซึ่งทำให้เกิดการเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัวส่งผลให้วิชาพื้นฐานอย่างคณิตศาสตร์ถูกมองข้ามไป

3

การดึงดูดความสนใจจากเด็กยุคดิจิตอลคงจะหนีไม่พ้นสิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างเกม ทำให้ทีมเบต้านักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งประกอบด้วย เอกวุฒิ สุวานิโช ปาณณพัฒน์ แสงเป่า และศิวกร พงษ์ชาญเดช สร้างสรรค์ผลงานแอพพลิเคชั่นเกมปริศนาโดยใช้ทักษะการคิดคำนวณในชื่อ “Magical lands” ส่งเข้าประกวดในโครงการ Imagine Cup Thailand 2015 และคว้ารางวัลชนะเลิศในประเภทเกม

สร้างพื้นฐานการคำนวณ เป็นส่วนช่วยสร้างสรรค์
น้องๆ ทีมเบต้า เล่าว่า ในตอนเริ่มโปรเจ็กต์มีหลายตัวเลือกในการตัดสินใจ แต่เมื่อมองสิ่งใกล้ตัวพบว่า เกมมีอิทธิพลอย่างมากในปัจจุบัน รวมถึงทั้งสามคนมีความชอบในด้านนี้ทำให้ตกลงกันว่าจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นในรูปแบบเกม ขั้นตอนต่อมาคือ การคิดคอนเซ็ปต์ ซึ่งได้มีการสำรวจค้นหางานวิจัยว่าการสร้างสรรค์ในรูปแบบไหนจะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้งาน

“จากการค้นหางานวิจัยพบว่า การที่คนเราจะพัฒนาสมองต้องเรียนรู้ผ่านทักษะคณิตศาสตร์พื้นฐาน แต่การที่จะเก่งได้ต้องได้รับฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก เพราะเป็นช่วงที่สมองเปิดรับและจะได้รับการพัฒนา โดยส่วนนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยเรื่องความคิดสร้างสรรค์ สังเกตได้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะเก่งคณิตศาสตร์ด้วย เนื่องจากได้เรียนรู้กระบวนการหาคำตอบ รู้จักพลิกแพลงวิธีคิดต่างๆ แต่การเรียนการสอนส่วนใหญ่จะใช้วิธีคิดแบบหาผลลัพธ์ทำให้เด็กเรียนรู้แบบท่องจำ ในการทำแอพพลิเคชั่นนี้จึงใช้การคิดแบบคำนวณด้วยผลลัพธ์ (Backward Calculation) ซึ่งจะให้ผู้ใช้งานได้ฝึกวิธีการแก้ไขปัญหาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน”

e200

ฉบับที่ 200 เดือนสิงหาคม

ชำระเงินผ่านแอพฯ แชต รับตลาดโมบายล์

ศึกษาพื้นฐาน ต่อยอดผลงานรูปแบบใหม่
แอพพลิเคชั่น Magical Lands เป็นเกมทางคณิตศาสตร์ เหมาะสำหรับเด็กอายุ 7-14 ปี ผู้เล่นต้องออกเดินทางไปช่วยแม่มดสะสมอัญมณีเพื่อจะนำไปให้พระราชา การเก็บอัญมณีจะมีผลลัพธ์ที่กำหนดอยู่ด้านบน ตัวเลขและเครื่องหมายสำหรับคิดคำนวณอยู่บนหน้าจอ ผู้เล่นจะต้องใช้หน้าจอสัมผัสโดยเทคนิคการลากและหยุด เพื่อนำตัวเลขที่กำหนดให้ใช้กับเครื่องหมายเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ใน 1 ด่านจะมีวิธีการคิดที่หลากหลาย มีอุปสรรคที่เข้ามาเพิ่มความท้าทายให้กับตัวเกม ปัจจุบันมี 2 ฉาก ได้แก่ ป่า และทะเล ในแต่ละฉากมี 30 ด่าน ซึ่งมีความยากเพิ่มขึ้นตามลำดับเป็นการสร้างความท้าทาย จุดประสงค์หลักของเกมคือ การเน้นฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์ด้านการคิด วิเคราะห์ เพื่อหาผลลัพธ์

2

การเรียนการสอนส่วนใหญ่จะใช้วิธีคิดแบบหาผลลัพธ์ทำให้เด็กเรียนรู้แบบท่องจำ แอพพลิเคชั่นนี้จึงใช้การคิดแบบคำนวณด้วยผลลัพธ์ (Backward Calculation) ซึ่งจะให้ผู้ใช้งานได้ฝึกวิธีการแก้ไขปัญหา

