ช่วงที่ผ่านมา “วัฒนธรรมทำเอง” หรือ Maker Culture สังคมที่แบ่งปันความรู้และการร่วมมือกันจนเกิดเป็นพื้นที่ทำงานของเมกเกอร์ หรือนักสร้างสรรค์นวัตกรรม ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
เพราะเมกเกอร์ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ความรู้ในเทคโนโลยีชั้นสูงเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่มีความแปลกใหม่และใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน กระแสเมกเกอร์ได้รับความสนใจมากขึ้น โดยมีการนำศิลปะผนวกเข้ากับเทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมใหม่
ผลงานที่น่าสนใจจาก ภิญญ์ ครีเอทีฟ สเปซ โดย อานนท์ ทองเต็ม เมกเกอร์มือโปร ผู้จัดการฝ่ายเทคนิค ภิญญ์ ครีเอทีฟ สเปซ (Pinn Creative Space) บอกว่า มีการทำ Tote bag ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ Digital Fabrication ในการสร้างลวดลายพิมพ์ลงบนผ้าและปักด้วยลายปักจากจักรปักระบบคอมพิวเตอร์
การสร้างงานโมเดลกระดาษ Karakuri ที่มีกลไกให้สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ ไปถึงงาน Robotic อย่าง Balancing Robot หรือ หุ่นที่สามารถทรงตัวบนล้อสองล้อได้โดยไม่ล้ม ซึ่งสามารถบังคับการเคลื่อนที่ผ่านแอปพลิเคชันได้ โดยมีการถักไหมพรมสวมทับตัวหุ่นลงไปเพิ่มความน่ารักให้หุ่นมากยิ่งขึ้น
ผลงานที่ใช้เทคโนโลยีน่าสนใจ ของ ประเสริฐศาสตร์ เดชอุดม เมกเกอร์มือโปร วิศวกรคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ก่อตั้ง ไอยราฟันส์ (Ayarafun Factory) ชุมชนออนไลน์ของเมกเกอร์ ได้คิดค้นและประดิษฐ์ Personal Robot ชื่อ ไอยะ หุ่นยนต์ส่วนบุคคล ที่นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์เสียง
ปัจจุบันไอยะ สามารถแสดงอารมณ์ ผ่านหน้าตา และเสียง โดยรับคำสั่งในแบบง่าย เช่น ทักทาย หรือร้องเพลง เป็นต้น ทั้งนี้ ในอนาคต ไอยะจะถูกพัฒนาเพิ่มความสามารถใหม่ๆ ลงไป เพื่อให้ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับใช้ชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น
หุ่นยนต์บังคับด้วย WI-FI และประมวลภาพ โดย นิมิต หงส์ยิ้ม หุ่นยนต์ที่บังคับด้วยสมาร์ทโฟนผ่าน Wi-Fi หรือใช้โน้ตบุ๊ก บังคับและตั้งให้ติดตามวัตถุต่างๆได้ เพื่อทำ Image Processing หรือประมวลภาพ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากกล้อง Webcam
แต่ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ที่สามารถสร้างผลงานจนเป็นเมกเกอร์มือโปรได้ เด็กๆ ก็สามารถสามารถเป็นเมกเกอร์ได้เช่นกัน เพียงแค่มีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ แล้วลงมือลองผิดลองถูก เพื่อทำผลงานนั้นออกมา เพื่อจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก เยาวชน และผู้ที่สนใจ ได้เรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของเมกเกอร์มากขึ้น รวมถึงมีพื้นที่ให้เมกเกอร์ได้มาพบปะและแสดงผลงาน
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกลุ่มเมกเกอร์ประเทศไทย จัดงานมหกรรมแสดงผลงานและสิ่งประดิษฐ์ของเมกเกอร์ Maker Faire Bangkok 2018 ลานอวดของ ประลองไอเดีย ซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากการจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire ครั้งที่ 1 และ 2 โดยในปีนี้ถือเป็นเมกเกอร์แฟร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนอกจากผลงานสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวแล้ว ในงานจะมีการจัดแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่น่าสนใจทั้งจากกลุ่มเมกเกอร์ชาวไทยและต่างประเทศ พร้อมทั้งกิจกรรมเวิร์กชอปอีกด้วย
รู้หรือไม่?
นอกจาก Maker Faire Bangkok (www.bangkokmakerfaire.com) พื้นที่พบปะของเหล่าเมกเกอร์และนักสร้างสรรค์ในประเทศไทยแล้ว ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีประเทศสิงคโปร์ ที่มีการจัดงาน Singapore Makers Faire (www.makerfairesingapore.com) เป็นประจำทุกปีอีกด้วย