
ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA
เชียงใหม่เป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องในโครงการ Smart City โดยเน้นเรื่องการส่งเสริมเกษตรกรรม การท่องเที่ยว และปัญหาเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ ให้ผู้ใช้งานได้เริ่มเรียนรู้และต่อยอดไปสู่การใช้งานจริง
โครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ Smart City เป็นโครงการที่รัฐบาลจัดทำซึ่งมีการนำร่องแล้วในจังหวัดภูเก็ต ตามมาด้วย
เชียงใหม่ และขอนแก่น ที่เป็นหัวเมืองใหญ่ก่อนต่อยอดไปยังจังหวัดอื่นๆ ใกล้เคียงในอนาคต
ภาครัฐส่งเสริมการทำงานแบบดิจิทัล ภายใต้แนวคิด “กินดี อยู่ดี มีสุข”
ในปีที่ผ่านมาสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เดิมได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโครงการ Smart City จังหวัดภูเก็ต เพื่อรองรับนักลงทุนในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนครอบคลุม 8 แผนงาน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และเปิดศูนย์ Innovation Park สถานที่ส่งเสริมพัฒนานวัตกรรม สำหรับในปีนี้ได้พัฒนาโครงการสู่พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำเทคโนโลยีเข้าถึงพื้นที่ชนบทมากยิ่งขึ้น

แผน Chiang Mai Smart City
ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA กล่าวว่า โครงการ Chiang Mai Smart City ขณะนี้อยู่ในช่วงการนำเสนอแผนยุทธศาสตร์โครงการฯ ภายใต้แนวคิด ”กินดี อยู่ดี มีสุข” ต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และยังคงมีการจัด Innovation Park ในพื้นที่เพื่อเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาฝึกฝนจนสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ และช่วยจับคู่ธุรกิจ รวมไปถึงพาผู้ประกอบการไปหา Venture Capital (VC) อีกด้วย
ในส่วนการดำเนินโครงการ Smart City ของจังหวัดเชียงใหม่ จะแตกต่างออกไปจากจังหวัดอื่น โดยเชียงใหม่มีวิสัยทัศน์ที่ว่าทำอย่างไรให้ Digital Economy มีประโยชน์ต่อภาคประชาชน นักท่องเที่ยวหรือคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย
ดังนั้นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดเชียงใหม่จะเน้น 5 ยุทธศาสตร์ ตามแนวคิดว่า ทำอย่างไรให้กินดีอยู่ดีมีสุข ซึ่งการกินดีที่ว่านั้น ต้องทำให้เป็น Smart Economy, Smart Tourism และ Smart Agriculture แต่ยังไม่ทิ้งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตในรูปแบบล้านนา
“สำหรับตอนนี้เรามีการจัดตั้งศูนย์บริการ One Stop Service ไว้ที่ห้างสรรพสินค้า พรอมเมนาดา รีสอร์ทมอลล์ เพื่อรองรับผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ และ SMEs ในพื้นที่ให้สามารถใช้บริการทางด้านดิจิทัลอย่างครบวงจร เช่น คลินิกซอฟต์แวร์ ที่มีผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูล ห้อง Show Case Software รวมไปถึงการให้บริการ Co-Working Space ระบบกล้อง Full dome 360 องศา สำหรับเป็นที่แสดง Animation 3D, Game, e-Learning, VR เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทางด้าน Digital Content ทุกคนได้มีพื้นที่พัฒนาผลงานและหาที่ปรึกษาเพื่อต่อยอดอย่างมีประสิทธิภาพ”

โครงการ ออน ไอที วัลเลย์ (Oon IT Valley) คอมมูนิตี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างสรรค์แนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ สร้างศักยภาพด้านการแข่งขันให้ SMEs Startup
เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่ออนาคต
นอกจากภาครัฐแล้ว เอกชนก็ยังเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เกิด Smart City ได้ โดยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีโครงการ ออน ไอที วัลเลย์ (Oon IT Valley) คอมมูนิตี้ จัดตั้งขึ้น เพื่อสร้างสรรค์แนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ สร้างศักยภาพด้านการแข่งขันให้ SMEs Startup โดยมุ่งมั่นให้เป็นศูนย์รวมแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีด้านไอที เพื่อให้เกิดการจ้างงานสร้างโอกาส และสร้างสังคมตามแนวคิดร่วมแรงและแบ่งปัน
วิโรจน์ เย็นสวัสดิ์ กรรมการบริหาร บริษัท โปรซอฟท์ คอมเทค จำกัด ผู้ก่อตั้งออน ไอที วัลเลย์ (Oon IT Valley) กล่าวว่า คนเราทุกคนต้องการโอกาส ซึ่งถ้าเราสามารถสร้างโอกาสให้กับเกษตรกร, SMEs, Startup และผู้ด้อยโอกาส แล้วสังคมก็จะน่าอยู่มากขึ้น ด้วยความตั้งใจ และความร่วมมือของสมาชิกที่มีอุดมการณ์เดียวกัน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน จึงเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้นมา ซึ่งภายในโครงการแบ่งออกเป็นหน่วยงานต่างๆ ดังนี้
1. ศูนย์พัฒนาขีดความสามารถสู่ความเป็นเลิศ SMEs, IT Outsourcing (ITO), IT for SMEs, IT for Agriculture, โครงการ Creative Office บนพื้นที่ 1,500 ตารางเมตร
2. กลุ่มสร้างสรรค์เศรษฐกิจนวัตกรรม ประกอบไปด้วยหน่วยงานย่อยคือ ท่องเที่ยววิถีล้านนา อำเภอแม่ออน สืบสานวิถีชีวิตและวัฒนธรรมล้านนา ศูนย์กระจายสินค้าเพื่อเป็นแหล่งเชื่อมโยงธุรกิจ ศูนย์สร้างคุณค่าชีวิตสูงวัย
3. กลุ่มพัฒนาเกษตรนวัตกรรม ประกอบไปด้วยหน่วยงานย่อย อาทิ กลุ่มผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ กลุ่มผู้ปลูกผักปลอดสารพิษ กลุ่มผู้ปลูกกล้วยหอม และกลุ่มพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร
4. Co-Working Space ซึ่งอยู่ในพื้นที่ออน ไอที วัลเลย์ จะเป็นสถานที่ทำงานแห่งใหม่ใกล้ชิดธรรมชาติและขุนเขา เพื่อสร้าง Startup รุ่นใหม่ๆ และอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่ม Startup เดิม
นอกจากนี้ ภายในโครงการจะมีในส่วนของ Dutch Farm (ดัชฟาร์ม) แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอำเภอแม่ออน ซึ่งผู้เข้ามาในออน ไอที วัลเลย์ และนักท่องเที่ยว จะได้สัมผัสกับสัตว์นานาชนิดอย่างใกล้ชิด รวมถึงมีร้านค้าชุมชนจำหน่ายสินค้าเกษตรแปรรูปอินทรีย์ โดยใช้คอนเซ็ปต์แหล่งชุมชนพึ่งตนเองได้

การทำงานระบบ THAILAND I Love U
เราจะเปิดพื้นที่ให้บริการประชาชนแล้ว การทำงานของออน ไอที วัลเลย์ ก็มีการร่วมมือกับสถาบันการศึกษา อาทิ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่เริ่มพัฒนาเครื่องมือดิจิทัลสำหรับเกษตรแผนใหม่ เครื่องวัดน้ำระบบจ่ายน้ำแบบดิจิทัล การใช้โดรนเพื่อการเกษตร และโครงการแอพฯ ด้านโลจิสติกส์ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งการร่วมมือสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เหล่านี้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดกำลังคนในการทำงานลงไปได้
ส่งเสริม SMEs ให้ใช้เทคโนโลยี เพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจมากขึ้น
แน่นอนว่า การก้าวเข้าสู่ Smart City หนึ่งส่วนประกอบที่สำคัญคือ ทางด้านการทำธุรกิจ เพื่อสอดคล้องกับนโยบายของทางรัฐบาล ซึ่ง SIPA จึงได้ดำเนินการโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (Entrepreneur Total Digital Services) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้
![]() |
ฉบับที่ 219 เดือนมีนาคมยุค IoT ของพลเมืองสูงวัย
|
ชัยณรงค์ ฉัตรรัตนวารี สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล มีวัตถุประสงค์สำคัญในการมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน SMEs และ OTOP สามารถเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีได้ ทั้งในภาคการค้าขาย (Digital Commerce) และการใช้ซอฟต์แวร์เพื่อการบริหารจัดการ (ERP for SMEs) โดยรูปแบบในการดำเนินกิจกรรมคือ การอบรมวิทยากรอาสาในพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัด เพื่อให้ได้กลุ่มวิทยากรอาสามีความพร้อมในการช่วยเหลือ และสามารถถ่ายทอดความรู้ รวมถึงเทคโนโลยีให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน SMEs และ OTOP ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถ ใช้งานการค้าผ่านโลกออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง

ชัยณรงค์ ฉัตรรัตนวารี สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผู้รับผิดชอบโครงการฯ
นอกจากวิทยากรแล้ว ยังมีการสร้างเครื่องมือเพื่อผลักดันศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถขายของบนโลกออนไลน์ได้ โดยเครื่องมือประกอบด้วย ระบบ Channel Management System (CMS) ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเรียนรู้การอัพโหลดสินค้าของตนไปวางขายบน E-Marketplace ซึ่งเพียงการอัพโหลดหรือแก้ไขแค่ครั้งเดียว จะนำข้อมูลไปสู่ทุกแพลตฟอร์ม อาทิ Lnwshop, AIS E-Marketplace เป็นต้น
“ทั้งนี้ จะนำร้านค้าต่างๆ เข้าสู่ระบบ THAILAND I Love U ที่ต่อยอดมาจาก Chiangmai I Love U เป็นระบบที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการขายผลิตภัณฑ์ เพียงแค่ปักหมุดสถานที่บนแผนที่ดิจิทัล และสร้าง Template Website เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของตนได้ และสร้างกลุ่มคอนเทนต์ที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยว โดยโครงการมีแผนที่จะปักหมุดสถานที่กว่า 50,000 จุด ใน 10 จังหวัดเป้าหมาย โดยระบบ THAILAND I Love U จะช่วยให้นักท่องเที่ยวเลือกจัดทริปง่ายๆ และสามารถค้นหาสถานที่ได้ด้วยตัวเอง”