ในการส่งประกวดโครงการ Imagine Cup Thailand เกิดจากแรงบันดาลใจที่ได้เห็นรุ่นพี่เข้าร่วมประกวดและประสบความสำเร็จ น้องๆ ทีมเบต้าจึงทุ่มเทกับการแข่งขันนี้อย่างเต็มที่ โดยมีทางมหาวิทยาลัยคอยให้การสนับสนุน โดยหลังจากนี้หากมีโอกาสจะส่งผลงานชิ้นนี้เข้าร่วมงานแข่งขันในเวทีอื่นๆ อีกด้วย

สำหรับเส้นทางในการผลิตผลงานไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เนื่องจากทางคณะมีการสอนเขียนโปรแกรมในรูปแบบพื้นฐานเพื่อให้นักศึกษานำไปต่อยอดได้ในอนาคต แต่การทำแอพพลิเคชั่นเกมมีความยากมากกว่านั้น โดยเฉพาะส่วนประกอบสำคัญของเกมอย่างภาพประกอบที่ภายในทีมไม่มีพื้นฐานมาก่อนทำให้ต้องมีการเรียนวาดรูปอย่างจริงจัง รวมทั้งการเขียนโปรแกรมในรูปแบบ Unity code ที่ได้รุ่นพี่ และดร.ศรีสุภา ปาละกะวงศ์ ณ อยุธยา มาช่วยให้คำปรึกษา

“การทำเกมเป็นสิ่งที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน มันไม่ใช่แค่เขียนโค้ด ต้องคำนึงถึงภาพ สี เสียงประกอบ และต้องทำเนื้อหาที่ไม่น่าสนใจ ให้น่าสนใจมากขึ้น ดังนั้นการศึกษางานวิจัยก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเพราะมีส่วนช่วยในการพัฒนาและสร้างความน่าเชื่อถือ ทุกอย่างต้องใช้เวลาในการศึกษากว่าจะได้ผลงานชิ้นนี้ก็ประมาณ 1 ปี”

เป็นตัวช่วยการเรียนรู้ ส่งเสริมบุคลากรทางนวัตกรรมในอนาคต
หลังจากได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทจากโครงการ Imagine Cup Thailand 2015 แล้ว ตอนนี้เกม Magical lands มีให้ดาวน์โหลดเวอร์ชั่น Lite ในระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟน และกำลังพัฒนาเพื่อขยายฐานเข้าสู่ผู้ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดยอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาขอคำปรึกษาจากมหาวิทยาลัยในการเผยแพร่ผลงานของนักศึกษา เพื่อให้วางขายได้จริง

ส่วนของการพัฒนาตัวเกมในรูปแบบเวอร์ชั่นเต็ม มีการเพิ่มด่านให้ท้าทายมากยิ่งขึ้น ฉากใหม่ที่จะดึงดูดความสนใจจากผู้เล่น พร้อมการเล่นในรูปแบบมัลติเพลย์เยอร์ เพิ่มกลุ่มเป้าหมายจากเด็กไปยังผู้สูงอายุเพื่อเป็นการฝึกทักษะความจำ ป้องกันโรคชรา ซึ่งยังต้องหางานวิจัยเพิ่มเติมในส่วนนี้ ทั้งยังมองในส่วนของการหารายได้จาก In-App Purchases เพื่อซื้อไอเทมต่างๆ แต่ยังต้องศึกษาถึงระบบความปลอดภัยในการส่งข้อมูล และประสานงานในส่วนของช่องทางการชำระเงินด้วย

“เกมเข้ามามีบทบาททางสังคมมากขึ้น มีการเอาเกมไปพัฒนาในเรื่องการศึกษา แพทย์ นักบิน และอื่นๆ ซึ่งก็ได้รับความนิยมในท้องตลาด เพราะการผสมผสานการเรียนรู้เข้ากับเกมทำให้ผู้ใช้งานได้รับความสนุกสนานและประโยชน์ในเวลาเดียวกัน เราก็หวังว่าแอพพลิเคชั่นนี้จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาเด็กๆ ให้เรียนรู้ในเรื่องที่มองว่ายากได้อย่างง่ายดาย เพื่อวันหนึ่งเขาจะได้เข้ามาอยู่ในจุดที่เป็นผู้พัฒนานวัตกรรม และสังคมอย่างมีคุณภาพต่อไป” น้องๆ ทีมเบต้า กล่าวทิ้งท้าย

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

ทอ-ไอ-ยอ-ไทย-applicaition
ทอ-ไอ-ยอ-ไทย สอนน้องอ่านภาษาไทย เบื้องต้น

ช่วงเริ่มต้นในการเรียนรู้ภาษา ยังคงเป็นเรื่องที่ยากที่สุดเสมอ โดยเฉพาะกับเด็กๆ ทีเริ่มเข้าโรงเรียนและเรียนรู้ภาษาอย่างจริงจังที่มาก กว่าการพูด ปัญหาการอ่านเขียนภาษาไทยของเด็กเล็ก ยังคงมีให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากมีการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุด...