MOOCs นวัตกรรม การศึกษา แบบเปิดกว้าง ยุคดิจิทัล


ในโลกของการศึกษาตอนนี้ มีหลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากมาย ทั้งเรื่องของนวัตกรรมการสอน การออกแบบห้องเรียนของอาจารย์ หรือผู้สอนที่ต้องคอยวิ่งเข้าหากลุ่มของผู้เรียนมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนที่เข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21 ประกอบกับการออกนอกระบบของสถาบันการศึกษาในประเทศไทย สื่อการเรียนและวิธีการเรียนเองก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามสมัย ในตอนนี้เราจะว่ากันด้วยเรื่องของ MOOCs (Massive Open Online Course) หรือการศึกษาแบบเปิดในรูปแบบบทเรียนออนไลน์

MKT (2)-1

MOOCs จะไม่จำกัดจำนวนของผู้เรียน เพื่อเน้นการเข้าถึงที่สะดวกผ่านเว็บไซต์ทั้งบนคอมพิวเตอร์พีซี และอุปกรณ์พกพาอย่างแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน เป็นการสร้างนวัตกรรมการศึกษาแบบเสรีที่ใครๆ ก็เรียนได้ เป็นการยกเครื่องรูปแบบการเรียนการสอนให้สูงกว่ารูปแบบ E-Learning

ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 และการออกนอกระบบของสถาบันการศึกษา
เราเคยยกประเด็นเรื่องนี้มาพูดคุยกันไปบ้างแล้ว สรุปได้ว่ามันคือยุคที่ผู้เรียน หรือนักเรียน เปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนตามสิ่งที่ตนสนใจ เน้นไปเชิงลึกมากกว่าเชิงกว้าง วิชาพื้นฐานไม่มีความสำคัญเท่ากับเรื่องที่ตนสนใจ สื่อการเรียนรู้ต่างๆ ที่ปรากฏในห้องเรียนต้องกระชับ และอยู่ในรูปแบบดิจิทัลมีเดีย เพราะผู้เรียนในยุคนี้เติบโตมากับเทคโนโลยี ที่สำคัญความสนใจของผู้เรียนศตวรรษที่ 21 ต่อบทเรียน หรือระหว่างการเรียนนั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 20 -30 นาทีเท่านั้น ที่จะทำความเข้าใจเนื้อหา เพราะต้องการลงมือปฏิบัติจริงทันทีมากกว่า เพราะผู้เรียนกลุ่มนี้ชอบที่จะพบกับความท้าทายในการแก้ปัญหาในชีวิตจริง

การออกแบบสื่อการเรียนรู้ และเทคนิคการนำเสนอจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับอาชีพผู้สอนมากในเวลานี้ ด้วยปัญหาที่ต้องจับประเด็นให้ได้ว่า ทำอย่างไรจึงจะขับเคลื่อนผู้เรียนให้เกิดความตื่นตัว (Motivation) ในการเรียนในห้องเรียนให้ได้อีกทั้งยังต้องเพิ่มทักษะทางปัญญา (Cognitive Skills) และพัฒนาความฉลาดทางสังคม (Social Intelligence) ของผู้เรียนให้เกิดขึ้นมากกว่าแค่การท่องจำบทเรียนแต่นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงไม่ได้ ประกอบกับปัจจัยในแง่ของระบบเมื่อสถาบันการศึกษาหลายๆ แห่งเริ่มออกนอกระบบ รูปแบบทางธุรกิจ (Business Models) จึงกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทางสถาบันต้องหยิบยกมาปรับใช้เพื่อสร้างฐานของผู้เรียน (ลูกค้า) ด้วยหลักสูตรแปลกใหม่และสร้างความน่าสนใจของสถาบันการศึกษาของตนให้ได้มากที่สุด รูปแบบทางธุรกิจรูปแบบหนึ่งที่ได้ผลเสมอกับสถาบันการศึกษาคือ การจัดคอร์ส อบรม หรือคอร์สการเรียนเชิงปฏิบัติการแก่ผู้ที่สนใจในเรื่องใดๆ คล้ายกับแนวทางของการทำบริการวิชาการปกติที่อาจารย์ หรือผู้สอนในสถาบันการศึกษาเคยทำกันมาตลอด ในจุดนี้สถาบันชั้นนำในต่างประเทศที่คำนึงถึงประเด็นของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนของผู้เรียน และแนวทางการสร้างการรับรู้ของชื่อเสียงสถาบันการศึกษา (Awareness) ได้เริ่มหันมาใช้รูปแบบกึ่งธุรกิจ แต่ก็เข้าข่ายในส่วนของนวัตกรรมของสื่อการศึกษามากกว่า นั่นคือการเข้าร่วมใช้งาน MOOCs

