LINE ประเทศไทย นำแนวคิด “LINE Beyond Chat” ผ่าน 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ เกม คอนเทนต์องค์กร อีคอมเมิร์ซ และเพย์เมนต์ พร้อมผันตัวให้ผู้ใช้งานทั่วไปและองค์กรธุรกิจ โดยจะสามารถใช้บริการต่างๆ บน LINE ที่เดียว

มงคล อุณหอิสริยกุล ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายธุรกิจอีคอมเมิร์ช, นาม โด ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจองค์กร, ฐิรวิชญ์ ธนผดุงเกียรติ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจเกม, อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ, พัลภา มาโนช ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ และ ประภากร ลิปิกรณ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ LINE Pay
คนไทยใช้ LINE หนักมาก
จากการจัดอันดับ Brand Index ของ YouGov พบว่า LINE เป็นแบรนด์อันดับ 2 จากทั้งหมด 250 แบรนด์ที่ได้รับการกล่าวถึงในทางบวกมากที่สุดในไทย โดยที่ LINE ประเทศไทย มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากประเทศญี่ปุ่น โดย อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2015 ที่ผ่านมา LINE มีรายได้จากทั่วโลกกว่า 1 พันล้านเหรียญ และมีอัตราการเติบโตกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ โดยมีธุรกิจหลักที่ทำรายได้ 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจเกม (LINE Game), ธุรกิจองค์กร (Official Account), Stickers (Corporate) และธุรกิจคอนเทนต์ (LINE TV, Stickers) เป็นต้น
โดยปัจจุบัน LINE ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 33 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 83 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้โมบายล์อินเทอร์เน็ตในไทย ขณะที่พฤติกรรมของผู้ใช้บริการ LINE ในไทย เมื่อเปรียบเทียบกับ Global จะพบว่า (สถิติ) ผู้ใช้งานไลน์ในไทยมีการใช้งานเฉลี่ยวันละ 84 นาที อีกทั้งมีการรับข้อความมากกว่าประเทศอื่นๆ ถึง 52 เปอร์เซ็นต์ มีการรับรูปภาพ 114 เปอร์เซ็นต์ วิดีโอ 85 เปอร์เซ็นต์ และสติ๊กเกอร์ถึง 52 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตัวเลขทั้งหมดนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยใช้ LINE กันมาก
![]() |
ฉบับที่ 207 เดือนมีนาคมแพลตฟอร์มต่อไปของอีคอมเมิร์ซ |
การมาของ 4G และตลาดสตรีมมิ่งที่น่าจับตามอง
นอกจากการเป็นแอพฯ แชตแล้ว LINE ยังมีธุรกิจอื่นๆ 5 กลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจเกม (LINE GAME), ธุรกิจคอนเทนต์ (LINE TV, LINE MUSIC), ธุรกิจองค์กร (LINE Official Account, LINE@), ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (LINE Giftshop) และธุรกิจเพย์เมนต์ (LINE Pay) ซึ่งในปีนี้ LINE มองว่า กลุ่มธุรกิจเกม ซึ่งถือเป็นธุรกิจใหญ่กลุ่มหนึ่งของไลน์ จะยังคงไปได้ดี เนื่องจากไทยเป็นตลาดเกมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขณะที่ธุรกิจที่น่าจะเติบโตได้ดีและสามารถสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นคือ LINE TV เนื่องจากมีปัจจัยที่ไทยมีตลาดวิดีโอที่ค่อนข้างใหญ่ โดยอริยะมองว่า LINE TV นั้นมีจุดยืนที่ชัดเจน และจากการเปิดตัวในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีการตอบรับที่ดีจากผู้ชม รวมถึงพาร์ตเนอร์ และการเพิ่มจำนวนของคอนเทนต์พาร์ตเนอร์ ผ่านจุดขายด้านคอนเทนต์คุณภาพและเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์
“ตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งในปีนี้ค่อนข้างจะคึกคัก เนื่องจากไทยเป็นตลาดวิดีโอที่ใหญ่ อีกทั้งผู้บริโภคยังมีความต้องการสูง เนื่องจากยังไม่มีแพลตฟอร์มใดสามารถตอบโจทย์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาดูวิดีโอผ่านจอเล็กมากขึ้น อีกทั้งยังต้องการชมรายการทีวีอย่างรวดเร็ว บวกกับความต้องการคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ทำให้ LINE TV มีจุดขายที่การผลิตเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์ ผ่านความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในลักษณะ Co-Production เช่น ซีรี่ส์แก๊สโซฮัก รักเต็มถัง ที่สามารถรับชมผ่าน LINE TV ที่เดียว รวมไปถึงคอนเทนต์อื่นๆ ที่สามารถรับชมผ่าน LINE TV ได้เพียงที่เดียวหรือสามารถรับชมได้ก่อนใคร เพื่อลดช่องว่างความต้องการดังกล่าว” อริยะ กล่าว
เราพัฒนาบริการ LINE@ ขึ้น เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ SMEs ควรใช้ โดยขณะนี้ยังไม่ได้เปิดตัว LINE@ อย่างเป็นทางการ แต่มีจำนวนผู้ใช้งานแล้วหลักแสนราย
เผย 4 เทรนด์ดิจิทัลปี 2016
สำหรับเทรนด์ดิจิทัลใหม่ที่จะมาแรงในประเทศไทยในปีนี้ อริยะ มองว่า 4 เทรนด์ที่ยังควรจับตามองในปีนี้ ได้แก่
1. Mobile First ซึ่งประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้โมบายล์อินเทอร์เน็ตมากกว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์ โดยเชื่อว่าหลังการเข้ามาของ 4G ในปีนี้ จะส่งผลให้อัตราการเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้ใช้งานถึง 50 ล้านราย ซึ่งเพิ่มจาก 40 ล้านรายในปีที่ผ่านมา และส่งผลดีกับทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไม่เพียงแต่ฝั่งผู้ให้บริการเครือข่ายเท่านั้น
2. จอมือถือจะกลายเป็นจอทีวีและเป็นจอหลัก โดยจากการสำรวจพบว่า เนื้อหาวิดีโอที่ผู้บริโภคชมในโลกออนไลน์มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ คือเนื้อหาที่มาจากทีวี โดยเชื่อว่าจะเห็นผู้บริโภคหันมาดูทีวีผ่านจอเล็กมากขึ้น แต่ทั้งนี้การชมผ่านหน้าจอทีวีก็ยังไม่หายไปไหน
3. E-Commerce จะเปลี่ยนเป็น M-commerce ซึ่งต่อเนื่องจากเทรนด์ Mobile First ข้างต้น โดยพบว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของการซื้อสินขายออนไลน์นั้นมาจากมือถือ ขณะที่เทรนด์ Social Commerce เป็นอีกเทรนด์ที่น่าสนใจ ที่ว่าขณะนี้จะยังไม่ทราบว่ามีขนาดตลาดเท่าไร แต่จะเห็นพฤติกรรมของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าต่างๆ ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของโมบายล์แบงกิ้งจะสูงถึง 33 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้อีกด้วย
ส่วนเทรนด์สุดท้ายที่เชื่อว่าจะเริ่มเห็นในปีนี้มากขึ้นคือ อนาคตของแอพพลิเคชั่น ที่เรียกว่า App within an App หรือที่เรียกกันว่าบริการ O2O Service ซึ่งเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจจากออนไลน์สู่ออฟไลน์ โดยใช้สื่อออนไลน์เป็นตัวผลักดันให้เกิดยอดขายทางออฟไลน์ อย่างเช่น บริการของ Uber, Grab, Lalamove เป็นต้น
นำแนวคิด LINE Beyond Chat เป็นมากกว่าแอพฯ แชต
อริยะ ยังเผยต่อว่า สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจของ LINE ในปีนี้ ต้องการทำให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบันจะพบปัญหา App overload ที่คนส่วนใหญ่จะดาวน์โหลดแอพฯ บนเครื่องเฉลี่ย 39 แอพฯ แต่ใช้งานจริงเพียง 17 แอพฯ เท่านั้น ดังนั้น LINE จึงต้องการรวบรวมบริการและแอพพลิเคชั่นที่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันมาไว้บนแอพฯ LINE ที่เดียว ซึ่งนอกจาก 5 กลุ่มธุรกิจหลักที่กล่าวมาแล้ว LINE จะมีการพัฒนาบริการใหม่ในรูปแบบของ Apps in App หรือ O2O Service ที่จะได้เห็นกันในปีนี้ ผ่าน 3 รูปแบบคือ
- นำบริการ LINE TV, LINE Music, LINE Gift Shopและ Line Game เข้าสู่ฐานผู้ใช้งานมากขึ้น
- พัฒนาบริการใหม่ๆ โดยทีมงานไทย สำหรับผู้บริโภคไทย
- การร่วมมือกับสตาร์ทอัพนำบริการเชื่อมต่อกับLINE เพื่อนำบริการเข้าสู่ฐานผู้ใช้ และเพื่อเป็นการสนับสนุนสตาร์ทอัพไทย
ทั้งนี้ ในการพัฒนาบริการใหม่ของ LINE อาจมาในลักษณะ เช่น การพัฒนาการสนทนาในรูปแบบ Bot Translate ซึ่งเป็นการแปลภาษาในแบบเรียลไทม์ หรือความร่วมมือกันระหว่าง LINE ประเทศอินโดนีเซีย และแอพพลิเคชั่น Go-jek ให้ผู้ใช้งาน LINE สามารถเรียกรถจักรยานยนต์ผ่านแอพพลิเคชั่น LINE ได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องโหลดแอพฯ Go-jek เป็นต้น
นอกจากนี้ LINE จะเข้าไปตอบโจทย์ในสิ่งที่ธุรกิจสนใจ ด้วยการผันตนเองเป็นแพลตฟอร์มระหว่างผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นบริการ Official Account (OA) สำหรับกลุ่มลูกค้าองค์กร ในการขยายโอกาสทางธุรกิจ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถกำหนดเป้าหมาย สร้างการมีส่วนร่วม รวมถึงการสื่อสารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีบริการ Business Connect ที่จะเปิดระบบของ LINE ให้องค์กรธุรกิจสามารถพัฒนาบริการใหม่บนแพลตฟอร์มของ LINE ได้ ผ่านฟีเจอร์ Pay by Official Account เช่น ลูกค้ากลุ่มธนาคาร สามารถให้ผู้ใช้ทำธุรกรรมการเงินผ่าน Official Account ได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำบริการผ่านแอพฯ หรือตู้เอทีเอ็ม
ด้านผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SMEs ที่มีจำนวนกว่า 2.8 ล้านรายในไทย และส่วนใหญ่ที่ยังอยู่บนออฟไลน์ มีบริการ LINE@ ซึ่งเป็น SMEs Solution ของ LINE ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถบริหารธุรกิจและจัดการลูกค้าได้ง่ายขึ้น ด้วยต้นทุนที่สามารถกำหนดได้ โดยจะมีการเก็บค่าบริการในช่วงเดือนเมษายนนี้ หลังจากที่มีการเปิดให้ใช้งานฟรีในช่วงที่ผ่านมา
“ผู้ประกอบการรายย่อยยังขาดความรู้และความเข้าใจด้านดิจิทัล อีกทั้งยังขาดบุคลากร และมีงบประมาณในการทำการตลาดที่ค่อนข้างจำกัด จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราพัฒนาบริการ LINE@ ขึ้น เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ SMEs ควรใช้ โดยขณะนี้ยังไม่ได้เปิดตัว LINE@ อย่างเป็นทางการ แต่มีจำนวนผู้ใช้งานแล้วหลักแสนราย ทั้งนี้คาดว่าหลังจากที่เปิดตัวจะเห็นข้อมูลส่วนผู้ใช้งานที่ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้คาดว่าหลังจากที่มีการเก็บค่าบริการอาจส่งผลให้จำนวนผู้ใช้งานลดลง เนื่องจากมีบางกลุ่มที่ใช้งานเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ติดตาม แต่ไม่ได้ทำเพื่อธุรกิจ” อริยะ กล่าว
อย่างไรก็ตาม อริยะ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะที่ LINE ประเทศไทยถือเป็นตลาดอันดับ 2 ของ LINE จึงอยากทำให้เกิดความพิเศษขึ้น นอกจากการทำให้ LINE เป็นมากกว่าแอพฯ แชตแล้ว ยังได้ตั้งเป้าให้ LINE ประเทศไทยเป็นผู้บุกเบิกบริการใหม่ๆ ซึ่งในอนาคตเราอาจได้เห็นบริการใหม่ที่เกิดขึ้นจาก LINE ประเทศไทย และขยายการใช้งานไปยังผู้ใช้งานประเทศอื่นๆ เกิดขึ้นต่อไป