วิธีการทำงานของเกษตรกรในปัจจุบัน เริ่มมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทุ่นแรงมากขึ้น แต่ก็อาจจะได้แค่บางส่วนเท่านั้น โดยเฉพาะกับพืชผักบางชนิดที่ต้องใช้การดูแลหลายอย่าง หลายขั้นตอน ก็ยังไม่สามารถที่จะใช้เครื่องอัตโนมัติเข้ามาช่วยได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็ช่วยลดการทำงานให้ผู้ใช้งานได้ในระดับหนึ่ง
Perfect KINOKO เครื่องรดน้ำเห็ดอัตโนมัติควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ผลงานของ ภริตพร เฮียงฮะกุล, วณิชยา แก้วอินทร์, อารยา สมจิตต์ และเดชาพล เลิศสุรัตน์ จากโรงเรียนชลกันยานุกูล เป็นหนึ่งในผลงานของนักเรียนที่น่าสนใจและสามารถช่วยลดเวลาการทำงานของเกษตรกรได้ ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศประเภท Secondary Student Project หมวดซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดยนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จากเวที TICTA2016 และ APICTA2016 มาการันตี
ลดขั้นตอนการเพาะเห็ด เพิ่มเวลาว่างให้ผู้ใช้งาน
ปัจจุบันผู้คนนิยมบริโภคเห็ดมากขึ้น จากกระแสการรักสุขภาพ เนื่องจากเห็ดมีคุณค่าทางสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เกษตรกรและผู้ที่สนใจหารายได้เสริม จึงหันมาเพาะเห็ดมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
“การเพาะเห็ดมีหลายกระบวนการที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากต้องรดน้ำให้ได้อุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ด สำหรับบางคนจะใช้การรดน้ำวันละ3-4 ครั้ง ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองเวลาที่จะทำอย่างอื่น หรือบางคนใช้เทอร์มอมิเตอร์ในการวัดอุณหภูมิและรดน้ำจนอุณหภูมิอยู่ในช่วงที่เหมาะสม แต่ก็ยังไม่ทราบว่าความชื้นอยู่ในอุณหภูมิที่พอดีแล้วหรือไม่”
ด้วยเหตุนี้ ทำให้น้องๆ คิดพัฒนาโปรแกรมและอุปกรณ์ที่สามารถช่วยรดน้ำเห็ดให้ได้อุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ด “Perfect KINOK”
คุณสมบัติคือ มีโปรแกรมปรับอุณหภูมิและความชื้น จากการควบคุมปั๊มน้ำ และโปรแกรมควบคุมพัดลมระบายอากาศ เพื่อระบายความชื้นและระบายความร้อน และควบคุมการเปิด-ปิดไฟ เพื่อที่จะให้เส้นใยของเห็ดเจริญเติบโตได้ดีตลอดวัน
ศึกษาและทดลองใช้จริง เพื่อผลงานที่ครบวงจร
ช่วงเริ่มต้นการพัฒนา น้องๆ ได้ทำการหาข้อมูลจากหนังสือ อินเทอร์เน็ต และลงพื้นที่เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหากับเกษตรกรจริง และทำการเขียน Flow Chart และเขียนโค้ด สร้างตัวอุปกรณ์ โดยได้มีการทดสอบเครื่องและดูตำแหน่งที่จะนำไปติดตั้งในโรงเรือนจริง โดยเปรียบเทียบกับเครื่อง Timer และเก็บสถิติเป็นระยะเวลา 5 เดือน พร้อมกับเช็กความเสถียรของการทำงานของเครื่อง
![]() |
ฉบับที่ 217 เดือนมกราคมเรียนรู้ชีวิตดิจิทัล เยาวชน 4.0