MOOCs หรือ Massive Open Online Course คืออะไร?
MOOCs คือรูปแบบของการนำเสนอบทเรียนในวิชาต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตโดยให้ผู้เรียนลงทะเบียนและเรียนรู้แบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ และเว็บแอพ-พลิเคชั่น โดยเนื้อหาที่นำเสนอใน MOOCs นั้นเป็นการเน้นโดยตรงไปที่การสอนสำหรับคนกลุ่มใหญ่ ไม่เจาะจงเหมือนการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ต้องวิเคราะห์ผู้เรียนรายคน และ MOOCs ก็ไม่ใช่รูปแบบการบรรยายแบบการเรียนรวมที่มีผู้เข้าฟังบรรยายจำนวนมากแต่ไม่มีการปฏิสัมพันธ์กันเลย แนวทางของ MOOCs อันที่จริงก็ใกล้เคียงกับ E-Learning แต่เดิมนั้น E-Learning ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในรูปแบบการเรียนการสอนทางไกล แล้วจึงค่อยปรับสื่อที่ใช้ประกอบการเรียนการสอน หรือสื่อการเรียนรู้ (Learning Media) ให้อยู่ในรูปของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ Digital Publishing เช่น PDF, PowerPoint, Social Media Channels ไปจนถึงไฟล์ Videos Streaming หรือ Video Tutorials บน YouTube เป็นต้น แต่การทำ E-Learning นั้นก็ยังติดอยู่ในกรอบของสถาบัน หรือผู้สอนอยู่ทางเดียว นั่นคือจะมีแค่นักเรียนในสถาบันที่เรียนอยู่จะรู้จักช่องทางการเข้าถึง E-Learning เฉพาะในสถาบันของตนเพียงแค่นั้น จึงเกิดการรวมระบบของการนำรายวิชาต่างๆ จากผู้สอนที่ทรงคุณวุฒิในสถาบันชั้นนำ หรือสถาบันการศึกษาที่ขึ้นชื่อในศาสตร์แขนงเฉพาะต่างๆ มารวมตัวเปิดสอนบนออนไลน์โดยผู้เรียนสามารถเข้าเรียนได้ฟรี

รายวิชาที่เปิดสอนผ่านระบบออนไลน์บน MOOCs จะไม่จำกัดจำนวนของผู้เรียน เพื่อเน้นการเข้าถึงที่สะดวกผ่านเว็บไซต์ทั้งบนคอมพิวเตอร์พีซี และอุปกรณ์พกพาอย่างแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน เป็นการสร้างนวัตกรรมการศึกษาแบบเสรีที่ใครๆ ก็เรียนได้ เป็นการยกเครื่องรูปแบบการเรียนการสอนให้สูงกว่ารูปแบบ E-Learning หรือการเรียนการสอนทางไกลแบบเก่าให้อยู่ในรูปของระบบเปิดแบบไม่แสวงหาผลกำไร (แต่บางที่ก็มีการแสวงหาผลกำไร เช่น ค่าสมัครเพื่อรับใบประกาศ เป็นต้น) ในปัจจุบัน MOOCs ที่ได้รับความนิยมมากนั้นประกอบไปด้วย EdX หรือ MOOC.org (ของ Google), Coursera, ITunesU, Udemy และบริการอื่นๆ อีกมากมาย

รูปแบบของ MOOCs ระหว่างผู้เรียนและผู้สอน
การเรียนการสอนผ่าน MOOCs นั้นมีรูปแบบที่เหมือนกับการเรียนการสอนบน E-Learning โดยผู้สอนมีการสร้างเนื้อหาความรู้กระจายส่งให้กับผู้เรียนทางเดียวในระยะเวลาที่จำกัด แต่ต้องมีความพิเศษตรงที่ มีการเก็บผลการสอบก่อนเรียน (ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา) การออกแบบการสอนนั้นต้องมีการวางแผนเพิ่มเข้ามา อีกทั้งเมื่อมีการวางแผนว่าจะนำเสนอบทเรียน และรูปแบบการสอนแบบไหนแล้ว ยังต้องมีการออกแบบฟอร์มของแบบทดสอบ (Assignment) พร้อมระยะเวลาในการส่งผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะเป็นรูปแบบกึ่งบังคับการใช้ Project-Based Learning หรือ Problem-Based Learning ทำให้กิจกรรมการเรียนระหว่างที่ออนไลน์บนระบบของ MOOCs นั้นให้น่าสนใจและสร้างความรู้สึกให้เกิดความสนใจตื่นตัวต่อบทเรียน แล้วจึงค่อยนำผลลัพธ์ก่อนเรียนมาเปรียบเทียบกับผลลัพธ์หลังเรียน

รูปแบบแนวทางการส่งงานของผู้เรียนผ่านระบบ MOOCs นั้นจะมีแนวทางที่น่าสนใจอยู่ส่วนหนึ่งนั่นคือ กระบวนการสร้าง Motivation ระหว่างการเรียนด้วยแอนิเมชั่นและกิจกรรม แล้วค่อยกำหนดการส่งงานเป็นรูปแบบสื่อดิจิทัลโดยส่วนที่ผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาทักษะทางปัญญา (Cognitive Skills) และกระบวนการสร้างสิ่งใหม่ (Create) เพื่อนำเสนอโครงงานของตน ในรูปแบบสื่อดิจิทัล เช่น Blogs, Website, Videos Content, Infographics หรือสื่อรูปแบบอื่นๆ (เช่น เกม, โปรแกรม, แอพพลิเคชั่นพัฒนาขึ้นมาตามวัตถุประสงค์ของงาน)

e206

ฉบับที่ 206 เดือนกุมภาพันธ์

การแข่งขันบริการ Streaming บน 4G

องค์ประกอบสำหรับออกแบบ MOOCs ให้น่าสนใจ
การออกแบบ MOOCS ให้น่าสนใจต่อผู้เรียนที่มีจำนวนมาก โดยที่เราจะไม่สามารถไปลงลึกวิเคราะห์ผู้เรียนแต่ละคนได้นั้นต้องใช้รูปแบบการนำเสนออื่นๆ มาช่วยให้การเรียนด้วยตนเองของผู้เรียนเกิดประสิทธิภาพ โดยองค์ประกอบที่จะทำให้ห้องเรียนออนไลน์ และเนื้อหาที่นำเสนอใน MOOCs นั้นเกิดการโต้ตอบกับผู้เรียนคือ วิดีโอ เนื้อหา ช่องทางการโต้ตอบสำหรับสอบถาม Discuss และแบบทดสอบ Quiz หรือ Assignment แบบ Online

เนื้อหาที่ปรากฏในวิดีโอของรายวิชาใน MOOCs นั้นต้องเป็นรูปแบบ Custom Content ที่ออกแบบ และตัดต่อการนำเสนอให้เข้าใจง่ายแบบ How To การทำงานเป็นขั้นตอน Compare เปรียบเทียบหรือแบบ Infographic ประกอบการบรรยาย โดยเนื้อหาในวิดีโอนั้นไม่ควรเกิน 15 นาที และควรจะเข้าเรื่องการนำเสนอให้ตรงประเด็นชัดเจนตั้งแต่ช่วงแรก และตัวอย่างการปรับใช้เนื้อหาเชิงประยุกต์ในช่วงหลัง หรือการทดลองทำ โดยมีเอกสารประกอบออนไลน์ให้ดาวน์โหลดหรือใช้อ่านประกอบปรากฏอยู่ด้านข้างๆ อาจจะเป็น Google Slide หรือ Slide Shares ก็ได้ เสร็จแล้วให้ใช้แบบการทดสอบกิจกรรมออนไลน์ให้ทำงานกลุ่มและนำเสนอผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