|
คุณสมบัติของ Perfect KINOKO คือ มีโปรแกรมปรับอุณหภูมิและความชื้น จากการควบคุมปั๊มน้ำ เพื่อเพิ่มความชื้น ลดอุณหภูมิ และโปรแกรมควบคุมการจ่ายไฟการทำงานของพัดลมระบายอากาศ เพื่อระบายความชื้นและระบายความร้อนที่มีมากเกินไปให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ด และควบคุมการเปิด-ปิดไฟ เพื่อที่จะให้เส้นใยของเห็ดเจริญเติบโตได้ดีตลอดวัน
ขั้นตอนการติดตั้ง เพียงนำเครื่องไปติดตั้งไว้กลางโรงเรือน นำเซ็นเซอร์ไว้เหนือระดับเห็ดก้อนบนสุด เพื่อวัดอุณหภูมิและความชื้นส่งให้กับ Microcontroller ทำการประมวลผล ซึ่งเมื่ออุณหภูมิหรือความชื้นอยู่ในช่วงที่ไม่เหมาะสม รีเลย์จะจ่ายไฟให้เครื่องปั๊มน้ำทำงาน โดยน้ำจะรดจนกว่าอุณหภูมิและความชื้นอยู่ในช่วงที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ด
ในส่วนของแอพพลิเคชั่น ผู้ใช้งานสามารถเช็กอุณหภูมิและความชื้นภายในโรงเรือนได้ โดยที่สามารถเก็บข้อมูลและนำมาทำเป็นกราฟ เพื่อดูความสม่ำเสมอของอุณหภูมิและความชื้นภายในโรงเรือน พร้อมทั้งสามารถดูการทำงานต่างๆ ภายในโรงเรือนในขณะนั้นผ่านแอพฯ ได้อีกด้วย
สนับสนุนอาชีพด้วยนวัตกรรมใหม่
“Perfect KINOKO ให้ผลผลิตที่มากกว่าการใช้ตั้งเวลา (Timer) แบบเดิม ถึง 1.3 เท่า และผู้ใช้ยังเหลือเวลาจากการที่ไม่ต้องคอยรดน้ำเห็ดตลอดเวลาอีกด้วย ซึ่งทำให้ผู้ที่ต้องการหารายได้เสริมสามารถนำไปใช้ได้ และเกษตรกรที่ต้องการขยายพื้นที่ หรือต้องการลดแรงก็นำไปติดตั้งได้เช่นเดียวกัน”
ซึ่งกว่าจะได้ผลงานที่ทำงานได้แบบครบวงจรนี้ น้องๆ เล่าว่า อุปสรรคที่พบในช่วงแรกมีไม่น้อยเช่นกัน โดยการทำระบบจะเกี่ยวกับการปรับตั้งค่าอุณหภูมิและความชื้น เพื่อให้ได้ค่าที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ด และปัจจัยภายนอกในเรื่องของก้อนเห็ดและสภาพแวดล้อม เช่น โรงเรือนที่ได้ทดลองตั้งอยู่ในที่โล่งแจ้ง อากาศแปรปรวนค่อนข้างมาก แก้โดยการทำแนวกั้นลมเพื่อให้อากาศคงที่มากขึ้น ชั้นวางเห็ดเกิดราส้มเนื่องจากความชื้นของไม้ แก้โดยการใช้ปูนขาวโรย หรือเมื่อก้อนเห็ดเกิดราเขียวก็ต้องรีบกำจัดราเขียวออก ทำให้ต้องหาวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันแอพฯ Perfect KINOKO อยู่ในช่วงพัฒนาเพิ่มเติม ให้สะดวกต่อการใช้งานของผู้ใช้ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเห็นการทำงานของเครื่อง และสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนเพาะเห็ดได้ตลอดเวลา ส่วนตัวเครื่องก็จะพัฒนาต่อไปเพื่อให้ผู้ใช้ได้ใช้งานอย่างสะดวกที่สุด เนื่องจากนี้ยังมีข้อจำกัดบางประการอย่างเช่นความยาวของสายเซ็นเซอร์ ซึ่งมีผลต่อการส่งข้อมูล
โดยน้องๆ ก็คาดว่า นวัตกรรมชิ้นนี้จะช่วยสนับสนุนวงการเกษตรให้เข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น และช่วยส่งเสริมการสร้างอาชีพให้กับผู้ที่ต้องการเพาะเห็ดขายได้อีกด้วย