ซึ่ง MOOCs บางระบบจะมีการแบ่งกลุ่มย่อยให้ ผู้เรียนที่ต้องทำ Project หรือโครงงานร่วมกัน Join หรือเข้าร่วมกลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มโดยมีผู้สอนที่คอยสอดส่องและควบคุมการสนทนาในกลุ่มย่อยได้อย่างสะดวก ตลอดระยะเวลาในการ Assign ตัวงานให้ทำกัน สุดท้ายงานที่ผู้เรียนจะนำเสนอได้นั้นประกอบไปด้วย YouTube Videos, Blog หรือรูปแบบการนำเสนออื่นๆ ที่น่าสนใจปรากฏขึ้นมาในระบบ

หลังจากนั้น รูปแบบการนำเสนอต่อเนื่องจากวิดีโอคือ ช่วงของการพูดคุยสนทนาผ่านระบบการตอบรับ หรือ Comments Feed ที่แต่ละระบบจะมีอยู่ (เหมือนพูดคุยใน Facebook Group ซึ่ง Facebook Group สามารถนำมาเป็น MOOCs ตัวหนึ่งได้เช่นกัน) กลไกการถามตอบใน MOOCs นั้นจะทำให้เกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์จากผู้เรียน อีกทั้งยังสามารถเพิ่ม Collective Intellogence หรือปัญญาสะสมในกลุ่มอีกด้วย

เมื่อจบการเรียนผ่านระบบ MOOCs แล้ว ผู้สอนจะต้องออกแบบ Post-Test หรือแบบประเมินผลการเรียน หรือผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนทั้งหมดด้วยแบบทดสอบออนไลน์ และสุดท้ายของที่สุด อย่าลืมให้ผู้เรียนประเมินตนเองผ่านระบบ Questionnaire ของ MOOCs เพื่อที่ผู้สอนในห้องเรียนจะได้นำข้อเสนอแนะและแบบประเมินไปปรับปรุงการสอนผ่านระบบ MOOCs ให้ดีขึ้น

MKT (2)-2

MOOCs คือจุดเปลี่ยนของโลกการศึกษาอย่างแท้จริงที่ผนวกไอเดีย และรูปแบบทางธุรกิจได้อย่างลงตัว ในเรื่องของรายได้ของ MOOCs นั้นไม่ต้องห่วง สถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมสอนแบบเสรีใน MOOCs ยังสามารถนำประกาศนียบัตร รับรองให้กับผู้เรียนผ่าน MOOCs ให้จ่ายเงินเพื่อเป็นสิ่งยืนยันการสำเร็จการศึกษาระยะสั้นได้

การทดลองที่น่าสนใจเกี่ยวกับ การใช้ MOOCs ประกอบการเรียน Course ระยะสั้น
ผู้เขียนได้ทดลองใช้ MOOCs ผ่าน Google Classroom ใน Course แบบเปิดกับกลุ่มทดลอง โดยอ้างอิงจากเนื้อหาในบทหนึ่งของศาสตราจารย์ Alex Pentland จาก MIT Media Lab หนังสือชื่อ “Social Physics” เกี่ยวกับรูปแบบของ Collective Intelligence (ปัญญาสะสม) และ Social Intelligence (ความฉลาดทางสังคม) ที่ไปในทางเดียวกันจากการทดลองในหนังสือมาประยุกต์ใช้กับโครงงานใน MOOCs
Collective Intelligence – ปัญญาสะสม ในบริบทของกลุ่มสถาบันการศึกษาหรือกลุ่มของโรงเรียนแล้ว CI หรือ “ปัญญาสะสม” (ผศ.ดร.วิวัฒน์ มีสุวรรณ์) คือความคิดที่เกิดจากการรวมตัวแลกเปลี่ยน และนำเสนอไอเดีย หรือความรู้ของนักเรียน หรือบุคคลในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหลายๆ คนมารวมไว้เป็นฐานความรู้ส่วนกลาง เพื่อปัญญาเหล่านั้นจะเกิดการสะสมเป็นความรู้ที่มากขึ้นให้เราได้นำไปใช้แก้ปัญหาบางอย่าง

Social Intelligence – ความฉลาดทางสังคม ความสามารถในการเข้ากับคนอื่นได้ดีและทำให้คนอื่นให้ความร่วมมือ มีองค์ประกอบ 5 ประการ

  1. รู้สถานการณ์ (Situational Awareness) ฉลาดในการหยั่งรู้สถานการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นอยู่ในขณะนั้น
  2. การแสดงออก (Presence) ขยายความเชิง ฉลาดพูด แสดงท่าทางที่ดูน่าเชื่อถือในภาวะที่เหมาะสม
  3. ความจริงใจ (Authenticity) การเปิดเผยในแง่ของความตรงไปตรงมา หรือซื่อสัตย์
  4. ความชัดเจน (Clarity) สามารถอธิบายความคิด ด้วยเหตุผลที่ตรงประเด็น และมีจุดยืน
  5. ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ภาวะของความฉลาดในเชิงเข้าอกเข้าใจคนอื่น หรือสมาชิกในกลุ่ม

จะเห็นว่า Collective Intelligence และ Social Intelligence เป็นอะไรที่แตกต่างกันคนละเรื่อง Collective Intelligence เป็นเรื่องของผลลัพธ์ที่ได้มาซึ่งปัญญา แนวทางหรือการแก้ปัญหา ส่วน Social Intelligence นั้นคือ คุณสมบัติที่คนคนหนึ่งควรจะมี ดังนั้น Collective Intelligence และ Social Intelligence ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกันเลยแม้แต่น้อยถ้าหากมองดูแบบผิวเผิน

การทดลองเป็นการแบ่งกลุ่ม 4 กลุ่ม ผ่านระบบออนไลน์ใน MOOCs โดยมีกลุ่มย่อยสำหรับพูดคุยกัน โดยให้ใช้วิเคราะห์ และวิจารณ์ กลไกของเกม ที่ปรากฏในรูปแบบเกมที่กำหนดให้ผู้เรียนได้ทดลองเล่น และตัวอย่างทฤษฏีของ Characteristic ของผู้เล่นเกมออนไลน์ ให้ผู้เรียนได้แบ่งกลุ่มไปวิจัยและนำเสนอผ่านสื่อใหม่ เช่น Videos, Blog หรือ Google Slide ภายในระยะเวลาที่กำหนด  และตลอดช่วงเวลาที่ดำเนินการเรียนการสอนผ่าน MOOCs นั้นสามารถเข้ามาทิ้งข้อความหรือตั้งหัวข้อสอบถามผ่านระบบ Discussion Online ของ MOOCs ได้ตลอด

ก่อนจะมีการนำเสนอในคาบเรียนสุดท้าย ช่วงเวลาที่มีการปฏิบัติโครงงานใน Assignment ของระบบ MOOCs ได้วิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเรียนผ่าน MOOCs นั้นได้ประสิทธิภาพที่สูงกว่าการเรียนแบบเดิมในเชิง Progressive หรือเชิงก้าวหน้า แต่ข้อด้อยคือ ผู้เรียนอาจจะยึดติดกับเครื่องมือ หรือทฤษฏีที่ปรากฏในระบบมากกว่าการ ประยุกต์ใช้เครื่องมือจริงภายนอกบทเรียน อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ได้มานั้นกลับเป็นไปตามทฤษฏีของ Alex Pentland นั่นคือค่า Social Intelligence ของผู้เรียนทุกคนเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้การนำเสนอและการออกความเห็นสูงกว่าการเรียนในห้องเรียน อาจจะเพราะรูปแบบของปัจจัยการไม่ประชันหน้าระหว่างผู้เรียน และผู้สอน ประกอบกับสถานการณ์ในห้องเรียนไม่อำนวยให้ผู้เรียนหยิบใช้เทคโนโลยีมาช่วยได้ตลอดเวลา แตกต่างกับ MOOCs ที่ผู้เรียนสามารถค้นหาได้ (ส่วนนี้เป็นแค่ผลลัพธ์ของกลุ่มตัวอย่าง เพราะในบางทีผู้เรียนอาจจะไม่ตั้งใจเรียน และเล่นเกมออนไลน์แทนการเรียนได้ ขึ้นอยู่กับความน่าสนใจของบทเรียน และตัวงานที่สั่ง Assign ไว้ในระบบ)

โดยผลลัพธ์คือ คนที่มี Social Intelligence ที่สูงจะมีผลต่อการโน้มน้าวการตัดสินใจของคนอื่นๆ ได้ ซึ่งจะมีผลต่อ Collective Intelligence ที่เพิ่มเติมสูงขึ้นได้ จากผลลัพธ์ของการใช้ MOOCs วัดผลตัวนี้เราสามารถนำมาใช้กับการวางตัวผู้เล่นในการจัดกลุ่มของผู้เรียน หรือนักศึกษาของเราโดยการวางกลุ่มเด็กที่มีผลการเรียนค่อนข้างปานกลางไปถึงน้อย 4 คน 3 กลุ่ม แล้วนำเด็กที่มีผลการเรียนดี 6 คน กระจายลงไปกลุ่มละ 2 คน ให้เล่นเกม Puzzle Based (Game Based Learning) เพื่อหาปัญหาสะสมในการแก้ปัญหา จากเดิมที่มีการเก็บข้อมูล การแก้ปัญหาของเด็กที่ตั้งกลุ่มกันเอง ใช้เวลาในการแก้ปัญหาเฉลี่ยกลุ่มละ 35 นาที เมื่อมีการกระจายตัวผู้เล่นหลัก 6 คน กระจายลงไปกลุ่มละ 2 คน ระยะเวลาในการแก้ปัญหาเฉลี่ยนอยู่ที่ 17 นาที โดยการแก้ปัญหาเกิดจากการสร้างความอุ่นใจของกลุ่มจากผู้เล่นหลัก สมาชิกก็เกิดความมั่นใจและทบทวนวิธีการ และขอนำเสนอแนวทางเพิ่มเติมเข้ามา

สรุป
ระบบ MOOCs นั้นเป็นการเรียนระยะสั้นที่ช่วยเหลือในเรื่องของบทเรียนที่สนใจแบบเฉพาะด้าน อีกทั้งยังช่วยเหลือในเรื่องของแบรนด์ของสถาบันการศึกษาให้เกิดเป็นชื่อเสียงต่อคนที่สนใจในเรื่องความโดดเด่นของวิชาเฉพาะที่สอนผ่านระบบ MOOCs ทั้งยังเพิ่มความยืดหยุ่น และเปิดตลาดใหม่ในเรื่องของการพัฒนาบุคคลากรในสายอาชีพเพิ่มเติมได้นอกเหนือจากนักเรียน หรือนักศึกษาในสถาบันการศึกษา

นับว่า MOOCs คือจุดเปลี่ยนของโลกการศึกษาอย่างแท้จริงที่ผนวกไอเดีย และรูปแบบทางธุรกิจได้อย่างลงตัว ในเรื่องของรายได้ของ MOOCs นั้นไม่ต้องห่วง สถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมสอนแบบเสรีใน MOOCs ยังสามารถนำประกาศนียบัตร รับรองให้กับผู้เรียนผ่าน MOOCs ให้จ่ายเงินเพื่อเป็นสิ่งยืนยันการสำเร็จการศึกษาระยะสั้นได้ ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าสถาบันที่จะเข้าร่วม หรือใช้ MOOCs นั้นจะออกแบบการสอนยังไงให้เกิดเป็นการสร้างชื่อเสียงสถาบัน และสร้างรายได้จาก MOOCs ให้ได้

โลกของการศึกษา และโลกของธุรกิจกลายเป็นเรื่องที่ต้องไปด้วยกันเสียแล้วนี่สิครับ

You may be interested in

Latest post from Facebook

Related Posts

รู้จัก และเข้าถึงผู้บริโภคด้วยตัวช่วย Marketing Technology

การตลาดในยุคนี้ เรียกว่าผู้ให้บริการหลายรายเลือกใช้เครื่องมือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ ในการวิเคราะห์ จัดการ และหาแหล่งข้อมูล ซึ่งทำให้กลุ่ม marketing technology (MarTech) เติบโตขึ้นเป็นจำนวนมาก ประเภทของ Marketing Technology...